“ตลาดหุ้น หลัง...เลือกตั้ง”
วันนี้... ที่คุณผู้อ่านกำลังอ่านบทความฉบับนี้อยู่ ก็นับเป็นเวลา 5 วันหลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว ซึ่งคงมีคุณผู้อ่านหลายท่านต้องการจะรู้ว่า
หลังจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ แนวโน้มของตลาดหุ้นบ้านเราจะเป็นอย่างไร? ผมเองได้พยายามหาข้อมูลสถิติเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทยหลังการเลือกตั้งแต่ละครั้งในอดีต แต่ก็พบข้อมูลน้อยมาก ดังนั้นในวันนี้ผมจึงขออนุญาตพาคุณผู้อ่านไปดูตลาดหุ้นสหรัฐหลังการเลือกตั้ง และดูแนวโน้มว่าจะมีโอกาสมากน้อยขนาดไหนหลังการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย ดังนี้ครับ
หนึ่ง อิทธิพลของ จอห์น เมนาร์ด เคนย์
คุณผู้อ่านหลายท่านคงรู้จักนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีชื่อก้องโลกนาม จอห์น เมนาร์ด เคนย์ (John Maynard Keynes) ในช่วงปี 1900 - 1950 การมองเศรษฐศาสตร์ของโลกใบนี้อยู่ในแนวความคิดเรื่องอุปสงค์และอุปทาน (Supply & Demand) เท่านั้น ต่อมาในปี 1936 เคนย์เป็นคนแรกที่นำเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจในระดับมหภาค (Macro Economic Theory) เขาให้มุมมองว่า นโยบายของรัฐบาลจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันเศรษฐกิจให้ผงาดขึ้นหรือดิ่งเหวลงได้ ช่วงปี 1960 ธนาคารกลางของสหรัฐก็ได้ดำเนินนโยบายการเงินตามหลักการของเคนย์ ทุกวันนี้... มหาวิทยาลัยทั่วโลกมีการศึกษางานและบทความต่างๆ ของเคนย์กันอย่างกว้างขวาง ดังนั้น เมื่อนโยบายของรัฐบาลจะมีผลต่อเศรษฐกิจ ผลการเลือกตั้งในแต่ละประเทศจึงมีผลต่อตลาดหุ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
สอง การศึกษาการเลือกตั้งกับดัชนี S&P 500
จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐกับดัชนี S&P 500 ระหว่างปี 1942 - 2002 พบว่า ตลอดระยะเวลาประมาณ 60 ปี หลังการเลือกตั้งจะพบว่า ถ้ารัฐบาลมีนโยบายและการดำเนินการที่ดีต่อเศรษฐกิจแล้ว จะส่งผลให้ดัชนี S&P 500 อยู่ในช่วงขาขึ้น (Bull Market) เป็นเวลานานถึง 3.08 ปีทีเดียว และค่าเฉลี่ยของการเติบโตของดัชนีในช่วงระยะเวลาขาขึ้นนี้จะเติบโตเฉลี่ยถึง 93% ทีเดียว แต่ถ้าหากรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นมีนโยบายและการดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลให้ดัชนีเข้าสู่ขาลง (Bear Market) ซึ่งผลร้ายจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดนี้เท่าที่ผ่านมาจะมีระยะเวลาเฉลี่ยยาวนานถึง 0.94 ปีทีเดียว และมีผลทำให้ดัชนีลดลงเฉลี่ยถึง -26.4%
สาม ในช่วงที่ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งอยู่ ตลาดหุ้นตกต่ำยาวนานขนาดไหน?
เมื่อนำข้อมูลต่างๆของดัชนี S&P 500 มาวิเคราะห์เพื่อหาช่วงระยะเวลาที่ตกต่ำของดัชนี S&P 500 พบว่า ดัชนีมักจะอยู่ในช่วงตกต่ำที่สุดหรือตกลงมามากที่สุด (Market Bottom ซึ่งนิยามโดยการที่ดัชนี S&P 500 ตกลงมามากกว่า 15% เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 6 เดือน) ระหว่างปี 1942 – 2002 คิดเป็นระยะเวลา 60 ปี และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งหมด 16 ครั้งพบว่า ดัชนีตกลงมาต่ำสุดในปีแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ครั้ง ตกลงมาต่ำสุดในปีที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งฯ มีอยู่ด้วยกันสูงถึง 12 ครั้ง และตกลงมาต่ำสุดในปีที่ 3 ของการดำรงตำแหน่งฯ มีเพียง 1 ครั้ง ที่น่าสังเกตมากที่สุดก็คือ ในปีที่ 4 ของการดำรงตำแหน่งซึ่งจะเป็นปีเลือกตั้งประธานาธิบดี ไม่เคยพบว่า ดัชนีจะเคยลงมาต่ำที่สุดในปีนั้นๆเลย และค่าเฉลี่ยของระยะเวลาที่ดัชนีตกลงมาต่ำที่สุดจะมีช่วงระยะเวลาอยู่ที่ 1.87 ปี
อย่างไรก็ตาม การศึกษายังพบอีกว่า มีอยู่ 3 ช่วงปีที่ดัชนี S&P 500 ตกลงมาอย่างยาวนานกว่าระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีหรือ 4 ปีเสียอีก ได้แก่ ช่วงปี 1946 – 1949 ช่วงปี 1982 – 1987 และช่วงปี 1994 – 1998 ใน 3 ช่วงปีที่กล่าวถึงนี้เป็นช่วงเวลาที่ดัชนี S&P 500 และเศรษฐกิจตกต่ำเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินกว่าจะนำมาวิเคราะห์ได้
สี่ รู้แล้ว...จะลงทุนอย่างไรดี?
การศึกษาได้ทดสอบโดยให้มีนักลงทุนอยู่ 2 คน คนที่หนึ่ง...ลงทุนด้วยเงิน 1,000 ดอลลาร์ ซื้อดัชนี S&P 500 โดยซื้อก่อนเวลาเลือกตั้งประธานาธิบดี 27 เดือน ( ตั้งแต่ 1 ตุลาคมของปีที่สอง ถือไป 27 เดือน จนถึง 31 ธันวาคมในปีที่สี่) ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ดีที่สุดของการลงทุน และขายทิ้งทั้งหมดสิ้นปีที่ 4 ของการดำรงตำแหน่ง ส่วนคนที่สอง...ลงทุนเท่ากัน 1,000 ดอลลาร์ ซื้อดัชนี S&P 500 ในช่วงเวลาที่ไม่ดีที่สุดนั่นคือ หลังดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 21 เดือน (ตั้งแต่ 1 มกราคมของปีแรกที่ดำรงตำแหน่ง ยาวไปถึง 30 กันยายนของปีที่สอง) ซึ่งตามสถิติเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีสำหรับการลงทุน
ระยะเวลาลงทุนระหว่างปี 1952 – 2000 พบว่า นักลงทุนคนที่ 1 ได้ผลตอบแทนเป็นบวกทุกช่วง 4 ปี เงินลงทุนจาก 1,000 ดอลลาร์ เติบโตเป็น 72,701 ดอลลาร์ตอนสิ้นอายุการลงทุน นักลงทุนคนที่ 2 ได้ผลตอบแทนเป็นบวกและเป็นลบทุกช่วง 4 ปี เงินลงทุน 1,000 ดอลลาร์ ขาดทุนและลดลงเหลือ 643 ดอลลาร์
ดังนั้น สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนในเวลานี้ก็คือ “การศึกษาหาความรู้ และลงทุนในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าอัศจรรย์” ทำให้นึกถึงคำพูดอดีตนักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังก้องโลก เบนจามิน แฟรงคลิน ที่เคยพูดไว้ว่า "An investment in knowledge pays the best interest." แปลตามความได้ว่า “การลงทุนในความรู้ จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด”
หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ www.doctorwe.com