เมื่อทหาร บริหารธุรกิจ
ครั้งที่แล้วผมเกริ่นไว้ว่า จะเล่าเรื่องทหารที่เป็นซีอีโอขององค์กรธุรกิจ เพื่อดูว่าพวกเขาบริหารงานได้ดีไหม วันนี้ทำตามนั้นครับ
ข้อมูลที่หามาได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นของบริษัทอเมริกัน ผมจึงขออ้างอิงงานวิจัยของอเมริกาเป็นหลักนะครับ
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 นิตยสาร “ฟอร์จูน” รายงานว่า บริษัทใหญ่ที่สุด 500 แห่งใน Fortune 500 นั้น มี 15 บริษัท ที่ซีอีโอปัจจุบัน หรือซีอีโอในอดีต เคยเป็นทหารมาก่อน
15 บริษัทที่กล่าวถึง มีทั้ง Proctor & Gamble, General Motors, McDonald’s, Johnson & Johnson, และ FedEx เป็นต้น ซึ่งซีอีโอของบริษัทเหล่านี้ บางคนก็เคยรบแบบประจัญบาน ในสงครามเกาหลี หรือ เวียดนาม มาแล้ว
แต่ข้อมูลเพียง 15 บริษัท ก็ยังไม่บอกอะไรมากนัก เพราะซีอีโอ โดยทั่วไป ก็มาจากคนทุกวิชาชีพอยู่แล้ว การมีแบคกราวด์เป็นทหาร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่ผมอยากรู้มากกว่าก็คือ ทหารที่เป็นซีอีโอ บริหารธุรกิจได้ดีไหม เลยต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติม
ผมพบงานวิจัย ของ Efraim Benmelech และ Carola Frydman จาก Kellogg School เมื่อปี 2010 ซึ่งใช้ข้อมูลจำนวนมาก เพราะศึกษาข้อมูลต่อเนื่องถึง 25 ปี ของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ 1,500 บริษัท และสรุปว่า ในปี 1980 บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ มีจำนวนถึง 59% ที่มีซีอีโอ เป็นอดีตทหาร แต่ในปี 2010 เหลือเพียง 8% เท่านั้น เพราะระยะหลังๆซีอีโอ มักเป็นผู้ที่ได้รับปริญญา MBA
ทั้งสองคนระบุว่า บริษัทซึ่งซีอีโอเคยเป็นทหารมาก่อน “...มีแนวโน้มอนุรักษ์นิยมในการตัดสินใจด้านการเงิน และมักใช้เงินลงทุนใน R&D น้อยกว่าบริษัทอื่นๆ รวมทั้งอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนก็น้อยกว่า ที่น่าสนใจคืออัตราการฉ้อฉล (Fraud) ก็น้อยกว่าตัวเลขเฉลี่ยถึง 70% นอกจากนั้น ในช่วงเวลาที่เกิดภาวะวิกฤตของอุตสาหกรรม ก็มักจะบริหารได้ดีด้วย...”
แปลว่าพวกเขาบริหารการเงินอย่างระมัดระวัง และไม่ฉ้อฉลมากนัก นอกจากนั้น ทั้งสองคนยังเสนอแนะว่า ปัจจุบันทหารเข้าสู่วงการธุรกิจ (ของอเมริกา) น้อยลงเรื่อยๆ จึงแนะนำบริษัทต่างๆ ให้รับคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ทหาร เข้าทำงานเพิ่มขึ้น
งานวิจัยฉบับนี้ ได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวางทีเดียว เช่นที่แสตนฟอร์ด หรือฮาวาร์ด ฯลฯ แต่ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อผลการวิจัย ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนนะครับ
เพื่อความรอบคอบ ผมยังไม่หยุดครับ ค้นคว้าต่อไปจนพบรายงานของบริษัททรัพยากรบุคคลระดับโลก คือ Korn/Ferry International โดย รองประธานของบริษัท ได้สรุปว่า
- อดีตทหารที่เป็นซีอีโอ มีเพียง 8% ของบริษัทใน Fortune 500 แต่ก็ยังสูงกว่าอัตราส่วนของ “ชายอเมริกันที่เคยเป็นทหาร” ซึ่งมีเพียง 3% เท่านั้น แปลว่า 8% ก็ถือว่ามากพอสมควร
- ซีอีโอ ที่เคยเป็นทหาร มีอายุการดำรงตำแหน่งเฉลี่ย 7 ปี ซึ่งนานกว่า ซีอีโอที่มิใช่อดีตทหาร ที่อายุดำรงตำแหน่งเฉลี่ย ต่ำกว่า 5 ปี
- เมื่อศึกษาตัวเลขย้อนหลัง 1, 3, 5, และ 10 ปี พบว่าซีอีโออดีตทหาร สร้างผลตอบแทนเฉลี่ย (average returns) ได้สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของทั้งหมด
รายงานของ Korn/Ferry จึงได้ผลลัพท์ที่ค่อนข้างจะสนับสนุน งานวิจัยชิ้นแรก แต่ผมก็พยายามค้นคว้าต่อไปว่า เป็นเพราะเหตุใด
ตรงนี้ Korn/Ferry ใช้วิธี “สัมภาษณ์” ตัวซีอีโอ ว่าชีวิตการเป็นทหาร ส่งผลอย่างไรต่อการบริหาร คำตอบก็คือ “ชีวิตทหาร ทำให้เรามีโอกาสได้รับการฝึกฝนความเป็นผู้นำ ตั้งแต่อายุยังน้อย”... “ทหาร ถูกฝึกให้วางแผน และรู้จักการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนนั้น”... “ผู้บริหารบางคนรอข้อมูลให้เพียงพอก่อน แล้วจึงตัดสินใจ แต่ในวิชาชีพทหาร เราไม่มีเวลารอเช่นนั้น”...ฯลฯ
รองประธานของ Korn/Ferry ยังให้ความเห็นว่าทหารผ่านประสบการณ์จริงในการสร้างทีม ในขณะที่ ซีอีโอ แบบ MBA จะเก่งด้านวิเคราะห์ แต่ประสบการณ์จริงอาจเป็นรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจ ในภาวะวิกฤต
รายงานเหล่านี้ สรุปออกมาในทางบวก ส่วนด้านที่ไม่บวก Korn/Ferry ก็บอกว่าแก้ไขได้ เช่นทหารจะขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องธุรกิจ จึงแนะว่าควรรับอดีตทหารเข้ามาทำงานบริษัท ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นของอาชีพ เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้ธุรกิจจากระดับพื้นฐาน
แต่เราจะเชื่ออะไร ก็ต้องหาแหล่งข้อมูลมากๆ เมื่อผมค้นเพิ่มเติม ก็พบบทวิจัยเมื่อ 19 สิงหาคม ปี 2561 ในนิตยสารวิชาการ Strategic Management เขียนโดย Irmela Koch-Bayram & George Wernicke ซึ่งเก็บข้อมูลจาก การกล่าวโทษของ กลต. และ การบิดเบือนสต้อคออฟชั่น ของบริษัทต่างๆ
นักวิจัยสรุปว่า ทหารถูกฝึกให้อยู่ในวินัยและเชื่อฟังคำสั่ง ซึ่งมีผลดีต่อการเป็นซีอีโอ เพราะปัญหาการออกรายงานทางการเงิน หรือการออกรายงานสต้อคออฟชั่นที่ฉ้อฉล ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับซีอีโอที่เป็นอดีตทหาร ตรงนี้ก็ค่อนข้างสอดคล้องกับรายงานของ Kellogg
เมื่อข้อมูลจากการวิจัยหลายแหล่ง ได้ผลลัพท์ทำนองนี้ ก็คงจะต้องเชื่อไว้ก่อน แต่ผมเดาว่าในใจของผู้อ่านบางท่าน อาจจะยังไม่ค่อยคล้อยตาม ก็เป็นไปได้นะ...เพราะผมเองก็ยังไม่ค่อยจะเชื่อซะทีเดียว
ผมจึงพยายามค้นหางานวิจัย ที่มีผลลัพท์ออกมาในทางตรงกันข้าม เพื่อจะใช้วิจารณญาณเปรียบเทียบกันได้ แต่ก็ไม่พบครับ อาจเป็นเพราะผมหาไม่เก่ง หรือ “อาจารย์กู” มีข้อมูลไม่ครบ หรือยังไม่ค่อยมีงานวิจัยด้านนี้มากพอ...ประมาณนี้แหละครับ ถ้าใครหาเจอ ก็ช่วยนำมาเผยแพร่ด้วยครับ
ผมอยากจะย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ทั้งหมดที่กล่าวถึง เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับบริษัทอเมริกันเท่่านั้น และกลุ่มตัวอย่างก็เป็นอดีตทหารอเมริกัน สำหรับทหารไทย และบริษัทไทย จะได้ผลลัพท์ออกมาทำนองเดียวกันหรือไม่ ก็คงไม่รู้ จนกว่าจะมีนักวิชาการไทยลงมือวิจัยเรื่องนี้ ท่านใดสนใจ ก็ลงมือทำได้เลยครับ
แต่ถ้ายังไม่อยากทำวิจัยเรื่องทหาร จะลองวิจัยเรื่องตำรวจก่อน ก็น่าสนใจเช่นกันนะครับ เพราะเราก็มี ซีอีโอที่เป็นอดีตตำรวจ มากพอสมควร บางคนก็ได้บริหารธุรกิจจนประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศและทั่วโลก มาแล้วด้วย
ผมว่างานวิจัยเรื่องซีอีโออดีตตำรวจ ก็คงมีคนรออ่านอยู่มากเลยนะครับ