สถิติบอกว่า ... ดอกเบี้ยขึ้นยาก ให้ระวังตลาดสิ้นสุดทางขึ้น!

สถิติบอกว่า ... ดอกเบี้ยขึ้นยาก ให้ระวังตลาดสิ้นสุดทางขึ้น!

รายงานจาก CME Group ถึงความน่าจะเป็นที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้

โอกาสลดลงไปเหลือเพียง 6.4% เท่านั้น ทั้งๆที่เมื่อเดือนธันวาคมปี 2018 ตลาดยังมองว่า เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง

และที่น่าสนใจขึ้นไปอีกก็คือ กลับมีนักลงทุนบางกลุ่มมองว่า ปี 2019 นี้ เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยด้วยซ้ำไป ซึ่งหลักฐานก็คือ Fed Watch Tools ของ CME Group บอกว่า ถึงสิ้นปีนี้ มีโอกาส 9.8% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยลงหนึ่งครั้งจากระดับปัจจุบันไปอยู่ที่ 2.00-2.25%

เพราะฉะนั้น เราคงต้องกลับมานั่งมองกันหน่อยว่า ทำไมตลาดถึงเปลี่ยนมุมมองต่อดอกเบี้ยเร็วขนาดนี้ เพื่อที่จะเข้าใจภาพกว้างได้ตรงตามความเป็นจริงมากขึ้นนะครับ

ประการแรก คณะกรรมการ FOMC มีการเปลี่ยนจุดยืนด้านนโยบายด้าน (Policy Stance) กล่าวคือ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ถ้อยแถลงของนายเจอโรม ดาวเวลา ประธานเฟ็ด ออกมาในทำนองว่า จะพิจารณาภาพรวมของเศรษฐกิจและการลงทุนมากขึ้น และพร้อมจะลดดอกเบี้ยหรือชะลอการปรับลดขนาดงบดุลลงหากมีความจำเป็น

ถึงแม้ว่า เฟดจะไม่ได้บอกกับเราชัดๆว่า สาเหตุที่เปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ก็พอจะเดาได้ว่า มีแรงกดดันทางการเมือง จากก่อนหน้านี้ที่ปธน.ทรัมป์มีการทวีตข้อมูลกดดันว่า ทิศทางการดำเนินนโยบายของเฟดกำลังทำลายความตั้งใจในการปกป้องการค้า เพราะทำให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้น ชดเชยการขึ้นภาษีทำให้ผลของกำแพงภาษีไม่ได้ทำให้สหรัฐฯได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างที่ตั้งใจ

ประการที่สอง ซึ่งเฟดเองก็ไม่ได้สื่อสารบอกกับตลาดตรงๆ ก็คือ เศรษฐกิจของสหรัฐฯในปี 2019 จะขยายตัวในอัตราที่ลดลง แต่สิ่งนี้คือสิ่งที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคิดเห็นตรงกัน รวมถึง IMF และ World Bank ที่มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจประเทศแกนหลักทั้งสหรัฐฯ, ยุโรป, ญี่ปุ่น และ จีน

ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้เริ่มชัดขึ้น เมื่อกลางเดือนก.พ. ที่ผ่านมา มีการประกาศตัวเลขยอดค้าปลีก ข้อมูลสิ้นสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2018

โดยตัวเลข Retail Sales ออกมาติดลบ -1.2% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2009 ทีเดียว ตัวเลขนี้มีความหมายตรงที่ โดยปกติแล้วในไตรมาส 4 ของทุกปีป จะเป็นฤดูการช็อปปิ้ง เพราะมีเทศกาลคริสมาส และปีใหม่ จึงทำให้ยอดค้าปลีกมักจะขยายตัวโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เมื่อชะลอตัวจนถึงขั้นติดลบ มันจึงเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่นักลงทุนจะเมินเสียมิได้

กลับไปดูสถิติย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 1992 จนถึงปัจจุบัน มีเหตุการที่ตัวเลข Retail Sales ติดลบเหมือนครั้งล่าสุดในเดือนธนะวาคม 2018 มาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง คือในปี 1999, ปี 2001 และปี 2009

ถ้าดูแค่ปีที่เกิดเหตุการณ์ Retail Sales ติดลบ นักลงทุนก็พอจะทราบว่า มันคือ ช่วงของการเกิดวิกฤตดอทคอม และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ โดยถึงแม้ครั้งแรกในตัวเลขนี้ติดลบในปี 1999 จะไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานลงในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นไม่เกิน 2 ปี โลกก็รู้จักกับ Dotcom Bubble นะครับ

ทำไมตัวเลข Retail Sales ตัวนี้ถึงสำคัญถึงขั้นทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯเกิดวิกฤตได้? จริงๆแล้วต้องบอกว่า การบริโภคที่ชะลอตัวมันเป็นผลพวกมาจากปัญหาอย่างอื่น แต่เมื่อไหร่ลุกลามมาถึงส่วนตรงนี้ของเศรษฐกิจ จะยิ่งอันตรายเพราะ เศรษฐกิจสหรัฐฯเอง สัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 มาจากการบริโภคภายในประเทศ จึงทำให้ตัวเลข Retail Sales นี้ เชื่อได้ว่าชี้วัดอนาคตของประเทศสหรัฐฯได้ไม่น้อยเลย

แล้วเรื่องนี้เกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ยของเฟด?

ง่ายมากครับ เพราะหากมีสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวลง ความจำเป็นที่เฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยก็ลดลงโดยปริยาย ดังนั้น ใครที่คิดว่า เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเพราะระดับปัจจุบันมันเหมาะสมแล้ว ก็ขอให้คิดใหม่นะครับ เพราะหากพิจารณาการขึ้นดอกเบี้ยในรอบอื่นๆในอดีต พบว่า รอบนี้ ขึ้นดอกเบี้ยได้น้อยกว่าเดิมค่อนข้างมาก อย่างปี 2000 ดอกเบี้ยทำจุดสุงสุดที่ 6.5% ขณะที่ปี 2007 ดอกเบี้ยทำจุดสูงสุด 5.25% ขณะที่ปัจจุบัน Fed Fund Rate อยู่ที่ 2.25% เท่านั้นเอง

อีกสถิติหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ การกลับไปดูความสัมพันธ์ของดอกเบี้ยกับ 5-year/5-year swap rate

สถิติบอกว่า ... ดอกเบี้ยขึ้นยาก ให้ระวังตลาดสิ้นสุดทางขึ้น!

จากตารางจะเห็นว่า เมื่อ Fed Fund Rate ขึ้นมาเท่ากับ 5-year/5-year swap rate เราพบว่า ดอกเบี้ยหยุดขึ้น และมีโอกาสปรับตัวลดลงหลังจากนั้นภายในไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า

ไม่ต้องถามต่อนะครับว่า ทุกครั้งที่ดอกเบี้ยปรับลดลงต่อเนื่อง กระทบอะไรกับตลาดหุ้น ….

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อมูลอีกชุดที่ผมพาผู้อ่านมามองพิจารณาประกอบ แน่นอนว่า เพียงข้อมูลชุดนี้ คงตัดสินไม่ได้ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวแล้วจริงๆ