ปัญหาเรื้อรังของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” + “อำนาจนิยมล้น
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า เวลาผ่านไปกว่า 1 เดือนนับจากการเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค.2562 แต่จนแล้วจนรอด
เราก็ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นใคร คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังไม่ยอมเปิดเผยผลการนับคะแนนรายหน่วยต่อสาธารณะ ทั้งที่มีข้อกังขาและข้อข้องใจมากมาย (ใครอยากใช้พลังประชาชนไปช่วยกันตรวจสอบคะแนนรายหน่วยที่เพื่อนพลเมืองถ่ายรูปแล้วส่งเข้าคอม ผู้เขียนเชิญชวนให้เข้าไปดูกันที่เว็บ www.vote62.com โดยคลิกที่คำว่า “กรอกคะแนน” มุมขวาบน)
ไม่เพียงเท่านั้น กกต. ยังฟ้องประชาชนไม่น้อยกว่า 7 คนในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งคาดว่าถูกแจ้งความจากการแชร์แคมเปญ “ร่วมกันลงชื่อถอดถอน กกต.” บนเว็บไซต์ Change.org ซึ่งเพียงไม่ถึงเดือนหลังการเลือกตั้ง ก็มีคนเข้าไปลงชื่อถล่มทลายกว่า 850,000 คน กลายเป็นแคมเปญที่มีคนลงชื่อมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Change.org ประเทศไทย
แน่นอนว่า 8.5 แสนกว่ารายชื่อบนเว็บไซต์ไม่มีผลใดๆ ทางกฎหมาย แต่ก็ชี้ชัดว่าคนไทยจำนวนมหาศาลไม่พอใจกับการจัดการเลือกตั้งของ กกต.
หน่วยงาน “รัฐ” ย่อมมีหน้าที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก การวิจารณ์หน่วยงานรัฐใดๆ ก็ตาม จึงเป็นการวิจารณ์ประเด็นสาธารณะ มิใช่เรื่องส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นการมุ่งทำลายคู่แข่ง(เพราะรัฐไม่ใช่เอกชน) ด้วยเหตุนี้จึงต้องเชื่อไว้ก่อนว่าเป็นการวิจารณ์โดยสุจริต ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในกฎหมายหมิ่นประมาท การฟ้องประชาชนให้เสียเงินเสียเวลาไปขึ้นศาล จึงนับเป็นการคุกคามโดยรัฐ ไม่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนหรือเรื่องใดก็ตาม
ผู้เขียนเห็นว่าการฟ้องในกรณีนี้ เป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ สะท้อนภาวะ “อำนาจนิยมล้นเกิน” หรือ hyper-authoritarianism ในไทย ซึ่งน่าเป็นห่วงและอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเมื่อมันเกิดขึ้นโดยมี “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือ เกิดภาวะที่หน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระหลายแห่งใช้กฎหมายแบบตะพึดตะพือ ไม่ดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย เรียกสั้นๆ ว่าเป็นภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (hyper-legalism) ในศัพท์บัญญัติของอาจารย์เข็มทอง ตันสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ยกตัวอย่างเพียง 2 กรณีล่าสุด ที่ผู้เขียนเห็นว่า สะท้อนอันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” บวก “อำนาจนิยมล้นเกิน”
กรณีแรก ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. ข้อหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตามมาตรา 98(3) ระบุว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ”
ใครอ่านก็ต้องเข้าใจว่า ถ้าหากเป็นเจ้าของ (ถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง) หรือแม้แต่ถือหุ้น (เพียงหุ้นเดียวก็ไม่ได้) ในกิจการที่ผลิตหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนแขนงอื่น เช่น สถานีโทรทัศน์ ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ
แต่ในเดือนมี.ค. 2562 ภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จ.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำสั่งถอนชื่อออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. เนื่องจากพบว่าเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของบริษัทเขียนว่า “ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ รับจัดทําสื่อโฆษณา สปอร์ตโฆษณา เผยแพร่ข้อมูล” ศาลฎีกาจึงถือว่าผู้สมัครท่านนี้มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง
ในความเป็นจริง ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้ประกอบกิจการก่อสร้าง (ดังที่เราก็พอเดาได้จากชื่อบริษัท) ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน เพียงแต่วัตถุประสงค์ข้อหนึ่งระบุเรื่องสื่อเอาไว้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ โดยทั่วไปเวลาเราจะจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด เราจะใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูปที่ทำตามๆ กันมาตอนจดทะเบียนต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งระบุวัตถุประสงค์ยาวหลายสิบข้อแบบกว้างๆ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจ จะได้ไม่ต้องไปวุ่นวายและเสียเวลาจดทะเบียนเพิ่มเติม เมื่อไรที่เราอยากขยายกิจการไปทำธุรกิจอื่น
ลำพังการระบุใน “วัตถุประสงค์” ว่าประกอบกิจการสื่อ จึงมิได้แปลว่ากิจการนั้นๆ ประกอบกิจการสื่อจริงๆ แต่อย่างใด การตีความของศาลฎีกาในกรณีนี้จึงเป็นการตีความตัวบทโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงของการประกอบกิจการ และไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้ ซึ่งเห็นชัดว่าไม่ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. มีโอกาสได้ใช้กิจการสื่อมวลชนของตัวเอง หรือกิจการที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย เพื่อชี้นำประชาชนในฤดูหาเสียงเลือกตั้ง (ส่วนตัวผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับมาตรานี้ แต่นั่นเป็นอีกประเด็น ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กล่าวถึง)
การตีความในกรณีนี้เท่ากับตีความว่า กิจการอะไรก็ตามที่บริษัทยังไม่ได้ทำ เท่ากับว่าเป็นกิจการที่บริษัททำอยู่ เพียงเพราะถูกระบุอยู่ใน “วัตถุประสงค์ของบริษัท” ซึ่งชัดเจนว่าไม่ตรงต่อความจริงและขัดต่อสามัญสำนึกอย่างยิ่ง
ผู้เขียนเชื่อว่ามีผู้สมัคร ส.ส. อีกหลายท่านที่เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อเลย แต่มีคำว่า “สื่อ” ปรากฎในวัตถุประสงค์ของบริษัท เพราะแบบฟอร์มวัตถุประสงค์สำเร็จรูปตอนจดทะเบียน สุ่มเสี่ยงที่จะโดนตัดสิทธิการเป็นผู้สมัครด้วยการตีความแบบนี้
ตัวอย่างอีกกรณี คือ พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับต้ังแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 เป็นต้นมา สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ มาตรา 6 ซึ่งเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ล้วงข้อมูลบุคคลได้
ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊ควิจารณ์กฎหมายฉบับนี้ใน 5 ประเด็น ประเด็นสำคัญที่ท่านชี้ คือ กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เห็นชอบในการดำเนินการเพียงผู้เดียว โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองและตรวจสอบการใช้อำนาจจากองค์กรอื่นในลักษณะที่เป็นสากล เช่น องค์กรศาล ขณะที่ในมาตรา 6 วรรคสาม ยังมีบทบัญญัติคุ้มครองการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ว่า ถ้าหาก “กระทำโดยสุจริตตามสมควรแก่เหตุและเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือการป้องกันภัยสาธารณะ ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งข้อนี้อาจถูกนำมาอ้างคุ้มครองในกรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริตชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐได้
ผู้เขียนเห็นว่า มาตรา 6 วรรคสาม เท่ากับมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ล้วงข้อมูลโดยไม่ต้องรับผิด เพราะคงไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐรายใดบอกว่ากระทำการด้วยความไม่สุจริต และเราก็ได้เห็นแล้วว่า คำว่า “ภัยต่อความมั่นคง” นั้นถูกตีความกว้างขวางเป็นทะเลขนาดไหนในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
โดยรวม ภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” ทำให้เรามองไม่เห็นทางเลือกใดๆ นอกจากกฎหมายในการแก้ปัญหา และทำให้เราใช้กฎหมายแบบตะพึดตะพือ ไม่สนเจตนารมณ์หรือแม้แต่ข้อเท็จจริง หรือแม้แต่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
เมื่อภาวะนี้เกิดขึ้นพร้อมกับภาวะ “อำนาจนิยมล้นเกิน” รองรับโดยอำนาจรวมศูนย์ซึ่งทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ อนาคตของประเทศไทยในแง่นิติรัฐ นิติธรรม จึงดูมืดมนอนธการอย่างยิ่ง