Social Lab ออกแบบโซลูชั่นให้สังคมได้จริงหรือ

Social Lab ออกแบบโซลูชั่นให้สังคมได้จริงหรือ

ห้องทดลอง - ห้องปฏิบัติการ หรือ Laboratory เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันว่าเป็นสถานที่เรียนรู้และทำงานของผู้คนในสาขาวิทยาศาสตร์

ผลผลิตที่ได้จากห้องนี้ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดนวัตกรรม การค้นพบใหม่ๆ และความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอัตราเร่ง

สังคมส่วนใหญ่มักมีภาพ ห้องปฏิบัติการไม่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาและความท้าทายทางสังคม ทั้งที่ ปัญหาสังคมและโจทย์สำคัญๆ ของผู้คนที่เผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนในยุคนี้ต่างก็ต้องการคำตอบใหม่ๆ ไม่แพ้วงการวิทยาศาสตร์เช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม สังคมผู้สูงอายุ ความเป็นเมือง ครอบครัว สังคมยุคดิจิทัล ความปรองดองและการอยู่ร่วมกันในสังคมยุคใหม่ เป็นต้น

ปรากฎการณ์ของ Social Lab เกิดขึ้นจำนวนมากในประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งโดยการจัดตั้งขึ้นจากรัฐบาลส่วนกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่น เช่น Helsinki Design Lab ในฟินแลนด์ หรือ MindLab Living Labs ในเดนมาร์ค หรือ SociaLab ในชิลี และที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา เช่น Harvard Innovation Labs, MIT Media Lab, MIT Community Innovators Lab และ Stanford Change Labs เป็นต้น ทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดจึงเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นหรืออีกนัยยะหนึ่งห้องปฏิบัติการทางสังคมมีความสำคัญกับสังคมอย่างไร

Social Lab ถูกคาดหวังให้เป็นแพลตฟอร์มการค้นพบทางออกหรือโซลูชั่นให้กับสังคมในมิติต่างๆ ในโลกยุคที่สภาพแวดล้อมและความท้าทายทางสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้มนุษย์ยังสามารถคาดเดาผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงได้ยากขึ้น พื้นที่หรือบริบททางสังคมที่ต่างกันก็มีผลกระทบทางสังคมในระดับและรูปแบบที่ต่างกัน ความท้าทายชุดต่างๆ ยังมีการตอบสนองจากสังคมในรูปแบบที่แตกต่างกันจากบริบทที่แตกต่างกัน

ทุกวันนี้ การแก้ปัญหาและรับมือกับความท้าทายทางสังคมด้วยการใช้แนวคิดทฤษฎี งานวิจัย หรือนโยบายที่ประสบความสำเร็จในอดีตแม้จะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่อาจไม่เพียงพอสำหรับการรับมือกับสภาพความท้าทายที่สังคมที่ซับซ้อนในปัจจุบันและอนาคต Social Lab จึงเป็นหนึ่งในความหวังที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น

ในอนาคตocial Lab คืออะไรและเหมาะกับงานแบบไหน

Social Lab มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างสรรค์แนวทางหรือทางออกให้กับสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น คิดนโยบาย ออกกฎระเบียบ มาตรการ หรือนำไปสู่โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม เกิดกลไกหรือโครงการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม 

Zaid Hassan ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Social Labs Revolution ว่า Social Lab จะมีต้องคุณลักษณะ 3 ประการคือ (1) การมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนหรือองค์กรกลุ่มต่างๆ ในสังคม (2) กระบวนการทดลองทั้งในเชิงของการหาสาเหตุ วินิจฉัย การออกแบบทางออก สามารถทดลองและเรียนรู้ได้ต่อเนื่อง (แตกต่างจากการดำเนินโครงการ) และ (3) ความเป็นระบบในการคิดวิเคราะห์เพื่อออกแบบทางออกที่ตอบโจทย์ในเชิงระบบมากกว่าแก้ปัญหาเป็นจุดๆ

ประเทศไทยจะเอา Social Lab มาแก้ปัญหาสังคมได้บ้างหรือไม่

สิ่งที่เราควรต้องขบคิดกันต่อมาคือ Social Lab เหมาะกับการนำไปใช้เพื่อหาทางออกให้กับสังคมสำหรับโจทย์ประเภทไหน การใช้กระบวนการของห้องปฏิบัติการเพื่อค้นพบสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุต่างๆ พัฒนาการของปัญหา การออกแบบและทดลองทางเลือกเพื่อแก้ปัญหา ลักษณะปัญหาที่ซับซ้อนและไม่อยู่นิ่ง เป็นปัญหาที่ต้องการการวิเคราะห์เชิงระบบจากมุมมองที่หลากหลาย โดยไม่มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า หรือพูดง่ายๆ คือเป็นปัญหาทางสังคมที่ยากและมีความซับซ้อนในตัวสูง

ตัวอย่างประเด็นสังคมที่ Social Lab ในต่างประเทศ ได้แก่ การใช้ชีวิตของคนเมืองในอนาคต (Living Lab ในอิตาลี หรือ Urban Lab ในเดนมาร์ค หรือ Future City Lab ในเยอรมนี) ความยั่งยืนทางนิเวศและความเป็นธรรมทางสังคม (Colabor ในเยอรมนี) การตอบโจทย์ความท้าทายของยุคดิจิทัล (Laboratory of the New Policy in the Digital Age ในฝรั่งเศส)

การวิจัยและออกแบบในรูปแบบ Lab ดีอย่างไร จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร

Social Lab ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับบุคคล องค์กร และชุมชนในการเรียนรู้ แบ่งปันข้อมูล และออกแบบแนวคิดใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การทำงานในรูปแบบที่เน้นความเข้าใจในเชิงลึก ความคิดที่กว้างในเชิงระบบ ความสร้างสรรค์ในการคิดค้นทางออก ความรวดเร็วในการขึ้นรูปความคิด ทดลอง เรียนรู้ และปรับปรุงให้ดีขึ้น

Social Lab จึงเป็นกลไกที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหาที่มีความซ้บซ้อนและพลวัตสูงได้ลุ่มลึกขึ้น เป็นระบบมากขึ้น Social Lab จะทำให้เรารู้ปัญหาจริง และทำให้ได้มาซึ่งทางออกที่ตอบโจทย์ปัญหาเหล่านั้นได้ตรงจุดอย่างมีประสิทธิผลมากกว่าวิธีการคิดแบบมองปัญหาเป็นจุดๆ เช่น Policy Lab, Government Lab, Future Lab จะช่วยเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์เชิงระบบและการนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นเช่นกัน

ในบทความต่อไปผู้เขียนจะขอกล่าวถึงกระบวนการสำคัญของ Social Lab ปัจจัยสู่ความสำเร็จจากประสบการณ์ในต่างประเทศและแนวทางการประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย 

โดย... 

ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์

รองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์

ประกาย ธีระวัฒนากุล

กรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/