เราซีเรียสกับการวางแผนเกษียณกันแค่ไหน
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน ช่วงนี้ภาวะตลาดทุนยังค่อนข้างอ่อนไหว เปราะบาง ขาดทิศทางที่แน่ชัด
เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างที่นักลงทุนจับตามองยังขาดความชัดเจนไม่ว่าจะเป็นผลของการเจรจาสงครามการค้าทีพลิกกลับไปกลับมา ทิศทางของนโยบายทางการเงินของหลายประเทศทั้งอเมริกา ยุโรป รวมถึงความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ดังนั้นการลงทุนในช่วงนี้ก็ควรอยู่ในโหมดของการระมัดระวัง และยึดหลักของการกระจายความเสี่ยงให้มั่นใจเอาไว้ก็น่าจะช่วยทำให้พอร์ตการลงทุนของเราเติบโตได้
เมื่อวันก่อนผมได้อ่านบทความที่แชร์กันมาผ่านช่องทางไลน์ เรื่องของปัญหาของผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น ก็เลยไปค้นหาเพิ่มเติมจากกูเกิ้ลเลยทราบว่ามาจากบทความของผู้จัดการออนไลน์ “ล้มละลายยามชรา เมื่ออายุยืนคือฝันร้าย” วิกฤติสังคมญี่ปุ่น ซึ่งน่าจะมาจากหนังสือที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง สะท้อนสังคมญี่ปุ่น ที่ “อายุมั่นขวัญยืน” ไม่ใช่ความสุขอีกต่อไป ผู้สูงอายุหลายคนต้องทำงานจนแก่ ขณะที่อีกหลายคนต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ตายอย่างอ้างว้าง ฟังดูแล้วค่อนข้างหดหู่แต่ก็ทำให้เราต้องกลับมาตระหนักถึงความเป็นจริงที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศของเราในอนาคตให้จริงจังยิ่งขึ้น
โดยเนื้อหาหลักๆในบทความได้กล่าวว่าปัจจุบันคนญี่ปุ่นที่มีอายุมากกว่า 100 ปี (ที่เราน่าจะได้ยินข่าวกันบ่อยๆถึงการมีอายุยืนของคนญี่ปุ่น) จะมีมากกว่า 7 หมื่นคน โดยปัจจัยน่าจะมาจากทั้งความก้าวหน้าทางการแพทย์และการให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพ ซึ่งฟังดูก็เหมือนจะเป็นสิ่งดี แต่การที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและมีสัดส่วนของผู้สูงวัยหรือคนที่อายุมากกว่า 60 ปีถึงประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด จะเริ่มเป็นปัญหาที่ใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆของญี่ปุ่น โดยกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นประเมินว่าครอบครัวของผู้สูงวัยสามีภรรยาต้องมีเงินเก็บมากกว่า 20 ล้านเยนหรือประมาณเกือบๆ 6 ล้านบาทสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ซึ่งนี่ไม่นับรวมจากเงินสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับทุกเดือนหลังหยุดทำงาน ซึ่งตัวเลขนี้ก็ใกล้เคียงกับตัวเลขของประเทศไทยที่บอกว่าเราควรมีเงินเก็บมากกว่า 4 ล้านบาทต่อคนสำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณ
ซี่งปัจจุบันคนในวัยทำงานเป็นปัจจัยหลักที่ยังช่วยประคับประคองสังคมผู้สูงวัยในญี่ปุ่นอยู่และทางรัฐบาลเองก็พยายามหามาตรการต่างๆเพื่อรองรับปัญหาของสังคมผู้สูงวัย เช่นการยืดอายุการทำงาน ยืดอายุเงินสำรองเลี้ยงชีพ ลดสวัสดิการ หรือเก็บภาษีเพิ่ม แต่ปัญหานี้จะยิ่งวิกฤติมากขึ้นในอนาคต โดยในปี 2040 หรืออีกประมาณ 20ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนที่มากที่สุดและจะเป็นปัญหาที่หนักเมื่อคนทำงานในปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและจากการที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นมีน้อยลงจะทำให้ จำนวนผู้สูงวัยกว่า 1 ใน 4 ต้องอยู่คนเดียวโดยไม่มีบุตรหลานคอยดูแล
สำหรับประเทศไทยที่เพิ่มเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเราอาจจะยังไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแต่ถ้าเราดูประเทศญี่ปุ่นเป็นบทเรียน ภาครัฐและตัวของเราเองน่าจะเริ่มจริงจังกับการวางแผนเพื่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพื่อทำให้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยได้อย่างมีคุณภาพ และจะได้ไม่เกิดปัญหาทางสังคม (เช่นที่เราเคยได้ยินข่าวที่คนสูงอายุในญี่ปุ่นยอมทำผิดเพื่อจะได้เข้าไปอยู่ในคุก) อย่างที่เกิดในประเทศอื่น
ถ้าเราอยากมีชีวิตหลังเกษียณอย่างมีคุณภาพ เช่น สามารถกินดื่มนอกบ้านได้ มีสันทนาการ พบปะเพื่อนฝูง ไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศกับเพื่อน ๆ หรือลูกหลาน ออกกำลังกายและเข้าตรวจสุชภาพอยู่เป็นประจำเพื่อให้เรามีชีวิตที่ดีและอยู่ได้อย่างยืนยาว (ยิ่งอายุยาวขึ้น แข็งแรงขึ้น ก้ต้องเตรียมเงินเพิ่มขึ้น) ประกอบกับเมื่อพิจารณารวมถึงผลกระทบของเงินเฟ้อเมื่อตอนยที่เราเกษียณ จะพบว่าเงิน 4 ล้านบาทที่เป็นเงินขั้นต่ำที่เราควรมีก่อนเกษียณเป็นจำนวนเงินที่อาจไม่เพียงพอ
ดังนั้นผมอยากให้พวกเราเริ่มซีเรียสกับการวางแผนเกษียณกันมากขึ้น รวมถึงบอกกล่าวคนรอบข้างของเราให้เริ่มตะหนักในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น แค่นี้ผมก็คิดว่าน่าจะมีประโยชน์และเป็นการช่วยลดภาระหรือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในบ้านเราในอนาคตได้ทางหนึ่ง และท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีกับการลงทุนนะครับ