จับตาการเพิ่มขึ้นของอำนาจตลาดในภาคธุรกิจ
แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอำนาจตลาดในภาคธุรกิจกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งนี้การศึกษาล่าสุดโดย IMF
พบว่า อำนาจตลาดของภาคธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก สะท้อนจาก 1) ส่วนแบ่งยอดขายของธุรกิจขนาดใหญ่ 2) อำนาจในการตั้งราคา (Mark up) หรือส่วนต่างระหว่างราคาและต้นทุนการผลิตหน่วยสุดท้าย และ 3) อัตรากำไร หรือสัดส่วนกำไรต่อยอดขาย ต่างปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
แม้ผลลัพธ์นี้จะพบในกลุ่มประเทศและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ แต่ก็มีข้อแตกต่างอยู่บ้าง โดยอำนาจตลาดปรับเพิ่มขึ้น ในประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ในภาคบริการมากกว่าภาคอุตสาหกรรม และในภาคธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเข้มข้น นอกจากนั้น ยังพบว่า บริษัทที่สามารถตั้งราคาสูงขึ้นได้มากจะกระจุกตัวกับ superstar เพียงไม่กี่รายในแต่ละสาขาธุรกิจ
เราต้องให้ความสำคัญกับแนวโน้มนี้ เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ว่า มันนำไปสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจมหภาคที่น่ากังวลใน 3 มิติ ได้แก่ 1) การลงทุนลดลง การลงทุนภาคเอกชนในประเทศพัฒนาแล้วลดลงกว่า 25% หลังวิกฤตการเงินโลก แม้ดอกเบี้ยจะต่ำและผลตอบแทนคาดการณ์การลงทุนค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจที่มีอำนาจตลาดสามารถเพิ่มกำไร โดยการตั้งราคาสินค้าสูงขึ้นและปรับปริมาณการผลิตลง จึงส่งผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ รวมทั้งกระทบต่อการค้าและการลงทุนของประเทศกำลังพัฒนาผ่านช่องทางห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศด้วย
2) การทำวิจัยปรับลดลง จริง ๆ แล้ว อำนาจตลาดระดับไม่สูงมากส่งผลให้ธุรกิจมีแรงจูงใจที่จะลงทุนในการวิจัยเพิ่มเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่อำนาจตลาดในระดับที่มากเกินไปกลับจะทำให้ธุรกิจให้ความสำคัญกับงานวิจัยน้อยลง เพราะสามารถอาศัยอำนาจเหนือตลาดในการจัดการกับการแข่งขันจากคู่แข่งได้ง่ายกว่า งานศึกษาโดย IMF พบว่า สัดส่วนของภาคธุรกิจที่มีอำนาจตลาดสูงเกินไปจนมีผลลบต่อการลงทุนในงานวิจัยในภาคธุรกิจนั้นๆ แม้จะยังไม่สูงมาก แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
3) รายได้กระจุกตัวมากขึ้น โดยสัดส่วนรายได้แรงงานเทียบกับ GDP ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วปรับลดลงต่อเนื่อง โดยมีหลายปัจจัยทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และอำนาจต่อรองค่าแรงที่ลดลงของแรงงาน แต่อำนาจตลาดของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นคำอธิบายส่วนหนึ่งเช่นกัน เพราะปริมาณการผลิตในภาพรวมที่ลดลง ขณะที่ราคาขายสูงขึ้นทำให้ค่าแรงที่แท้จริงของแรงงานลดลง นอกจากนี้ การที่ธุรกิจที่มีสัดส่วนของตลาดสูงขึ้นมักจะกระจุกตัวกับบริษัทที่เป็น superstar จำนวนไม่มากซึ่งมักจะใช้ทุนและเทคโนโลยีมากกว่าแรงงานในการผลิต ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้รายได้กระจุกตัวมากขึ้น โดยเปลี่ยนรูปแบบจากอดีต จากการที่ผู้บริหารเพียงไม่กี่คนในบริษัทส่วนใหญ่ได้ผลตอบแทนสูง มาเป็นผู้บริหารหรือแรงงานทักษะสูงส่วนใหญ่ในบริษัท superstar ที่ประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่บริษัทที่ได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนผลของ network effects จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ winners take most ที่รุนแรงขึ้น
สำหรับในกรณีไทย อีไอซีได้วิเคราะห์ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบสัญญาณของอำนาจตลาดในภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากสัดส่วนตลาดของยอดขายในบริษัทใหญ่ที่สุด 10 รายแรกในแต่ละสาขาธุรกิจ มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงปี 2009-2017 ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนสาขาธุรกิจทั้งหมด (ตามรูป) และพบว่า ภาคบริการมีการกระจุกตัวของสัดส่วนตลาดเพิ่มขึ้นในอัตราสูง เช่น ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร (เพิ่มขึ้น 15%) และธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (เพิ่มขึ้น 13%) ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่บริษัทขนาดใหญ่มีการเพิ่มสาขาไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการนำเทคโนโลยีด้าน ICT และ logistics เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการและเพิ่มยอดขาย รวมทั้งใช้ประโยชน์จากการเป็น ผู้ซื้อรายใหญ่ของตลาดซึ่งทำให้ได้เปรียบในการต่อรองกับคู่ค้าอีกด้วย ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่สัดส่วน NPL ของบริษัทขนาดใหญ่และ SME ไทยเริ่มถ่างมากขึ้นในหลายภาคธุรกิจ พร้อมกับอาการที่น่ากังวลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้ม การลงทุนที่ลดลงเมื่อเทียบกับ GDP และรายได้ที่กระจุกตัวมากขึ้น
คำตอบในการจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ ไม่ใช่การปิดกั้นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในไทย แต่คือการมีนโยบายกำกับดูแลการแข่งขันในภาคธุรกิจที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจ เน้นป้องกันไม่ให้ธุรกิจใช้ความได้เปรียบทางการค้าเพื่อกีดกันคู่แข่งอื่นๆ อย่างไม่เป็นธรรม และชั่งน้ำหนักอย่างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของประสิทธิภาพที่อาจสูงขึ้นในระยะสั้นและผลกระทบด้านลบในระยะยาวจากแนวโน้มอำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้น และควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการกระจายความรู้ในเชิงปฎิบัติจริงในวงกว้าง สิ่งเหล่านี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญสำหรับ การเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้อำนาจตลาดเกิดได้ง่ายขึ้น