Work-life balance มีจริงหรือ?
ประโยคหรือข้อความหนึ่งที่มักจะได้ยินจากปากของคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การทำงานคือ การแแสวงหา Work-Life Balance
หรือ ความต้องการที่จะมีชีวิตที่สมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว คนรุ่นใหม่จำนวนมากมีความฝันที่จะทำงานที่มีความท้าทาย มีโอกาสในการเติบโต มีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดี ขณะเดียวกัน ก็มีเวลาเพียงพอที่จะใช้ชีวิตตามที่ตนเองต้องการไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การมีเวลาให้กับครอบครัวและเพื่อน หรือ การได้ท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ ตามที่ตนเองต้องการ อีกทั้งยังพบว่าบริษัทหลายแห่งก็พยายามที่จะใช้ความน่าดึงดูดใจของข้อความ Work-Life Balance ในการจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานที่องค์กรตนเอง
อย่างไรก็ดีเมื่อได้คุย สอบถามกับผู้ใหญ่จำนวนมากที่ผ่านประสบการณ์ในการทำงานมานาน รวมทั้งประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เกือบทั้งหมดต่างระบุเหมือนกันว่า คำว่าความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว นั้นจริงๆ แล้วไม่มีในโลกนี้เลย เนื่องจากเป็นการยากที่จะหาและรักษาจุดสมดุลดังกล่าวไว้ได้ตลอดไป อีกทั้งในแต่ละช่วงอายุการทำงานของคนเรา ก็จะมีความจำเป็นหรือความสำคัญที่ต้องมุ่งเน้นที่แตกต่างกันออกไป นั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะหาและรักษาจุดสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว เหมือนที่หลายๆ คนนึกฝัน
นอกจากนี้ ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่ว่าจริงๆ แล้วไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้คำว่า Balance หรือ ความสมดุล เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิดได้ การทำงานและชีวิตส่วนตัวไม่ได้เป็นเส้นตรง ที่งานอยู่ฝั่งหนึ่ง และชีวิตส่วนตัวอยู่อีกฝั่ง และสามารถที่จะหาจุดกึ่งกลางระหว่างทั้งสองฝั่งได้
Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของ Amazon ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าคำแนะนำหนึ่งที่เขาให้กับบรรดาพนักงานใหม่ของ Amazon คือ อย่าไปตามหา Work-Life Balance โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้หยุดที่จะหาจุดที่ “สมดุล” ด้วย เนื่องจากการหาจุดสมดุลที่อยู่ตรงกลางนั้นเป็นการเลือกที่จะต้องเลือกระหว่างงานหรือชีวิตส่วนตัว แต่สิ่งที่ Bezos แนะนำคือให้มองความสัมพันธ์ระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวเป็นวงจรที่มีความสัมพันธ์และเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
Bezos ได้เล่าให้บรรดาพนักงานเข้าใหม่ฟังว่า เขาสามารถที่จะจัดสรรเวลาที่จะรับประทานอาหารเช้ากับครอบครัวได้ทุกวัน ไม่เคยตั้งนาฬิกาปลุกก่อนเข้านอน กำหนดให้มีการประชุมที่ไม่มาก แถมยังมีเวลาล้างจานเองทุกวันด้วย โดยสิ่งที่ Bezos มองหานั้นไม่ใช่เรื่องของความสมดุล แต่เป็นคำว่า Work-Life Harmony โดยความสัมพันธ์ระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวนั้นเป็นวงจร ที่สัมพันธ์และเกื้อหนุนกัน ไม่ใช่เส้นตรงที่ต้องหาจุดสมดุล ที่จะต้องแบ่งเส้นตรงดังกล่าวออกเป็นครึ่ง-ครึ่ง
Bezos ระบุว่าถ้าเขามีความสุขที่บ้าน เขาก็จะมาทำงานด้วยพลังงานที่ล้นเหลือ ขณะเดียวกันถ้ามีความสุขในที่ทำงาน เมื่อกลับบ้านก็ย่อมกลับไปด้วยความชื่นบาน ดังนั้นสำหรับเราๆ ท่านๆ แล้ว แทนที่จะมีมุมมองว่างานและชีวิตส่วนตัวเป็นสิ่งที่จะต้องตัดแบ่งเป็นครึ่ง ให้มองความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทั้งสองประการว่า เกื้อหนุนซึ่งกันและกันแทน เช่น ถ้าสามารถจัดตารางชีวิตให้มีเวลาที่จะสามารถนอนได้อย่างเพียงพอ ได้ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็ย่อมทำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และเต็มไปด้วยพลังงานมากขึ้น ขณะเดียวกันการทำงานด้วยความสนุกสนานและอย่างเต็มที่ก็ย่อมนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวและเพื่อนฝูง
นอกจากนี้ เมื่อไม่สามารถที่จะมีจุดสมดุลได้แล้ว จึงควรจะกันเวลาไว้สำหรับสิ่งที่สำคัญในชีวิต โดยเวลาที่กันไว้นั้น จะต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะไม่ให้งานเข้ามารุกรานได้ ไม่ว่าจะเป็นจะเป็นเวลา สำหรับครอบครัว การออกกำลังกาย แม้กระทั่งการอยู่นิ่งๆ คนเดียวอย่างสงบ ความสามารถในการกำหนดและควบคุมตารางเวลาของตนเองนั้น ถือเป็นความท้าทายอย่างสูงสำหรับคนทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสามารถที่จะกันเวลาบางส่วนให้กับสิ่งที่สำคัญในชีวิตได้ ย่อมช่วยสร้างวงจรของ Work-Life Harmony ที่ดีได้