พลวัตการเมืองประเทศเพื่อนบ้าน: บทเรียนสังคมไทย[1]
ปัจจุบันการเมืองใน 3ประเทศสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กำลังเผชิญความท้าทายที่สำคัญ
สะท้อนจากแบบแผนพฤติกรรมและการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ที่ในระยะหลังเกิดปรากฏการณ์กลุ่มชนชั้นนำและพรรคการเมืองที่ครองอำนาจอยู่เดิมสูญเสียอำนาจไป จนไม่อาจครองสถานะการผูกขาดทางการเมืองเหมือนแต่เดิม กลายเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มิได้หยุดนิ่ง ที่ประชาชนและนักการเมืองกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มีพลวัต และสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม
2 ประเด็นสำหรับเข้าใจพลวัตการเมืองใน 3 ประเทศนี้ เพื่อถอดบทเรียนสำหรับสังคมไทย คือ ประเด็นพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ระบบพรรคการเมืองมีความแตกต่างกันอันเนื่องมาจากปัจจัยทางประวัติศาสตร์ แต่บทเรียนที่สำคัญคือ การสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและคุณภาพของการเมืองในทั้ง 3 ประเทศ ระบบพรรคการเมืองที่มีความกระจัดกระจายจะส่งผลให้ระบบการเมืองมีความอ่อนแอ เห็นได้ชัดเจนจากฟิลิปปินส์ ซึ่งพรรคการเมืองที่อ่อนแอเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การแข่งขันทางการเมืองที่เน้นตัวบุคคลมากกว่านโยบาย เกิดปัญหาระบบอุปถัมภ์ การซื้อเสียง และความรุนแรงทางการเมืองซึ่งเป็นการหาเสียงรูปแบบเก่า ในขณะที่การแข่งขันด้วยนโยบายจะทำให้การเมืองมีความสร้างสรรค์และประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า ทั้งไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง ซึ่งการจะมีการเมืองเชิงนโยบายได้ ก็ต้องพัฒนาพรรคการเมืองให้มีความเป็นสถาบันทางการเมือง
ฉะนั้นสังคมไทยควรจะมุ่งเน้นการทำให้สถาบันพรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง เป็นสถาบันที่สะท้อนผลประโยชน์ของประชาชนและเป็นแหล่งที่มาของการผลิตนักการเมืองที่มีคุณภาพและนโยบายสาธารณะที่ดี ทั้งนี้การจะทำให้ระบบพรรคการเมืองมีความเข้มแข็งได้นั้นต้องมาจากการออกแบบระบบเลือกตั้งที่ดี ควรมาจากการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง มีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ระบบเลือกตั้งมีความเหมาะสมกับบริบทของสังคมและสะท้อนผลประโยชน์ของคนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคการเมือง ซึ่งสังคมไทยเคยทำได้ดีในช่วงการปฏิรูปการเมืองจนสำเร็จออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ(รธน.) ฉบับ 2540 น่าเสียดายว่าในการร่าง รธน. 2550 และ 2560 ผู้ร่างได้ละทิ้งหลักการเรื่องการมีส่วนร่วมออกไป ทำให้ระบบเลือกตั้งในปี 2550 และ 2560 มีส่วนทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงกว่าเดิม เช่นเดียวกับในอินโดนีเซียที่มีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งในระยะหลัง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดการแข่งขันภายในพรรค ระบบมุ้งการเมือง และระบบอุปถัมภ์ส่วนบุคคลเพิ่มสูงขึ้น ฉะนั้นสังคมไทย ต้องปฏิรูประบบเลือกตั้งครั้งใหม่ ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมและมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันพรรคการเมือง
ประเด็นเรื่องการจัดการเลือกตั้งก็นับว่ามีความสำคัญ จากบทเรียนของทั้ง 3 ประเทศ มาเลเซียเป็นประเทศที่มีความบกพร่องมากที่สุดในการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ทำให้ประชาธิปไตยของมาเลเซียที่ผ่านมาในอดีตไม่พัฒนา เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ขาดความเป็นอิสระและความเป็นกลาง หลังพรรคแนวร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยมหาเธร์ โมฮัมหมัด ชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.2561
วาระสำคัญที่เร่งผลักดันคือการปฏิรูประบบเลือกตั้งและ กกต. ประเทศไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบกระบวนการได้มาซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นกลาง มากกว่ากระบวนการสรรหาแบบที่เป็นอยู่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม สำหรับโมเดลที่ดีคือ โมเดล กกต. อินโดนีเซีย ที่มีการออกแบบกลไกในการคัดสรรและแต่งตั้งอย่างดี ทำให้มีการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และระบบพรรคการเมืองหลายพรรคทำให้ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครอบงำ กกต.ได้ และยัง ทำให้การจัดการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพและความชอบธรรมสูง
นอกจากนี้ กกต.ของอินโดนีเซียยังทำงานใกล้ชิดกับภาคประชาสังคม มิใช่กีดกัน หรือมององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการเลือกตั้งเป็นคู่แข่งเฉกเช่นที่เกิดในมาเลเซีย ฉะนั้น กรรมการการเลือกตั้งของไทยสามารถนำโมเดลอินโดนีเซียมาใช้ได้ โดยเฉพาะการสนับสนุนระบบอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งของเยาวชนและประชาชนทั่วไป
บทเรียนอีกประการหนึ่งคือ ต้องมีการเชื่อมโยงการเมืองระดับชาติเข้ากับการเมืองท้องถิ่น ผ่านการกระจายอำนาจที่ให้บทบาทและอำนาจกับท้องถิ่นอย่างแท้จริง ดังที่พบในอินโดนีเซีย การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ทางการเมืองที่สำคัญมากสำหรับประชาชน เป็นการสร้างประชาธิปไตยจากเบื้องล่าง นอกจากนั้นยังเป็นการคัดสรรและสร้างผู้นำรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาจากระดับล่างด้วย เช่น กรณีประธานาธิบดีโจโค วิโดโดของอินโดนีเซีย ในระยะหลังชนชั้นนำของไทยมองการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการเลือกตั้งท้องถิ่นในแง่ลบว่าเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ซึ่งถือว่าเป็นการมองปัญหาด้านเดียวและไม่สอดคล้องกับทิศทางของการกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นในโลก ปัญหาคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในการเมืองท้องถิ่นเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข แต่วิธีแก้ปัญหามิใช่การกลับมารวมศูนย์อำนาจเข้าสู่รัฐราชการส่วนกลาง และลดระดับความเป็นประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น วิธีแก้ปัญหาคือการส่งเสริมประชาธิปไตยและการแข่งขันทางการเมืองในท้องถิ่นให้เพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับทำให้ระบบพรรคการเมืองมีความยึดโยงกับประชาชนจากเบื้องล่าง
[ บทความนี้สรุปจากเนื้อหาบางส่วนของงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง “พลวัตทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน: ศึกษาเปรียบเทียบประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ]
โดย...
ประจักษ์ ก้องกีรติ
นักวิจัย ฝ่าย 1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สกสว.