ทรัพย์สินทางปัญญา หัวใจสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจ
ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง สิ่งที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นหรือสร้างสรรค์ของมนษุย์
นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมและเทคโนโลยีไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ
ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง สิ่งที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นหรือสร้างสรรค์ของมนษุย์ อาจแสดงออกในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่างๆ หรือในรูปของสิ่งที่จับต้องไม่ได้เช่น กรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการประดิษฐ์ คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพราะให้สิทธิผู้คิดค้นสามารถใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าจากเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเหล่านั้นได้ กลไกที่ใช้ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า
ทั้งนี้รัฐบาลมีหน้าที่ต้องรักษาความสมดุลหรือหาจุดที่เหมาะสมระหว่างประโยชน์ของสาธารณะหรือสังคมที่จะได้จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม กับประโยชน์ของเอกชนที่เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นๆ ว่าการคุ้มครองที่เหมาะสมควรอยู่ในระดับใด
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพยังช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน มีเสถียรภาพ ภาคอุตสาหกรรมของประเทศมีความก้าวหน้า ต่างชาติกล้าเข้ามาลงทุน เพราะมั่นใจได้ว่าทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ของผู้มาลงทุนจะได้รับการคุ้มครอง
ดังนั้นกล่าวได้ว่า ระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้มาตรฐานช่วยส่งเสิมการค้า การลงทุนของประเทศอีกด้วย
มีงานศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาพบว่า ประเทศที่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาดีขึ้น จะมีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยระดับคะแนนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่มขึ้นเพียง 10% ช่วยให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 50% ของระดับการลงทุนเฉลี่ย หรืองานศึกษาอีกชิ้นซึ่งใช้ข้อมูลของหลายประเทศ ระหว่างปี 1990-2005 พบว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญายังช่วยส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกระตุ้นให้มีการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ โดยพบว่าการคุ้มครองสิทธิบัตรที่ดีขึ้น 1% ช่วยเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 2% ตัวอย่างอุตสาหกรรมที่มักได้ประโยชน์ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ อากาศยานและชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ในโลกการค้าเสรี ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญามีบทบาทสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นประเด็นที่พ่วงไปกับการค้าสินค้าและบริการตลอดเวลา ไทยในฐานะประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศมากทั้งมิติการส่งออกและนำเข้า จึงต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้ได้มาตรฐานเช่นเดียวกับนานาชาติ
ทั้งนี้จากรายงาน The 2019 U.S. Chamber International Intellectual Property Index ของ U.S. Chamber of Commerce Global Innovation Policy Center ซึ่งจัดอันดับดัชนีทรัพย์สินทางปัญญา (IP Index : Intellectual Property Index) ไทยอยู่ในอันดับที่ 42 จาก 50 ประเทศ โดยไทยได้คะแนน 32.22% (14.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 45) เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ได้ 31.37% (12.55 คะแนน จากคะแนนเต็ม 40) คะแนนที่ดีขึ้นมาจากประสิทธิภาพที่สูงขึ้นในการป้องกันการลักลอบนำสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาข้ามแดน
อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงอยู่ในสถานะประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch list: WL) จากการจัดสถานะโดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) แม้จะได้ขยับจากบัญชีที่ต้องจับตาพิเศษ (Priority Watch List: PWL) มาตั้งแต่ปี 2560 แต่การที่ไทยยังติดอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง สะท้อนว่าไทยยังต้องทำอะไรอีกมาก
การส่งเสริมให้ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ ยังช่วยส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอีกด้วย ผลการศึกษาผ่าน The 7th edition of the U.S. Chamber International IP Index (2019) ซึ่งดูผลกระทบของทรัพย์สินทางปัญญาใน 50 ประเทศ พบว่า ทรัพย์สินทางปัญญาช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ประเทศยิ่งมีคะแนนด้านทรัพย์สินทางปัญญามาก ยิ่งมีความสามารถทางการแข่งขันสูง
เป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Thailand 4.0 จำเป็นต้องพึ่งพานวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นสำคัญ ทั้งเศรษฐกิจยังต้องตั้งอยู่บนฐานของความรู้ ข้อมูลและการสังเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ทรัพย์สินทางปัญญาจึงถือเป็นหัวใจสำคัญ นโยบาย Thailand 4.0 จึงไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย หากระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยไม่เข้มแข็ง