3 เมกะเทรนด์พัฒนาอสังหาฯปี68 สุขภาวะที่ดี อารยสถาปัตย์ เทคโนโลยีรักษ์โลก
LWS เปิด 3 เมกะเทรนด์การพัฒนาอสังหาฯปี68 สุขภาวะที่ดี -อารยสถาปัตย์ -เทคโนโลยีรักษ์โลก รองรับกลุ่มผู้อยู่อาศัยทุกเจเนอเรชันจากการปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของโลกที่หลายประเทศก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด เปิดเผยถึงแนวโน้มการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 ว่า เป็นปีของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบมีนัยสำคัญที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ส่งผลต่อการอยู่อาศัยของประชากรประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฏหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 – 2569 และปี 2568 จะเป็นการขับเคลื่อน Thailand Taxonomy ในระยะที่สอง
ซึ่งภาคอสังหาฯ และการก่อสร้างเป็นภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มนี้ ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของโลกที่หลายประเทศก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งองค์การสหประชาชาติคาดว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด คือมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุ(อายุเกิน 60 ปี) เกิน 20% ของจำนวนประชากรของประเทศในปี 2573 โดยปัจจุบันประชากรสูงอายุของไทยคิดเป็นสัดส่วนถึง 18.3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเร็ว และมีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่สร้างฉากทัศฯใหม่ในการใช้ชีวิตของผู้คน ทั้งด้านการทำงานและความเป็นอยู่ รวมไปถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2566 ถึงปัจจุบัน และคาดว่าจะต่อเนื่องไปในปี 2568 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละประเทศ
ทั้งนี้จากปัจจัยดังกล่าว LWS ได้เปิด 3 เมกะเทรนด์สำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2568 ประกอบด้วย การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงสุขภาวะที่ดี (Well-Topia), การออกแบบเพื่อคนทุกวัย(Universal Design)หรืออารยสถาปัตย์ และการออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Technology & Environment)
การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงสุขภาวะที่ดี (Well-Topia)
เป็นแนวทางในการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการอยู่อาศัยเพื่อสุขภาวะที่ดี ทั้งการเลือกใช้วัสดุและการออกแบบที่ดีต่อสุขภาพ รวมไปถึงการสร้างชุมชน (Community) เพื่อตอบโจทย์การอยู่อาศัยรวมกันของคนทุกวัย โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย พื้นที่สีเขียวที่เพียงพอ, สวนขนาดเล็ก (Pocket Park), พื้นที่พักผ่อนของผู้สูงวัย (Senior Playground), ใกล้แหล่งร้านค้าสะดวกต่อการเดินทาง, มี AI ช่วยตรวจสอบความปลอดภัยในเส้นทางการเดิน และมีบริการทางการแพทย์ที่รอบด้าน รวมไปถึงการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยที่ทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเทคโนโลยี แบบ 24 ชั่วโมงใน 7 วัน และออกแบบพื้นที่ส่วนกลางที่ตอบโจทย์กับคนทุกเพศและทุกวัย
การออกแบบสำหรับคนทุกวัยเพื่อความยั่งยืนในการอยู่อาศัย (Universal Design for Sustainable living)
ปัจจุบันความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น ผนวกกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้แนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อคน
ทุกเพศและทุกวัย เช่น การสร้างป่าในเมือง (Urban Forest),อาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม,แหล่งพลังงานสะอาด และกลยุทธ์การลดขยะ การเกษตรในเมือง และสวนชุมชนจะกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น รวมถึงการนำธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่อยู่อาศัย ในขณะเดียวกัน พื้นที่ใช้งานในแต่ละพื้นที่ต้องมีความยืดหยุ่น และหลากหลาย (Multifunctional Spaces) เช่น
ห้องทำงานปรับเป็นห้องนอนได้ หรือพื้นที่กลางแจ้งที่สามารถใช้เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ รวมไปถึงความยืดหยุ่นทางด้านเวลาใช้งานด้วย เช่น Fitness 24 ชั่วโมง, Co-Working 24 ชั่วโมง รวมไปถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง
การออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Technology & Environment)
ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในภาวะที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนสู่การเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำตามข้อตกลงปารีส หรือ COP 21 ที่ลงนามร่วมกัน 197 ประเทศในปี 2558 – 2559 เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาในปี 2570 ทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2568 ผู้ประกอบการอสังหาฯจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการออกแบบ การเลือกวัสดุ การก่อสร้าง รวมไปถึงการอยู่อาศัยที่ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการลดปริมาณขยะในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน การนำเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานมาใช้ในพื้นที่อาคาร เช่น การนำเทคโนโลยี Solar Cell มาใช้ในพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว, ติดตั้งจุด EV Charger มีจุดคัดแยกขยะ เป็นต้น
ทั้งนี้จากการสำรวจของ LWS ในเดือนตุลาคม 2567 โดยมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 670 คน พบว่า ผู้สนใจซื้ออาคารชุดให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเป็น 38% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้มีการคัดแยกขยะ ถัดมา 32% ต้องการให้โครงการใช้พลังงานไฟฟ้าจาก Solar Cell เข้ามาทดแทนการไฟฟ้าในพื้นที่ส่วนกลาง
นอกจากนี้ยังพบว่าสัดส่วนความต้องการเทคโนโลยีภายในที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้สูงอายุมีมากถึง 70% อาทิ Home Automation, ระบบแจ้งเตือน, ระบบกล้อง ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาฯได้มีความใส่ใจตั้งแต่การออกแบบด้วย Universal Design มีเทคโนโลยี IoT ภายในที่อยู่อาศัย รวมถึงงานบริการ เช่น รถรับ-ส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง, ดูแลผู้สูงอายุ