พลวัตรการเคลื่อนย้ายงานของผู้ค้าบริการทางเพศในอาเซียน

พลวัตรการเคลื่อนย้ายงานของผู้ค้าบริการทางเพศในอาเซียน

การให้บริการทางเพศมีจุดเริ่มต้นมาจากพิธีกรรมทางศาสนา จากนั้นได้ปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องของการสะสมทุนเพื่อการสมรส

ในยุคเริ่มต้นการค้าบริการทางเพศจึงไม่ใช่สิ่งผิด แต่ต่อมาการปกครองภายใต้ระบอบชายเป็นใหญ่ได้สร้างเกิดวาทกรรม “หญิงชั่ว” ขึ้น เพื่อจำกัดกิจกรรมทางเพศของฝ่ายหญิง สร้างตราบาปให้กับหญิงสำส่อน ทำให้การค้าบริการทางเพศไม่ได้รับการยอมรับดังเช่นอดีต

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเคลื่อนย้ายผู้ค้าบริการทางเพศในอาเซียนในยุคปัจจุบัน โดยใช้กรอบการวิเคราะห์ปัจจัยผลักและปัจจัยดึง (Push-Pull Factor Analysis)

ผู้ค้าบริการทางเพศ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ค้าบริการทางเพศที่ไม่สมัครใจ หรือ โสเภณีที่ถูกบังคับ (Forced Prostitution) UN ถือว่าเป็นการค้ามนุษย์เพื่อการขูดรีดทางเพศ (Human Trafficking for Sex Exploitation) ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิด ขณะที่กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจ หรือที่ UN เรียกว่าผู้ค้าบริการทางเพศ (Sex Worker) แนวนโยบายหรือมาตรการที่ดำเนินการกับผู้ค้าบริการทางเพศกลุ่มนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงถึงการยอมรับหรือไม่

สัดส่วนของผู้ค้าบริการทางเพศทั้ง 2 กลุ่มในประเทศไทย กลุ่มที่ 2 มีจำนวนมากกว่ากลุ่มแรก และกลุ่มที่ 2 ก็น่าจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มแรกซึ่งไม่สมัครใจส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 และคนต่างด้าวที่มีฐานะยากจน มักมาจากประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย ขณะที่ประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง ได้แก่ สิงคโปร์ และมาเลเซียจะมีสัดส่วนผู้ค้าบริการทางเพศที่สมัครใจมากกว่าไม่สมัครใจ ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่าและลาว จากการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากข่าวยังมีการอ้างถึงการหลอกลวงหรือบังคับเพื่อค้าบริการทางเพศอยู่พอสมควร

ปัจจัยผลักที่สำคัญ ประกอบด้วย 2 ส่วน หนึ่ง คือ ความยากจน ซึ่งปัจจุบันลดบทบาทลงในเกือบทุกประเทศ และสองคือการบังคับใช้กฎหมายที่คล้ายกันในทุกประเทศ (ยกเว้นสิงคโปร์) ทำให้ความแตกต่างของการบังคับใช้กฎหมายค้าประเวณีของแต่ละประเทศนั้น มีผลต่อการเคลื่อนย้ายผู้ค้าบริการทางเพศข้ามชาติไม่มาก

ขณะที่ปัจจัยดึงใช้แนวคิดที่ว่าผู้ค้าบริการทางเพศจะตัดสินใจเคลื่อนย้ายโดยคำนึงถึงผลได้และต้นทุนของการย้ายถิ่น ทั้งนี้จะทำการวิเคราะห์จากมิติของผู้หญิงไทย พบว่า ในประเทศกลุ่มอาเซียน ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่จะเลือกไปทำงานที่สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพราะมีระดับรายได้ที่สูงกว่า ขณะที่ไม่นิยมไปทำงานที่พม่าหรือลาว เพราะระดับรายได้ต่ำกว่า

รูปแบบการไปทำงานที่สิงคโปร์และมาเลเซียนั้นมีความสัมพันธ์กัน เพราะทั้ง 2 ประเทศมีพรมแดนติดกัน และการเดินทางไปมาระหว่าง 2 ประเทศทำได้โดยสะดวก ผู้หญิงไทยไปทำงานที่สิงคโปร์มีทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ผู้ที่ไปทำงานแบบถูกกฎหมายนั้นจะต้องทำงานอยู่ในสถานที่มิดชิด มีการควบคุมและจำกัดพื้นที่อย่างเข้มงวด ขณะที่ผู้ที่ไปทำงานแบบไม่ถูกกฎหมายนั้นมักจะมีลักษณะของการไปนั่งตามผับหรือสถานบันเทิงยามค่ำคืน เพื่อรอแขกมาเจรจา ซึ่งการตัดสินใจทำงานนั้นก็มักเป็นไปตามสมัครใจ การค้าบริการแบบไม่ถูกกฎหมายนี้มีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมสูง ทำให้กลุ่มคนพวกนี้อาศัยประเทศมาเลเซียเป็นสถานที่พักรอการทำงาน โดยทำเสมือนเป็นนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ยะโฮร์บาห์รู รัฐยะโฮร์ ซึ่งอยู่ติดกับสิงคโปร์

ส่วนการค้าบริการทางเพศในมาเลเซีย แม้จะผิดกฎหมายแต่ก็มีการลักลอบเป็นจำนวนมาก หากเป็นพื้นที่ในเขตเมือง จะมีการลักลอบเข้ามาทำงานในสถานบริการ ทั้งซ่องและสถานบริการนวด ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียนเชื้อสายจีน ขณะที่การทำงานในเขตชายแดนสิงคโปร์อย่างยะโฮร์บาห์รูนั้น ส่วนใหญ่มาทำงานในลักษณะของนักท่องเที่ยว และการขอใบอนุญาตทำงานในรูปแบบอื่น เช่น พนักงานร้านอาหาร โดยมีนายหน้าเป็นคนกลางในการจัดการอำนวยความสะดวกและหักค่าใช้จ่ายไป ลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวสิงคโปร์ที่ติดต่อกันทาง LINE หรือโทรศัพท์ การทำงานของผู้หญิงค้าบริการในพื้นที่ชายแดนนี้มักจะเป็นการทำงานในช่วงสั้น ๆ

พลวัตรการเคลื่อนย้ายงานของผู้ค้าบริการทางเพศในอาเซียน

เมื่อพิจารณาการเคลื่อนย้ายผู้ค้าบริการทางเพศเปรียบเทียบกับในอดีตจะพบว่า ความเป็นผู้นำเข้า ผู้ค้า และผู้ส่งออกบริการทางเพศแบบครบวงจรของประเทศไทยยังคงดำรงอยู่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพียงแต่มีคู่แข่งจากการเดินทางของผู้ค้าโดยตรงมากขึ้น และพบการเคลื่อนย้ายของผู้ค้าบริการทางเพศจากประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่าไปยังประเทศที่มีรายได้สูงกว่าชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าในอดีต

การเคลื่อนย้ายผู้ค้าบริการทางเพศข้ามชาติ นอกจากจะทำให้สามารถเข้าถึงตลาดที่มีกำลังซื้อเฉลี่ยที่สูงกว่าแล้ว ยังสามารถเข้าถึงตลาดที่มีกำลังซื้อต่ำกว่า แต่มีลูกค้าพรีเมี่ยมได้ด้วย เช่น ในตลาดอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงในประเทศเหล่านี้จะติดต่อผู้หญิงผ่านนายหน้า แล้วออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพื่อให้ผู้หญิงมาให้บริการตนเองในประเทศหรือไปเที่ยวต่างประเทศเป็นการส่วนตัว เป็นระยะเวลา 2-3 วันขึ้นไป แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลราคาที่ตกลงซื้อขายกัน แต่ก็เชื่อได้ว่าน่าจะมีราคาที่สูงทีเดียว

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ในอนาคต การค้าบริการทางเพศข้ามชาติจะเป็นไปตามกลไกตลาด การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและระบอบโลกาภิวัตน์จะเอื้อให้การเคลื่อนย้ายทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งกลับช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของหญิงค้าบริการให้มากขึ้นกว่าในอดีต หากข้ามประเด็นข้อถกเถียงที่ว่าการค้าบริการทางเพศเป็นสิ่งที่สังคมพึงสนับสนุนหรือไม่แล้ว การค้าบริการทางเพศข้ามชาติส่งผลให้ผู้ค้ามีรายได้มากขึ้น แต่ก็ยังต้องเผชิญความเสี่ยง ทั้งความรุนแรง การกระทำผิด และการเอารัดเอาเปรียบอีกมาก และเป็นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันการพลวัตรที่เปลี่ยนแปลงไป

โดย... 

ธานี ชัยวัฒน์

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ

นักวิจัย ฝ่าย 1 สกสว.