Gig Economy : จากแนวคิด สู่ความสำเร็จและกฎหมายที่บังคับ
Gig Economy เป็นคำยอดนิยม ที่ได้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว โดยเป็นคำสมาสระหว่าง Gig ที่เป็นคำสแลง หมายความว่า อาชีพอิสระ
และ Economy ที่แปลว่าเศรษฐกิจ Gig Economy จึงหมายถึง เศรษฐกิจอาชีพอิสระ หรือ เศรษฐกิจอาชีพฟรีแลนซ์ ก็เป็นได้
Gig Economy ในยุคดิจิทัล มักเป็นรูปแบบของ อาชีพฟรีแลนซ์ ที่เชื่อมต่อกับลูกค้าผ่านระบบดิจิตอล เช่น Uber, GRAB หรือ Get ที่ให้บริการการเชื่อมต่อระหว่างผู้กระกอบอาชีพอิสระของการขับรถยนต์โดยสาร มอเตอร์ไซค์ขนส่ง ฯลฯ กับลูกค้า
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายอาชีพฟรีแลนซ์ ที่เริ่มประสบความสำเร็จในรูปแบบของ Gig Economy
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางโอกาส ก็ย่อมต้องมีความเหลื่อมล้ำของกฎหมาย หลายปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการ ในระบบ Gig Economy หลายราย ก็ได้อาศัยช่องว่าง ที่ทำให้ตัวเอง มีข้อได้เปรียบอยู่เหนือคู่แข่ง
- การที่ผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ ไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง และไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดของวิชาชีพนั้นๆเช่นกรณีของ การขับรถยนต์โดยสาร ที่ผู้ประกอบอาชีพอาจไม่ได้ขออนุญาต เมื่อเปรียบกับการให้บริการรถแท็กซี่ ที่มีการควบคุมด้วยกฎหมาย และนำไปสู่ภาระเพิ่มเติมต่างๆ
- การที่ผู้ให้บริการ ในระบบ Gig Economy ไม่ได้บรรจุผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์เป็นพนักงานของบริษัททำให้สามารถหลีกเลี่ยงภาระทางด้านสวัสดิการ ฯลฯ ที่ถูกบังคับด้วยกฎหมาย และมาจากการบริหารจัดการพนักงาน หรือกระทั่งสามารถหลีกเลี่ยงการที่มีตัวตนอยู่ในประเทศ โดยจดทะเบียนนิติบุคคลอยู่ในต่างประเทศ อย่างเช่น สิงคโปร์ หรือ ไอร์แลนด์ เพื่อหลีกเลี่ยงภาระทางภาษีและกฎหมายอื่นๆ
ช่องว่างของกฎหมาย ในข้อที่ 1. มักปรากฎเป็นข้อพิพาท ที่ได้เห็นตามข่าวอยู่เป็นเนื่องๆ เช่นระหว่าง ผู้กระกอบอาชีพฟรีแลนซ์ที่ขับรถยนต์โดยสาร เริ่มตั้งแต่ยุคของ Uber ที่อาจไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง Vs. ผู้ให้บริการรถแท็กซี่ ที่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง เรื่องราวดังกล่าว ได้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับบทสรุป ทั้งยังมีข้อถกเถียงจากอีกด้านหนึ่งว่า การขออนุญาตอย่างรถแท็กซี่ ยังมีความจำเป็นอีกต่อไปหรือไม่ ในเมื่อ ผู้ให้บริการ ในระบบ Gig Economy อาจสามารถให้ความปลอดภัยกับผู้โดยสาร ได้ดียิ่งกว่าผู้ให้บริการรถแท็กซี่ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
จนกระทั่งกลายเป็นนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองหนึ่ง ที่นำเสนอว่า จะผลักดันให้ GRAB ถูกกฎหมาย
สำหรับในข้อที่ 2. ได้มีการเรียกร้องในหลากหลายสถานการณ์ ให้ ผู้ให้บริการ ในระบบ Gig Economy ต้องบรรจุเหล่าบรรดาฟรีแลนซ์ เข้าเป็นพนักงานของบริษัท เช่นให้ Uber ต้องบรรจุผู้ขับรถยนต์โดยสาร เข้าเป็นพนักงานของบริษัท และได้รับการคุ้มครองในด้านของสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงานต่างๆ เพราะเนื่องจากผู้ขับรถยนต์โดยสาร แม้จะประกอบอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ แต่ก็ทุ่มเทจำนวนชั่วโมงให้กับ Uber ไม่แพ้กับพนักงานประจำ
สวัสดิการและสิทธิประโยชน์เหล่านี้ อาจรวมไปถึง ประกันการว่างงาน การรักษาพยาบาล การมีรายได้ระหว่างลาคลอดบุตร ค่าโอเวอร์ไทม์ อัตราจ้างต่อชั่วโมงขั้นต่ำ และสำคัญที่สุด สิทธิในการตั้งสหภาพแรงงาน
ล่าสุด คณะกรรมการของวุฒิสมาชิกแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้โหวตผ่านกฎหมาย AB 5 ที่กำหนดให้ บริษัท จะต้องบรรจุฟรีแลนซ์ที่เข้าเงื่อนไข เข้าเป็นพนักงานบริษัท ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าว ผ่านการโหวตในวุฒิสภา อาจส่งผลให้ ผู้ให้บริการ ในระบบ Gig Economy อย่างเช่น Uber จะต้องบรรจุฟรีแลนซ์ อย่างเช่น ผู้ขับรถยนต์โดยสาร เข้าเป็นพนักงานบริษัท และจะส่งผลลบเป็นอย่างยิ่งต่อการบริหารต้นทุนของบริษัท
ทุกเหรียญมีอยู่สองด้าน ความได้เปรียบทางการแข่งขัน ที่ได้มาจากการอาศัยช่องว่างของกฎหมาย ย่อมไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะในที่สุด ก็ต้องมีความพยายาม ที่จะปิดช่องว่างนั้นลง เพื่อนำไปสู่การแข่งขัน ในโลกที่ทีความเสรีเป็นธรรมและมีความยั่งยืน
แม้แต่กรณีที่ผู้ให้บริการ ในระบบ Gig Economy อาจหลีกเลี่ยงการมีตัวตนอยู่ในประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีและภาระต่างๆ ก็เริ่มถูกปราบปราม โดยกฎหมายใหม่ ที่ถูกขนานนามว่า Google Tax และกำลังทยอยออกในนานาอารยประเทศ เพื่อจัดการธุรกิจข้ามชาติจากสหรัฐ
ธุรกิจใหม่ในระบบดิจิทัล นำมาสู่ความสลับซับซ้อนแบบใหม่ การบริหารจัดการ หรือควบคุม เพื่อให้เกิดความเสรีเป็นธรรมและมีความยั่งยืน ก็ต้องอาศัยนวัตกรรมทางการกำกับดูแลเช่นกัน