ความสุขนั้นคืออย่างไร

ความสุขนั้นคืออย่างไร

ในช่วงเวลาก่อนขึ้นปีใหม่อันเป็นเทศกาลแห่งความสุขนั้น หากเราสะท้อนคิดเรื่องความสุขกันน่าจะให้ประโยชน์เกินกว่าการเลี้ยงฉลองแต่เพียงอย่างเดียว ในเบื้องต้นสิ่งที่มนุษย์คิดกันเรื่องความสุขก็คือการกินดีอยู่ดี มีเงินใช้ มีสิ่งของสร้างความสะดวกสบาย (เเละมีอุปกรณ์ไอทีพร้อม) สุขภาพดี มีเพื่อนดี มีครอบครัวดี รู้สึกมั่นคงในชีวิต ฯลฯ อย่างไรก็ดี มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มองความสุขแตกต่างออกไป และมีวิธีสร้างความสุขที่หลากหลายอย่างน่าสนใจ

แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องความสุขก็คือ การไม่มุ่งไปที่เป้าหมายว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขดังที่เราคิดกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น มีเงินใช้ ได้เป็นเจ้าของสิ่งของต่างๆ ดังใจปรารถนา ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับ ฯลฯ หากมุ่งไปที่การกระทำ พูดง่ายๆ ก็คือความสุขคือการได้รับประสบการณ์ที่มีความหมายต่อชีวิตมากกว่าที่จะเป็นว่าได้รับสิ่งของหรือความสำเร็จ ความสุขอยู่ที่มรรค (means) มิใช่อยู่ที่ ends (เป้าหมายสุดท้าย) 

ประสบการณ์เช่นว่านี้ได้แก่การเรียนรู้ใหม่ สะสมความเข้มแข็งของจิตใจ ได้กระทำสิ่งที่เสริมคุณค่านำทางชีวิตที่ตนเองเชื่อ ฯลฯ หรือพูดอีกอย่างว่าความสุขเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง มิใช่เกิดขึ้นจากการเดินทางถึงเป้าหมาย การมองความสุขในแนวนี้จะทำให้ไม่เกิดความเครียดเพราะเกรงจะไม่บรรลุเป้าหมาย มันทำให้เกิดความสุขได้ตลอดเวลาจากการกระทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตโดยไม่ทำให้ความสุขไปขึ้นอยู่กับการบรรลุเป้าหมาย

อีกแนวหนึ่งของการมองความสุขก็คือ อย่ามุ่งไปที่ “ความสุขใหญ่” เช่น การบรรลุความสำเร็จ ความมั่งคั่งร่ำรวย หากมองไปที่ ความสุขเล็กๆ ในแต่ละวันด้วย เช่น ได้ฟังเพลงโปรด ให้ทางแก่รถคันอื่น เปิดประตูลิฟต์ให้คนอื่น ได้กินอาหารที่ชอบ ยิ้มให้คนอื่น ส่งโน้ตขอบคุณหากใครทำอะไรให้ ฯลฯ ความสุขเกิดขึ้นได้เสมอด้วยการกระทำของตัวเราเอง และไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ความสุขเหล่านี้จะสะสมกันไปเองเป็นความสุขภายในส่วนตัว หากเอาความสุขไปขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ภายนอกการควบคุมอาจไม่พบความสุขเลยก็เป็นได้

อีกกลุ่มมองว่าควรมุ่งหาความสุขที่มีความหมาย กล่าวคือควรมีความสุขที่อยู่เหนือกว่าความพึงพอใจ กล่าวคือความสุขมาจากการได้กระทำสิ่งที่สอดคล้องกับคุณค่านำทางชีวิตของแต่ละคน เช่น คุณธรรม เมตตาธรรม การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น กตัญญูกตเวที ฯลฯ การกระทำเช่นนี้จะนำไปสู่ความสุขที่เหนือกว่าความพึงพอใจ

ยังมีแนวหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งได้เเก่ การมองว่าความสุขไม่ใช่สถานะหนึ่งที่คงที่ มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มีทั้งขึ้นทั้งลงเเละระหว่างทางชีวิตมีความไม่สบาย ความเศร้า ความไม่แน่นอน ฯลฯ ตอนนี้เป็นสุขต่อไปความทุกข์ก็จะมาเยือน ต้องเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เสมอ

แนวสุดท้ายที่น่าสนใจก็คือ การมองว่าความสุขเกิดจากความพอใจกับสิ่งที่มีอยู่และสิ่งที่เป็นอยู่ ความสุขที่แท้จริงมิได้มาจากความหวือหวา บรรลุเป้าหมายอย่างสมใจ หากมาจากการรู้สึกพอใจกับที่เป็นอยู่ซึ่งทำให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคง ไม่จมอยู่กับความโลภซึ่งสร้างความสุขให้ในเวลาสั้นๆ แต่อาจนำไปสู่ปัญหาในชีวิตได้อีกมากมาย กล่าวโดยสรุปก็คือไม่มีหนึ่งความหมายตายตัวของความสุข แต่ละคนต้องให้คำจำกัดความเองตามรสนิยมและความเชื่อ แต่ละความหมายของความสุขนำไปสู่การดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน การตระหนักรู้ถึงผลดีและผลเสียต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตจากการแสวงหาความสุขตามเเนวที่ตนเองเข้าใจเเละปรารถนาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การสะท้อนคิดของชาวโลกเมื่อปีใหม่มาถึงนั้น มักมุ่งพิจารณาว่าในปีที่ผ่านไปนั้นมีสิ่งใดที่ผิดพลาดอันควรแก่การแก้ไขโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีความตั้งใจกระทำให้เกิดผลในปีใหม่ดังที่เรียกกันว่า New Year’s Resolutions ซึ่งมีประวัติย้อนหลังไปนับพันๆ ปี อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันพบว่าชาวโลกโดยทั่วไป 35-40% มีความมุ่งมั่นดังกล่าว แต่ในจำนวนนี้มีผู้กระทำสำเร็จสมความปรารถนาเพียง 8-20% เท่านั้น

 นักจิตวิทยาจึงมองว่า New Year’s Resolutions ก่อให้เกิดความเครียดโดยไม่จำเป็นในตลอดเวลาของปีใหม่และส่วนใหญ่ก็ไม่สำเร็จอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเสนอทางเลือกใหม่ดังนี้

(1) ให้เลือกสักคำและท่องไว้ในใจในการตัดสินใจต่างๆ ตลอดปีใหม่ เช่น “มีน้ำใจ” “กินอาหารน้อยลง” “น้ำตาลน้อยลง” “เห็นใจคนอื่น” การประกบคำนี้เสมอกับสิ่งที่ตัดสินใจจะทำให้บรรลุผลที่ต้องการได้ (2) มีเป้าหมายในแต่ละเดือนที่สามารถบรรลุได้ เช่น ม.ค.-สมาธิวันละ 10 นาที / ก.พ.-เดินวันละ 5,000 ก้าว ฯลฯ การเปลี่ยนเป้าหมายในแต่ละเดือนจะไม่ทำให้เบื่อหน่ายโดยมีสิ่งท้าทายใหม่เสมอ (3) สะท้อนคิดสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาและถามคำถามที่ต้องคิดลึกๆ เช่น ฉันภูมิใจอะไรในตัวเอง อะไรที่ควรปล่อยวาง อะไรที่ทำให้มีความสุข 

 (4) เขียนรายการที่ต้องการมีประสบการณ์ หรือมีการกระทำโดยไม่มีการคาดหวังและไม่มีกำหนดเวลา เช่น ไปเที่ยวสถานที่ใหม่ๆ เรียนรู้งานอดิเรกใหม่ เรียนรู้ AI สัก 2 แอปพลิเคชัน ฯลฯ (5) จดบันทึกสิ่งที่รู้สึกนึกขอบคุณสัก 3 อย่างในแต่ละวัน และถามคำถามว่าทำไมตนเองจึงได้รับสิ่งนั้นๆ การเน้นการนึกถึงบุญคุณสิ่งต่างๆ และบุคคลต่างๆ จะทำให้เกิดกรอบความคิด (mindset) ที่เป็นบวก และตระหนักการกระทำของตนเองมากขึ้น

(6) ตั้งใจเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างน้อยหนึ่งอย่างในปีใหม่ในเรื่องทักษะหรืองานอดิเรก เช่น ทำอาหาร วาดภาพ เรียนภาษาใหม่ (7) พยายามสร้างนิสัยที่นำไปสู่การ “ดีขึ้น” ในระยะยาว โดยไม่มุ่งเป้าหมาย หากเน้นวิธีการ เช่น ไม่เน้นลดน้ำหนัก หากเน้นการสร้างนิสัยที่กินอาหารน้อยลงและมีคุณค่า (8) เช็คเสมอว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นนำไปสู่ประโยชน์ในระยะยาวหรือไม่ วิธีการทั้งหมดนี้ให้ความคล่องตัว ให้ความสนุกสนาน และช่วยให้เดินไปสู่การพัฒนาตนเองในที่สุดได้อย่างมีความเครียดน้อย

เราสามารถสร้างความสุขได้ด้วยตนเองเสมอ ตราบที่เราไม่เอาความสุขไปแขวนไว้กับสิ่งภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เราหาความสุขจากทุกสิ่งที่เรามีไม่ว่ามากน้อยเพียงใดได้ทันทีโดยไม่ต้องคอยให้มีมากเสียก่อนจึงจะมีความสุข พูดอีกอย่างก็คือจงหาความสุขจากสิ่งที่มีเเทนที่จะไปมีความทุกข์กับสิ่งที่ยังไม่มี