องค์ความรู้ - อีกทางเลือกหนึ่งในการเติบโตขององค์กร
โจทย์ที่สำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร คือ การเติบโต หรือ Growth การจะทำให้องค์กรเติบโตอย่างต่อเนื่องนั้นกลายเป็นปัญหาโลกแตก
ที่ชวนปวดหัวของผู้บริหารต่างๆ ยิ่งในปัจจุบันที่ปัจจัยเชิงมหภาคไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งความเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับการถูก Disrupt จากเทคโนโลยีและคู่แข่งใหม่ ทำให้ผู้บริหารจำนวนมากจะต้องเผชิญกับโจทย์สำคัญว่าจะทำให้องค์กรเติบโตต่อไปได้อย่างไร
เท่าที่สังเกตดูแนวทางในการหาการเติบโตขององค์กรต่างๆ ก็มักจะหนีไม่พ้นรูปแบบที่เป็นที่นิยมกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกสินค้าหรือบริการใหม่ๆ หรือ การนำสินค้า บริการเดิม ไปจับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ หรือ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายมากขึ้น หรือ การสร้างธุรกิจใหม่ด้วย Business model ใหม่ หรือ การขยายออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือ การจับลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น หรือ ความพยายามในการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยให้เติบโตขึ้น หรือ การเข้าไปซื้อกิจการอื่นๆ หรือ แม้กระทั่งการเข้าไปลงทุนใน Start up ต่างๆ เป็นต้น
ในปัจจุบัน นอกเหนือจากการเติบโตแบบพิมพ์นิยม (ข้างต้น) แนวคิดล่าสุดทางด้านวิชาการที่ไปศึกษาองค์กรที่ประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างต่อเนื่องนั้นพบว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ผู้บริหารมักจะลืมนึกถึงเมื่อต้องแสวงหาแนวทางในการเติบโตใหม่ๆ นั้นคือเรื่องของการแสวงหาและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ
องค์กรที่ประสบความสำเร็จในอดีต มักจะเป็นองค์กรที่บุกเบิกสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความใหม่ดังกล่าวก็จะถูกลอกเลียนแบบหรือทดแแทนอย่างรวดเร็วจากคู่แข่งขันต่างๆ อีกทั้งลูกค้าเองก็ไม่ได้ตื่นเต้นไปกับสิ่งเดิมๆ ที่องค์กรได้นำเสนออีกต่อไป หลายองค์กรพยายามปรับปรุง พัฒนาสินค้าหรือบริการของตนเองให้ดีขึ้น หลายแห่งก็พยายามที่จะนำ Business model มาใช้ในการทำธุรกิจ แต่ถ้าองค์ความรู้ ยังเป็นความรู้เดิม ก็จะยากที่จะพัฒนาองค์กรให้ยกระดับการเติบโตไปได้ตามที่ผู้บริหารต้องการ
ปัญหาที่ทำให้องค์กรไม่สามารถที่จะนำความรู้ใหม่ๆ เข้ามาบูรณาการกับการทำงานแล้วยกระดับการเติบโตขึ้นไปนั้น หนีไม่พ้นกับความยึดติดในสิ่งเดิมๆ ที่ตนเองมีอยู่ นึกถึงบริษัทชั้นนำหลายแห่งในโลกที่ต้องประสบกับภาวะล้มละลาย สาเหตุหนึ่งคือความไม่ยอมที่จะเปิดรับต่อองค์ความรู้ใหม่ แล้วทำลายธุรกิจเดิมที่ตนเองคุ้นเคยหรืออยู่ด้วยมานาน
ในการปรับเปลี่ยนเพื่อยกระดับการเติบโตขององค์กรนั้น มีหลายๆ คำถามที่ผู้บริหารควรจะต้องตอบอย่างจริงจังและจริงใจ เริ่มจาก 1) องค์ความรู้ในด้านใดที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อธุรกิจขององค์กรในปัจจุบัน บางองค์กรอาจจะเป็นเรื่องของกระบวนการผลิต บางองค์กรอาจจะเป็นเรื่องของการซื้อมาขายไป บางองค์กรอาจจะเป็นเรื่องของความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมลูกค้า เป็นต้น
2) ปัจจุบันตัวองค์ความรู้ดังกล่าว ได้กระจายไปอย่างแพร่หลาย และพัฒนาถึงจุดอิ่มตัวเพียงใด เนื่องจากถ้าองค์ความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในธุรกิจหลักขององค์กร แพร่กระจาย หรือ ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ก็จะเป็นการยากที่องค์กรจะสามารถใช้องค์ความรู้ดังกล่าวในการยกระดับการเติบโตได้อีกต่อไป
องค์กรจะต้องแสวงหาหรือพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่จะเป็นพื้นฐานหลักสำหรับการเติบโตต่อไปในอนาคต ในหนังสือชื่อ Leap ที่เขียนโดย Howard Yu ได้เขียนถึงประเด็นนี้ไว้เช่นกัน และยกตัวอย่างของบริษัท P&G ที่ในยุคแรกทางบริษัทพึ่งพาองค์ความรู้ในด้าน Mechanical Engineering เป็นหลัก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการผลิตสินค้าต่างๆ สำหรับผู้บริโภค แต่ในช่วงหลัง องค์ความรู้พื้นฐานที่สำคัญของบริษัทกลับกลายเป็นเรื่องของ Consumer Psychology ที่ทางบริษัทได้ใช้เป็นอาวุธสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งใช้ในการทำโฆษณาให้ผู้บริโภคมีความต้องการในสินค้าดังกล่าว
ดังนั้นถ้าผู้บริหารเริ่มนึกไม่ออกว่าจะหาทางทำให้องค์กรเติบโตต่อไปอย่างไร นอกเหนือจากการคิดแบบพิมพ์นิยมที่เป็นที่คุ้นเคยกันแล้ว ลองนำเรื่องขององค์ความรู้ (Knowledge) เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคิดด้วย อาจจะทำให้เห็นในมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน