ความคิดนึก .. สู่ความหายนะ !!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา การศึกษาธรรมในสมัยปัจจุบัน แม้จะหาความสัปปายะได้ยากขึ้น
ด้วยความร้อนแรงของโลกในยุคเทคโนโลยีชั้นสูงมีอิทธิพล แต่กลับพบเห็นตัวธรรมได้ชัดเจนยิ่ง โดยเฉพาะภาวะสุข-ทุกข์ ที่ก่อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในจิตใจของคนเรา
คำว่า “นรก .. สวรรค์” จึงไม่ใช่เรื่องลี้ลับที่ยากจะแลเห็น สมกับมติเรื่องนรก-สวรรค์แท้จริงในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ตรัสว่า...
“ภิกษุทั้งหลาย อันว่าสวรรค์นั้น เราได้พบเห็นมาแล้วว่า อยู่ที่ไหน สวรรค์อยู่ที่เมื่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้สัมผัสสิ่งที่ดีงาม นั่นแหละ เรียกว่า สวรรค์..”
ในทางตรงข้าม ถ้าสัมผัสสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม ก็คือ นรก ... หากจิตปรุงแต่งนึกคิดคำนึงแต่เรื่องที่เลวทราม มีความโกรธ เกลียด พยาบาท ...นรกในจิตใจก็เกิดขึ้น ถ้ามากไปในความโลภเรียกว่าเป็นเปรตแล้ว ด้วยทุกอย่างสำเร็จที่จิต จึงเห็นความเป็นอสุรกาย เมื่อมากไปด้วยความกลัว ยิ่งในความหลง-มากไปด้วยความโง่ ก็กลายเป็นสัตว์ดิรัจฉาน
วันหนึ่ง ๆ ของคนเราที่ขาดสติปัญญา จิตจึงปฏิสนธิวนเวียนไปตามอบายภูมิเกือบครบทุกภูมิ ยากยิ่งที่จะดำรงฐานะของสัตว์มนุษย์ ที่จะต้องเจริญมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง มีศรัทธา มีศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และปัญญา... เพื่อดำเนินชีวิตไปตามแนวกุศลกรรมบถ ๑๐
พระพุทธศาสนาจึงสอนให้รู้จักมองเข้าภายใน เพื่อรู้เท่าทันวาระจิต คือ ความคิดนึกของตน ที่เป็นธรรมดาของจิตใจที่ต้องคิดนึก แต่จะคิดนึกอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ไม่เป็นโทษ ตรงนี้จึงเป็นหลักธรรมปฏิบัติในพระศาสนาว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔
การเจริญสติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นการมองเข้าสู่ภายใน เพื่อรู้ให้แจ่มแจ้งในองคาพยพของชีวิต ที่จำแนกออกเป็นวัตถุ ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญอะไรเลย หากรู้จักกาย-จิตและลมหายใจ
ลมหายใจเข้า-ออก จึงเป็นเครื่องหมายของชีวิต เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของกาย-จิต เป็นวัตถุสำคัญที่สุดที่ควรกำหนดรู้เพื่ออบรมจิต ที่เรียกว่า จิตภาวนา
แม้จะมีเทคนิค วิธีการ มีกองกรรมฐานมากมาย เพื่อให้เหมาะสมตรงกับจริตในแต่ละจิต แต่พอจะอนุยนต์รวมลงในอานาปานสติ กรรมฐานที่ครบทั้งสมถะและวิปัสสนา .. จึงพบเห็นการสั่งสอนให้รู้จักเจริญอานาปานสติในรูปแบบเทคนิควิธีการต่าง ๆ แม้นอกพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ด้วยประโยชน์จากการเจริญสติ รู้ลมหายใจเข้า-หายใจออกในหลายระดับ
อย่างไรก็ตาม การเจริญอานาปานสติของพระพุทธศาสนา มุ่งเน้นสู่กระบวนการวิปัสสนาญาณ จึงมิใช่เป็นเรื่องตื้น ๆ ธรรมดา ๆ อย่างที่นอกศาสนาก็สอนกัน อานาปานสติในพระพุทธศาสนาจึงวางไว้ถึง ๑๖ ขั้น โดยในแต่ละขั้นมีความลุ่มลึกยากจะเข้าใจ ด้วยหัวข้ออุเทศที่ทรงกล่าวไว้เป็นบาลี แต่จะต้องนิเทศลงไปในรายละเอียด ด้วยการพิจารณาโดยแยบคายตามหลักโยนิโสมนสิการ อันเป็นวิธีแห่งปัญญาที่เป็นหัวใจการศึกษาของพระพุทธศาสนา
ในทุกขั้นตอนที่ดำเนินไปตามลำดับ โยงใยกับสติปัฏฐาน ๔ เพื่อการก่อเกิดโพชฌงค์เจ็ด อันเป็นองค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้นั้น จึงมีความประณีตละเอียดแห่งการเจริญสติปัญญา ประกอบความเพียรชอบ ด้วยการใช้หลักโยนิโสมนสิการทุกขั้นตอนอย่างน่าอัศจรรย์
ดังนั้น แท้จริงแห่งการเจริญอานาปานสติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ก็เพื่อการรู้จักใช้กระบวนการโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยแยบคาย เพื่อก่อเกิดปัญญา ด้วยการอาศัยคุณภาพ-ศักยภาพของสติสัมปชัญญะและความเพียรชอบในรูปของ อาตาปี สัมปชานะ และสติมา
วันนี้แห่งสังคมของมนุษยชาติ .. ที่ก้าวไปสู่ความหายนะ เพราะติดกับดักความคิดนึก ด้วยอุปาทานในขันธ์ ๕ หรือการยึดถือความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ..จึงพ่ายแพ้อำนาจกิเลสในรูปตัณหากันอย่างหมดรูป แม้ในหมู่บรรพชิต ด้วยขาดการเจริญสติอย่างถูกธรรมวิธี..
ความวุ่นวายในสังคมของสัตว์โลก ที่ขาดการเจริญสติ ไม่รู้จักวิธีคิดพิจารณาเพื่อปัญญา (โยนิโสมนสิการ) จึงติดกับดักความคิดนึกแห่งกิเลส ให้ดำเนินไปเพื่อการตอบสนองความต้องการ ซึ่งที่สุดจึงนำไปสู่ความรัก-ความชังในโลกอย่างไม่สิ้นสุด .. วนเวียนอยู่เช่นนั้น
ทุกปัญหา มากเรื่องราวจึงเกิดขึ้น ..และยิ่งขึ้นในความวุ่นวายเร่าร้อน จนสังคมไร้ความสงบสุข.. เพราะการคิดนึกที่ผิดแผกไปจากธรรม จนหลอมรวมความนึกคิดลงมาเป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้รู้ผิด เห็นผิด ดำริผิด จึงประพฤติผิดไปจากทำนองคลองธรรม อย่างน่าเสียดายในฐานะสัตว์ประเสริฐที่ได้มา...