ส่องเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่ คาซัคสถาน
อาทิตย์ที่แล้วผมอยู่ที่ประเทศคาซัคสถาน ตอบรับคำเชิญของรัฐบาลคาซัคสถานไปร่วมเป็นวิทยากรในงานประชุม Astana Economic Forum 2019
ที่กรุงนูร์-ซุลทัน ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของกรุงแอสทานา เมืองหลวง งานนี้รัฐบาลคาซัคสถานจัดร่วมกับองค์กร Reinventing Brettenwood ของประเทศฝรั่งเศส มีนักวิชาการและนักการเงินมาร่วมงานกว่าร้อยคนจากหลายประเทศทั่วโลก ถือเป็นงานใหญ่ที่ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องเศรษฐกิจโลก เทคโนโลยี เมือง และทรัพยากรมนุษย์ ผมเข้าร่วมแสดงความเห็นเรื่องเศรษฐกิจและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลกต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ ขึ้นเวทีร่วมกับอดีต รมต.คลังของโคลอมเบีย อินโดนีเซีย และนักวิชาการภาคการเงินจากรัสเซียและอิตาลี
คาซัคสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Landlocked Country) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อุดมสมบูรณ์ด้วยพื้นที่เพาะปลูกและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ทองแดง แร่ยูเรเนียม มีประชากร 18 ล้านคน บ้านเมืองและความเป็นอยู่โน้มไปทางรัสเซียเพราะอยู่ในสหภาพโซเวียตมาก่อน จนถึงปี 1991 ที่ได้แยกตัวออกมา ในทางเศรษฐกิจ คาซัคสถานกำลังพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันที่ปัจจุบันเป็นรายได้ส่งออกหลัก การท่องเที่ยวมีศักยภาพมากเพราะมีธรรมชาติที่สวยงาม ประเทศเคยอยู่บนเส้นทางสายไหมสมัยโบราณจากจีนสู่ยุโรปมาก่อน โดยเมืองหลายเมืองในคาซัคสถานตอนใต้ปัจจุบันเคยเป็นทางผ่านของเส้นทางสายไหม เช่นเมือง Almaty Otrar Taraz และเมือง Sayrum ที่มีเกล็ดว่าเคยเป็นจุดตั้งแคมป์ของเจงกิสข่านเมื่อปี 1223 ระหว่างรอลูกชายนำทัพมาสมทบ ทำให้คาซัคสถานเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน มีประเพณีและวัฒนธรรมหลากหลายโดยเฉพาะอาหาร ว่ากันว่าคาซัคสถานตอนใต้เป็นถิ่นกำเนิดของพันธุ์แอปเปิลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก (Malus Sieversii) ที่ยังให้ผลอยู่ ทำให้คนอยากไปหาลองชิม
เรื่องเศรษฐกิจโลกบรรยากาศการประชุมคึกคัก เพราะมีขุนพลระดับปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์มาร่วมงานหลายคน เช่น Maurice Obftseld จากเบิร์กลีย์ Paul Romer มหาวิทยาลัย New York Xavier Sala I Martin มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ Ernesto Zedillo จากมหาวิทยาลัยเยล กลุ่มคนเหล่านี้เป็นศาสตราจารย์ที่มีอิทธิพลมากต่อการเรียนการสอนด้านเศรษฐศาสตร์และแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ฟังความเห็นของอาจารย์เหล่านี้ว่ามองปัญหาและความท้าทายต่างๆ ในเศรษฐกิจโลกขณะนี้อย่างไร
ที่ประชุมมีความเป็นห่วงเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน มองว่าจะไม่จบง่ายๆ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมาก สำหรับผมให้ความเห็นไปว่าความต้องการที่จะพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างปลอดภัย หมายถึงโตโดยไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นเรื่องท้าทายของประเทศตลาดเกิดใหม่มาตลอด ซึ่งในภาวะปัจจุบันความท้าทายเหล่านี้ยากขึ้นเพราะความผันผวนที่มีมากในตลาดการเงินโลก รวมถึงความไม่แน่นอนด้านนโยบาย เช่นกรณีสงครามการค้าที่กระทบการขยายตัวและเสถียรภาพของประเทศตลาดเกิดใหม่
ตัวอย่างที่ดี ช่วงครึ่งหลังปีที่แล้วที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ถูกกดดันจากตลาดการเงินเกิดเงินทุนไหลออก ค่าเงินอ่อนค่ารุนแรง หุ้นตกและเกิดปัญหาสภาพคล่อง ถึงกับห่วงกันว่าจะเกิดวิกฤติในประเทศตลาดเกิดใหม่อีกรอบ แรงกดดันมาจากความห่วงใยของนักลงทุนที่กลัวว่าเศรษฐกิจเหล่านี้จะมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้จากผลกระทบของสงครามการค้า อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่เป็นขาขึ้น และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายลงมากเมื่อสหรัฐชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของประเทศตลาดเกิดใหม่ต่อการมองปัญหาและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ต่อคำถามว่าแล้วเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ปลอดภัยมากขึ้น ในเรื่องนี้ผมได้ให้ความเห็นไว้ 3 เรื่อง
1.ต้องระมัดระวังการก่อหนี้ เพราะวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 1997 และวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 ให้บทเรียนชัดเจนว่าหนี้ที่สูงเกินไปคือที่มาของวิกฤติ ปัจจุบันระดับหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นนิวไฮท์ คืออยู่ที่ 63 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2017 หนี้เหล่านี้ต้องชำระคืน แต่มองไปข้างหน้า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะไม่เอื้อต่อการเติบโตและความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า และราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ประเทศตลาดเกิดใหม่จึงควรลดหนี้หรือชะลอการก่อหนี้ (Deleveraging) ลดความเสี่ยงโดยการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดอายุจากหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาวมากขึ้น และลดหนี้ต่างประเทศมากู้เป็นหนี้ในประเทศแทน
2.แนวป้องกันที่ดีที่สุดคือการปฏิรูปเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นและมีความเข้มแข็งที่จะทัดทานแรงกระทบ หรือ Shock จากภายนอกได้ ซึ่งผมได้พูดถึงประสบการณ์การปฏิรูปเศรษฐกิจในอาเซียนหลังวิกฤติเอเชียปี 1997 ทั้งการปฏิรูปการดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน การกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน และการจัดตั้ง CMIM และ AMRO เพื่อเป็นกลไกสอดส่องดูแลและป้องกันวิกฤติ รวมถึงการส่งเสริมการค้าในภูมิภาค การปฏิรูปเหล่านี้ได้ทำให้เศรษฐกิจอาเซียนสามารถทัดทานแรงกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 ได้ และสามารถเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากนั้นมา
3.สำหรับก้าวต่อไปของการพัฒนาประเทศที่จะนำประเทศให้หลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ผมได้ให้ความเห็นว่าในยุคปัจจุบันที่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมีมากทั่วโลก การเชื่อมต่อ หรือ Connectivity คือกุญแจสำคัญของการขยายโอกาสและกระจายความเสี่ยงในการพัฒนาประเทศ เป้าหมายหลักของหลายประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียขณะนี้คือ การเพิ่มผลิตภาพการผลิตและทำให้กระบวนการพัฒนาประเทศมีส่วนร่วมจากประชาชนมากขึ้น (Inclusive) ซึ่งทั้ง 2 เป้าหมายนี้จะประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่าถ้าหลายๆ ประเทศร่วมมือกันทำให้การรวมตัวในภูมิภาค หรือ Integration ยิ่งมีมากและลึกมากขึ้น เช่นในเรื่องการใช้เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานและธรรมาภิบาล ที่ผ่านมาประเทศในอาเซียนรวมตัวกันเรื่องการค้าและการลงทุนเป็นหลัก ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ทำให้การค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคกลายเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค ในก้าวต่อไปการขยายการรวมตัวด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานจะเหมือนการลงทุนร่วมกันที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของทั้งภูมิภาคโดยใช้ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศมีให้เป็นประโยชน์ และสิ่งที่ทำจะสามารถเข้าถึงได้โดยประชากรในภูมิภาคที่จะได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันการรวมตัวด้านธรรมาภิบาลก็จะทำให้การทำธุรกิจในภูมิภาคโปร่งใส มีมาตรฐานด้านธรรมาภิบาล มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเติบโตอย่างมีคุณภาพ และนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
นี่คือข้อคิดที่ผมฝากไว้ในงานสัมมนาที่คาซัคสถานอาทิตย์ที่แล้ว