ปัญหา ‘สังคมสูงวัย’ ลามจากญี่ปุ่นถึง ‘จี20’
"สังคมสูงอายุ" ไม่ใช่เรื่องของบางประเทศอีกค่อไป เพราะตอนนี้ กลุ่มยักษ์ใหญ่ "จี20" กำลังประสบปัญหาเดียวกัน และเตรียมหาทางออกกันปลายเดือนนี้
เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานประชุม “ที20” (T20) ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น โดยที20 คือกลุ่มนักวิชาการเบื้องหลังนโยบายต่าง ๆ ของกลุ่ม “จี20” หรือ 20 เศรษฐกิจก้าวหน้าและเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด จี20 ที่เมืองโอซากา ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ยนี้
หนึ่งในประเด็นที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที20 ให้ความสำคัญนอกเหนือจากวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว ยังรวมถึง “สังคมสูงอายุ” ซึ่งเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่งทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะเจ้าภาพญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักมาหลายปี ทั้งจากการขาดแคลนแรงงานท้องถิ่นและงบสวัสดิการคนชราร่อยหรอ
สำหรับชาติสมาชิก จี20 มีแนวโน้มว่าจะเน้นถึงความจำเป็นในการเตรียมพร้อมชีวิตหลังเกษียณ ด้วยการสร้างทุนทรัพย์ ให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงในการจัดการสินทรัพย์ และพยายามปกป้องคนชราจากอาชญากรรมฉ้อโกงทางการเงินที่พุ่งเป้าหลอกผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดบ่อยขึ้นในหลายประเทศ
บรรดาผู้เชี่ยวชาญ คาดว่า ประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป จะขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศดาวรุ่ง ด้วยตัวเลขที่อาจทะลุ 2,000 ล้านคนภายในปี 2593 หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรโลก
เซ็ตสึยะ ฟุคุดะ นักวิจัยอาวุโสฝ่ายการวางแผนวิจัยและความร่วมมือ สถาบันแห่งชาติด้านการวิจัยประชากรและประกันสังคมของญี่ปุ่น (ไอพีเอสเอส) กล่าวถึงสถานการณ์สังคมสูงอายุและอัตราการเกิดต่ำในญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นซึ่งมีประชากรกว่า 120 ล้านคน กำลังประสบปัญหาขาดแคลนประชากรวัยทำงาน (อายุ 20-64 ปี) ซึ่งอยู่ที่ 71.2 ล้านคนในปี 2558 และคาดว่าจะลดลง 31.6% เหลือ 48.7 ล้านคนในปี 2593
นอกจากนั้น กลุ่มประชากรวัย 65 ปีขึ้นไปยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 33.8 ล้านคนในปี 2558 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 13.4% เป็น 38.4 ล้านคนภายในปี 2593
ฟุคุดะ เสริมว่า หากดูโครงสร้างอายุประชากรในญี่ปุ่นจะพบว่าไม่สมดุลอย่างมาก โดยกลุ่มวัยทำงานเคยคิดเป็นสัดส่วน 60.3% ของประชากรทั้งหมด แต่กลับลดลงต่อเนื่องเหลือ 56% ในปี 2558 และคาดว่าจะร่วงเหลือ 47.8% ในปี 2593
“ขณะที่ประชากรวัย 65 ปีขึ้นไป เคยมีสัดส่วนเพียง 7.1% ของประชากรญี่ปุ่น แต่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 26.6% ในปี 2558 และมีแนวโน้มจะแตะ 37.7% ในปี 2593 ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องการมีบทบาทนำในการผลักดันเรื่องสังคมสูงอายุเป็นประเด็นเร่งด่วนในการประชุมสุดยอด จี20 ครั้งนี้” ฟุคุดะเผย
ทว่า ก่อนจะถึงเวทีซัมมิตหนังสือพิมพ์โยมิอุริของญี่ปุ่น รายงานว่า บรรดารัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม จี20 เตรียมหยิบยกปัญหาทางการเงินในสังคมสูงอายุมาหารือในที่ประชุมที่เมืองฟุกุโอกะ ระหว่างวันที่ 8-9 มิ.ย.นี้ด้วย
ขณะที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เตรียมเสนอให้บริษัทในประเทศอนุญาตให้พนักงานทำงานได้จนถึงอายุ 70 ปี เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานเรื้อรังซึ่งบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
“เราต้องเร่งดำเนินการนโยบายสำคัญที่ไม่ผูกติดกับกรอบความคิดเดิม ๆ” อาเบะกล่าวถึงแผนปฏิรูปการจ้างงานเมื่อไม่นานนี้ โดยแผนดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นอนุมัติภายในเดือนนี้
นอกจากนั้น รัฐบาลจะแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วยการให้แรงงานสามารถทำงานพิเศษและประกอบอาชีพที่ 2 ได้ง่ายขึ้น โดยจะมีการยื่นแก้ไขกฎหมายแรงงานต่อรัฐสภาภายในปีหน้า
อีกกลยุทธ์หนึ่งของรัฐบาลญี่ปุ่นคือ จะยกเลิกคำสั่งแบนธุรกิจแชร์รถ เพื่อรับประกันการเข้าถึงทางเลือกการขนส่งสำหรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เช่นเดียวกับลดภาระของคนขับรถในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังขาดแคลนคน
ขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่า ระบบเงินบำนาญของญี่ปุ่นจะไม่มากพอที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของคนวัยเกษียณมั่นคงในระยะยาวได้ ท่ามกลางสังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น
สภาซึ่งดูแลระบบบำนาญของญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า คู่สามีภรรยาซึ่งจะมีชีวิตถึงอายุ 95 ปี จะต้องใช้เงินอย่างน้อย 20 ล้านเยนหลังเกษียณ ซึ่งมากกว่าที่ผลประโยชน์เงินบำนาญสามารถครอบคลุมได้ จึงเรียกร้องให้ประชาชนวางแผนการเงินสำหรับชีวิตหลังเกษียณอย่างรอบคอบ
ตัวอย่างเช่น คู่สามีภรรยาที่ฝ่ายชายอายุ 65 ปีขึ้นไปและฝ่ายหญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะต้องผจญกับหนี้สิน 5 หมื่นเยนต่อเดือน กรณีที่พวกเขาพึ่งพาเฉพาะเงินบำนาญอย่างเดียว หากคู่สามีภรรยานี้มีชีวิตยืนยาวไปอีก 20 ปี พวกเขาจะต้องใช้เงินอีก 13 ล้านเยน และหากอายุยืนไปอีก 30 ปี ก็จะต้องใช้เงินอีก 20 ล้านเยน
นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า เมื่อแรงงานที่ยังทำงานอยู่ในปัจจุบัน เกษียณไปแล้ว การขาดดุลเงินออมสำหรับชีวิตวัยเกษียณใน 8 ประเทศซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น สหรัฐ และจีน จะรวมอยู่ที่ราว 400 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากประชากรมีอายุยืนขึ้น