สัมมาวาจา อาสาฬหบูชาปี 2562 !!
สัมมาวาจา อาสาฬหบูชาปี 2562 !!
จริงๆ แล้ว เรื่อง สัมมาวาจา จัดอยู่ในขั้นของศีลข้อที่ 4 ในปัญจศีล อันเป็นมนุษยธรรมที่ประกันฐานความเป็นสัตว์ประเสริฐ โดยพุทธศาสนาจำแนกเป็นวจีกรรม 4 ในกรรมบถสิบ เพื่อจะได้ทราบชัดว่า วจีกรรมแบบใดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
จาก ศีลข้อที่ 4 (ศีล 5) สู่ วจีกรรม 4 (กรรมบถ 10) และรวมลงในความเป็นสัมมาวาจา (อริยมรรคองค์แปด) นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาชีวิต ยกระดับจิตเพื่อให้เข้าถึงความบริสุทธิ์โดยธรรม
หากจะถามว่า ลักษณะธรรมอย่างไร ที่จะเรียกว่า สัมมาวาจา ก็ต้องยกพุทธดำรัสที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาวาจา เป็นไฉน
เจตนางดเว้นจาก การพูดเท็จ
เจตนางดเว้นจาก วาจาส่อเสียด
เจตนางดเว้นจาก วาจาหยาบคาย
เจตนางดเว้นจาก การพูดเพ้อเจ้อ
นี้เรียกว่า สัมมาวาจา...”
จากสัมมาวาจาตามที่กล่าวเป็นระดับโลกียะเท่านั้น หากยกระดับสู่โลกุตระของสัมมาวาจา จะต้องแสดงความชัดเจนในเจตนาของความ งด เว้น เด็ดขาด โดยเฉพาะการงดเว้นวจีทุจริตทั้ง 4 ของบุคคลผู้มีจิตไร้อาสวะ มีจิตเป็นอริยะ
บนหนทางของการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ คงมิได้คำนึงหรือให้ความสำคัญเฉพาะวจีกรรมเพียงอย่างเดียว ในพระพุทธศาสนาได้สั่งสอนบอกกล่าวไว้ครบทั้ง 3 ทาง คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม โดยเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญที่สุด อันเป็นรากเหง้าของการกระทำที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในบุญ-บาป ได้แก่ มโนกรรม ด้วยพระภาษิตที่แสดงไว้ให้เห็นจริงว่า ธรรมทั้งหลาย มีจิตเป็นหัวหน้า มีจิตเป็นใหญ่ ทุกอย่างสำเร็จด้วยจิต หรือที่เรียกว่า มโน
ปราชญ์ชาวบ้านจึงกล่าวสืบกันมาว่า เมื่อจิตเลว การพูด การกระทำ ก็จักเลวตาม ด้วยการพูด การกระทำทางกาย เป็นสื่อช่องทางแสดงออกของจิตที่ดำริ จึงมีคำกล่าวว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว (รวมถึงการพูดและการกระทำ)
พระพุทธองค์จึงตรัสเรื่องการชำระตัวให้สะอาดในพระพุทธศาสนาที่แตกต่างจากพราหมณ์ ด้วยการมีกุศลกรรมบถ 10 เป็นเครื่องชำระให้สะอาด ได้แก่ เครื่องชำระตัวทางกายกรรม 3 วจีกรรม 4 และมโนกรรม 3
ดังนั้น การคำนึงถึงศีลธรรม เพื่อชักนำไปสู่การมีจริยธรรมและคุณธรรม เพื่อจัดความสัมพันธ์ในการกระทำทางกาย วาจา ใจ ให้มีดุลยธรรมนั้น จึงเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตที่สำคัญที่สุดในฐานะมนุษยชาติ ที่สามารถเจริญสติปัญญา ประกอบความเพียรชอบได้
ใน อภัยราชกุมารสูตร พระพุทธองค์ได้ตรัสเรื่องการกล่าววาจาของพระองค์ไว้ว่า “ทรงรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่เป็นจริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่เป็นจริง วาจาที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่นตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่เป็นจริง ที่แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย”
เรื่องการพูดจา จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ จนมีภาษิตโบราณยก ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา ซึ่งมิได้คลาดเคลื่อนไปจากความจริงเลย จึงควรอย่างยิ่งที่สาธุชนโดยเฉพาะบุคคลที่กล้าหาญอาสาเสนอตัวสู่ความเป็นสาธารณบุคคล อย่างเช่น นักการเมืองทั้งหลาย พึงได้สำเหนียกในเรื่องการพูดจา จะคิดแต่ว่า พูดไปให้มันสมใจอยาก โดยไม่คำนึงถึงผลแห่งการพูดนั้น คงช่างสิ้นคิด เพราะที่สุดจักต้องรับผลแห่งการกระทำนั้น อันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ที่ให้ความยุติธรรมในทุกกาลสมัย โดยเฉพาะพิเศษสุดกับยุคสังคมไอที
เจริญพร