ความหายนะจาก “เหรียญลิบรา” (เฟซบุ๊ค)

ความหายนะจาก “เหรียญลิบรา” (เฟซบุ๊ค)

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียชื่อดังระดับโลก “เฟซบุ๊ค” ได้เปิดตัวเหรียญสกุลเงินดิจิทัลของตนที่มีชื่อว่า “ลิบรา”

ลิบราจะเป็นเหรียญดิจิทัลที่มีค่าคงที่ (Stablecoin) และเพื่อให้เหรียญนี้สามารถทำธุรกรรมได้อย่างแพร่หลายไปทั่วโลก เฟซบุ๊คจึงได้ชักชวนพันธมิตรให้มาร่วมวงช่วยกันสร้างเหรียญลิบรา โดยมีพันธมิตรในขณะนี้แล้วไม่ต่ำกว่า 27 ราย อาทิ Coinbase, Mastercard, Visa, eBay, PayPal, Stripe, Spotify, Uber, Lyft, และ Vodafone เป็นต้น

เหรียญลิบราจะถูกนำไปสร้างระบบธนาคารรูปแบบใหม่ เริ่มจากระบบการโอนเงิน แทนที่จะเป็นดอลลาร์ ยูโร หรือเยน ซึ่งเสียค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยประมาณ 2 – 3% ก็เปลี่ยนเป็นการโอนโดยใช้ลิบราแทนเงินเหล่านั้น และคาดว่าจะเสียค่าธรรมเนียมต่ำกว่า 0.1% ธุรกรรมยังจะเข้าไปถึงระบบการกู้ยืมเงินต่างๆ ที่จะเชื่อมโยงทั้งผู้ให้กู้และผู้กู้ให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น และสามารถใช้เงินลิบราเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม

หนึ่ง เหรียญลิบรา...ไม่มีใครตรวจสอบได้

เฟซบุ๊คได้จดทะเบียนบริษัทและเหรียญดิจิทัลตัวนี้ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ส่วนสาเหตุที่เฟซบุ๊คไม่ยอมจดทะเบียนในสหรัฐซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ก็เพราะว่ากฎระเบียบและหน่วยงานตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ของสหรัฐเข้มข้นมาก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม? เฟซบุ๊คถึงไปจดทะเบียนเหรียญลิบราที่สวิสเซอร์แลนด์แทน นั่นเป็นเพราะ กฎระเบียบที่ผ่อนปรนมากกว่าในสหรัฐ

ประธานธนาคารกลางของสหรัฐ Jerome Powell ถึงกลับออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “เหรียญลิบราได้ก่อให้เกิดความกังวลขึ้นมากมาย อาทิ ความเป็นส่วนตัว การฟอกเงิน การคุ้มครองผู้บริโภค และเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องชี้แจงสู่สาธารณะให้แจ่มแจ้ง ก่อนที่จะดำเนินธุรกรรมใดๆ”

สอง เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ

คุณผู้อ่านคงคุ้นเคยกันดีกับแอปโอนเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Paypal หรือ Venmo จริงอยู่ที่แอปเหล่านี้สามารถโอนเงินได้โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร แต่แอปเหล่านี้เวลาลงทะเบียนก็จะบังคับให้ผู้ใช้งานต้องกรอกประวัติต่างๆรวมถึงข้อมูลบัญชีธนาคาร ดังนั้นการติดตามว่าเงินที่เกิดขึ้นจากธุรกรรมใดๆ จึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ง่าย

ต่างจาก...เหรียญลิบราโดยสิ้นเชิง ลิบราถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการทำธุรกรรมของผู้ที่มีบัญชีและไม่มีบัญชีธนาคาร โดยคาดว่าจะครอบคลุมถึงผู้ที่ไม่มีบัญชีมากกว่า 1.7 พันล้านคน ซึ่งจะทำให้คนยากจนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมการเงินนับตั้งแต่โอนเงินไปจนถึงการกู้เงินได้ และช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนของโลกใบนี้ แต่ในขณะเดียวกัน บรรดาพ่อค้าสินค้าผิดกฎหมาย อาชญากร หรือแม้กระทั่งผู้ก่อการร้ายที่จ้องหาช่องทางการโอนเงินที่ตรวจจับได้ยาก แม้ว่าจะมีระบบตรวจสอบประวัติบุคคลที่เรียกว่า e-KYC ที่จะออกมาอย่างเข้มข้นเพียงใดก็ตาม

สาม ประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจ...จะมีปัญหาหนักหนาขึ้น

คุณผู้อ่านหลายท่านคงทราบดีว่า ภูมิภาคที่การซื้อบิทคอยน์มีอัตราเติบโตมากที่สุดในโลกก็คือ ทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศที่มีปัญหาหนักๆ ไม่ว่าจะเป็นเวเนซูเอลา อาเจนตินา หรือบราซิลก็ตาม ประเทศเหล่านี้มีอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ 10% ถึงเกือบ 300,000% ต่อปี ...ใช่แล้วครับ สามแสนเปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งนั่นก็คือ ประเทศเวเนซูเอลา นั่นเอง

ประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มว่า เงินสกุลของประเทศตัวเองจะมีค่าลดลงเกือบจะทุกวัน ดังนั้นเขาจึงไม่พยายามเก็บเงินสกุลของประเทศตัวเองไว้ ในอดีตประเทศที่มีปัญหามักจะชอบเก็บทองคำ หรือเงินดอลลาร์ แต่มักจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐไปตรวจค้น ปัจจุบันจึงย้ายมาเป็นบิทคอยน์แทน และล่าสุดพบว่า มากกว่า 14 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เริ่มใช้บิทคอยน์ทำการค้าขายระหว่างพรมแดนแล้ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป เงินของประเทศเหล่านี้ก็จะยิ่งด้อยค่าลง เพราะไม่มีคนใช้ และนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหนาขึ้นไปอีก

สี่ ระบบภาษี...พังพินาศ รัฐ...ล่มสลาย

รายได้หลักของรัฐบาลมาจากไหน? คุณผู้อ่านเกือบทุกท่านคงตอบได้แน่นอนว่า มาจากภาษีนั่นเอง ทุกวันนี้รัฐบาลไทยสามารถเก็บภาษีได้จากประชาชนนั้น ธุรกรรมเกือบทั้งหมดจะต้องทำผ่านเงินบาท เพื่อให้รัฐบาลสามารถตรวจสอบได้ และนำไปสู่การเก็บภาษีที่เป็นระบบ

เฟซบุ๊ค กูเกิ้ล และแอปมากมายจากต่างประเทศ ให้คนไทยทำธุรกรรมเป็นเงินบาทผ่านบัตรเครดิตมากมาย เป็นหมื่นๆล้านบาท หรืออาจจะเป็นแสนล้านบาท แต่รัฐบาลไทยยังไม่สามารถเก็บภาษีจากบริษัทต่างประเทศเหล่านี้ได้เลยแม้แต่สลึงเดียว โดยกรมสรรพากรออกมาชี้แจงว่า “การจัดเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มบริการจากต่างประเทศโดยตรง อาทิ เฟซบุ๊คนั้นยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเท่านั้น และแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังมีการจดทะเบียนที่ต่างประเทศ ซึ่งเปิดเป็นแพลตฟอร์มให้บริการกับบุคคลทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้ได้หารือกับองค์กรภาษีระหว่างประเทศแล้ว คาดว่าเรื่องจัดเก็บภาษีจากบริษัทต่างชาติ ยังต้องใช้เวลาศึกษา 1-2 ปี กว่าไทยจะจัดเก็บภาษีได้”

และถ้า...เหรียญลิบรามาจริง และธุรกรรมต่างๆเริ่มโอนย้ายไปใช้เหรียญลิบราแทน เพราะไม่ต้องเสียภาษี คุณผู้อ่านคิดว่าจะมีการย้ายธุรกรรมจำนวนมหาศาลไปหรือไม่? แล้วถ้าย้ายไปใช้เหรียญลิบราแล้ว รัฐบาลไทยจะเก็บภาษีได้น้อยลงไหม? และที่สุด “ระบบภาษี...พังพินาศ รัฐ...ล่มสลาย” จะเกิดขึ้นไหม?

ขอให้คุณผู้อ่านโชคดีในการลงทุนนะครับ

หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ www.doctorwe.com