ป่วยไข้ในต่างแดน (2)
“38.6 C” คือตัวเลขที่ปรากฏในปรอทวัดไข้ นายธีร์นอนขดอยู่บนโซฟาหลังกลับจากโรงเรียน
อะไรฟระ!! นี่ทั้งพี่สาวทั้งแม่ ต่างเพิ่งหายจากไข้เลือดออก กลับจากโรงพยาบาลมาอยู่บ้านได้หลายวันแล้ว น้องชายจะมาป่วยอะไรกันตอนนี้ ผมคิดในใจ
“เพชรว่าไม่น่าใช่ อาจเป็น Flu” คุณภรรยาเธอหมายถึงไข้หวัดใหญ่ ที่มีไข้สูง และเป็นโรคยอดฮิตติดกันตลอด ๆ ในหมู่นักเรียน
ผมกลับมานอนอ่านตำราโรคไข้เลือดออกและแผนภูมิวิถีของโรค (ซึ่งตอนแรกลบทิ้งไปแล้วเพราะเข้าใจว่าหมดทุกข์หมดโศก) ผมพบว่าเจ้าไข้เลือดออกนี้ ใช้ระยะเวลาฟักตัว 4-10 วัน เช่น เพชรกับพินกลับจากหลีเป๊ะได้ 4-5 วัน ก็ไข้มา แต่เจ้าธีร์ ผมนอนนับนิ้วอยู่ได้ 11 วัน แหม... ห่างกันขนาดนั้นจะใช่หรือ?
จะว่าติดมาจากแม่กับพี่สาวก็ใช่ที่ ไข้เลือดออกติดได้ผ่านพาหะคือยุงเท่านั้น และต้องเป็นยุงลายตัวเมียในช่วงวางไข่ ซึ่งอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่ไม่ถ่ายเทเท่านั้น ซึ่ง (เมีย) ผมมั่นใจว่าห้องเรา Mosquitoes Free! ดังนั้นไม่น่าเป็นไปได้ เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนก็ไม่มีกรณีไข้เลือดออก ตอนเพชรเป็น ผมคุยโทรศัพท์กับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขอยู่ตั้งร่วมครึ่งชั่วโมง เพราะเขาสงสัยว่าเราไปเอาเชื้อมาจากไหน แถวนี้ไม่มี พาไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาล หมอพยาบาลทักกันเกรียวว่าภรรยากับลูกสาวหายดีแล้วเหรอ ผมได้แต่ยิ้มแห้ง ๆ ก่อนส่งลูกชายให้อีกคน ซึ่งหมอจีนหมอแขกพากันเกาหัวเพราะแม้อาการจะคล้าย แต่ดันตรวจไม่เจอ NS1 Antigen ตัวบ่งชี้ของไวรัสไข้เลือดออก เพิ่มความวุ่นวายให้กับชีวิตพ่อเข้าไปอีกขั้น
นอนสังเกตอาการอยู่บ้านไข้ก็ไม่ลด ล่วงเข้าวันที่สามพุ่งพรวดไป 41 C ผมเลยเลิกลุ้นระทึก เอาตัวไปจิ้มน้ำเกลือเติมน้ำมันที่โรงพยาบาลซะเลย
สุดท้ายจบลงด้วยดี หมอเฝ้าระวังช่วงไข้ลดอยู่ 48 ชั่วโมงแล้วอนุญาตให้กลับบ้านได้ ผมนั่งเขียนอยู่นี่เจ้าตัววิ่งปร๋อแล้ว
ข้อคิดสำหรับคนทำงาน (ในต่างแดน)
1. อย่าชะล่าใจ โรคที่ไม่เคยเป็นไม่ได้หมายความว่าเป็นไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีของเพชรซึ่งเป็นผู้ใหญ่ มีไข้ก็กินยาลดไข้อดทนเอา จะไปหาหมอก็กลัวแปลกหน้า พูดภาษาไม่รู้เรื่อง แถมขั้นตอนยุ่งยากไม่สะดวกเหมือนอยู่เมืองไทย “เพชรเพิ่งรู้นะว่าตัวเองอาการหนักแค่ไหน หมอบอกว่าตั้งแต่รักษาคนไข้โรคนี้มา ไม่เคยเจอใครหนักเหมือนเคสเพชร ยูเก่งมากที่รอดมาได้” เจ้าตัวกลับมาเล่าอ่อย ๆ หลังจากไปตรวจเลือด Follow up มา งั้นถ้าไม่แน่ใจอะไร เอะอะไปหาหมอไว้ก่อน โดยเฉพาะยามอยู่ไกลบ้าน จะให้ดีผมแนะนำว่าพอมาถึงต่างประเทศรีบหาหมอตีซี้ไว้เลย คลินิกใกล้บ้านยิ่งดี มีอาการอะไรขึ้นมาจะได้สะดวก
2. ไข้เลือดออก สิ่งที่น่ากลัว (และน่าประหลาด) สำหรับโรคนี้คือ แทนที่เป็นแล้วจะไม่เป็นอีก กลับกลายเป็นว่าครั้งที่สองอาการจะแย่กว่าครั้งแรก และยังมีอีก 3 สายพันธุ์ของเชื้อที่เรายังติดได้อยู่ กรณีของเพชร เจ้าตัวไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเคยเป็นมาก่อน มารู้ก็เมื่อผลเลือดมันฟ้อง “Hers was quite bad because she has been infected before, and that exacerbated the symptoms” หมอบอกกับผม อ้าว เคยเป็นแล้วทำไมไม่รู้? แต่จริง ๆไม่แปลก เพราะหากเด็กเป็นไข้เลือดออกครั้งแรกอาการมันไม่น่าห่วง มีไข้สูงหน่อย แต่ไม่มีอาการอย่างอื่น พ่อแม่คงให้กินยาเช็ดตัวจนหายโดยไม่สงสัยอะไร เผลอ ๆ คนวัยทำงานในภูมิภาคเอเชียแถบนี้อาจเคยเป็นกันแล้วทั้งนั้น
3. เพื่อนนั้นสำคัญฉะนี้ อันนี้สำหรับคนทำงานที่พาครอบครัวมาต่างแดนโดยเฉพาะ จงฝึกการทำงานแบบสร้างมิตรไม่ใช่สร้างศัตรู จริงอยู่ ในยุค 4.0 คนเก่งสามารถทำงานคนเดียวได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีช่วย แต่หุ่นยนต์ช่วยเรื่องมนุษย์ไม่ได้ ผมโชคดีที่ครั้งนี้ตัวเองไม่ได้ป่วยด้วยเลยวิ่งรอกดูแลได้ทั้งแม่และลูก แต่ที่โชคดีกว่าคือการมีเพื่อนร่วมงานที่ดี ช่วงสัปดาห์ไข้เลือดออกของครอบครัว ผมกำลังจะมีงานสอนที่เวียดนามตลอดอาทิตย์ เกิดโกลาหลก่อนขึ้นเครื่องวันเดียว พอผมโทรบอกไมเคิล โทรบอกราจีฟ ทุกคนบอกว่าไม่ต้องห่วง เดี๋ยวจะช่วยดูแลแทนให้ ปีเตอร์เก็บกระเป๋าเย็นนั้นเลยเพื่อบินไปแทนที่ผม นั่นคือพลังและความสำคัญของการทำงานแบบผูกมิตร Soft skills become very important during hard times
หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องสุดท้ายที่เขียนถึงการป่วยไข้ในต่างแดนนะครับ เพี้ยง ๆ ๆ