ว่าด้วยการกินไข่: จบไงดี?
มีข้อมูลเรื่องไข่ ส่งมาให้อ่านในไลน์บ่อยๆ ผมเลยอดไม่ได้ ค้นคว้าหางานวิจัยมาอ่านบ้าง เพราะอยากรู้ว่า เขาได้ข้อสรุปกันหนักแน่นเพียงใด
ราว 40 ปีที่ผ่านมา ใครที่มีคลอเรสเตอรอลสูง มักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ให้ลดการบริโภคไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไข่แดง เพราะตัวนี้นี่แหละที่ ทำให้เกิดความเสี่ยง ในการเกิด “โรคหัวใจและหลอดเลือด” (Cardiovascular)
แต่หลายปีที่ผ่านมา มีข่าวบ่อยๆว่าความเชื่อเช่นนั้น ไม่ถูกต้องเสียแล้ว เพราะ คลอเรสเตอรอลในอาหาร อย่างเช่นไข่แดง ไม่ได้มีอันตรายตามที่เคยเชื่อกันมา และงานวิจัยบางฉบับยัง ฟันธง ด้วยว่า การบริโภคไข่ ถ้าไม่มากจนเกินไป ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
นายแพทย์ Anthony Komaroff จาก Harvard ได้รายงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 นี้ว่า สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว การบริโภคไข่วันละ 1 ฟองเป็นประจำ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยง ในการเป็นโรคเหล่านั้นเลย แม้คนที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีความเสี่ยงอื่นอยู่แล้ว เช่นสูบบุหรี่ หรือเป็นโรคหัวใจมาก่อน การบริโภคไข่สัปดาห์ละ 3 ฟอง ก็ยังยอมรับได้
หมอ Anthony อ้างอิงงานวิจัยจากหลายสำนัก รวมทั้งงานของ ฮาร์วาร์ดเอง ซึ่งงานวิจัยเหล่านั้น ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่าง “นับแสนคน” เป็นเวลาหลายสิบปี และพบว่าการบริโภคไข่วันละฟอง ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคเหล่านั้น
คุณหมอยังบอกว่า อยากรู้ไหมว่าตัวเขาเอง ทานไข่เป็นประจำหรือไม่ เขาตอบว่า สมัยก่อนก็ไม่กล้าทานเหมือนกัน แต่ด้วยความรู้ใหม่ ทุกวันนี้เขาทานไข่ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 2 ฟอง
แต่ผมก็ยังไม่เชื่อง่ายๆ ต้องดูก่อนว่า คุณหมอมีประวัติน่าเชื่อถือไหม ผมพบว่าหมอเรียนจบจาก แสตนฟอร์ด และ ฮาร์วาร์ด ตีพิมพ์งานวิจัยมาแล้วถึง 230 เรื่อง หนังสืออีก 2 เล่ม และในวัย 78 ปี ก็ยังเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่ Harvard Medical School
คุณสมบัติครบถ้วนขนาดนี้ ก็คงต้องเชื่อแหละครับ (ถึงตรงนี้ ถ้าคุณจะหยุดอ่าน แล้วไปหาไข่ต้มมาทานสัก 1 ฟองก่อน ก็ได้นะครับ...)
แต่ยังก่อนครับ นิสัยผมยังต้องค้นคว้าให้มากๆ อยากรู้ว่างานวิจัยอื่น ได้ผลแบบเดียวกันหรือไม่ แล้วผมก็พบงานวิจัยใน “Journal of American Medical Association” วารสารของสมาคมแพทย์อเมริกัน (AMA) เมื่อเดือนมีนาคม 2562 นี้เอง
รายงานฉบับนี้เป็นที่ฮือฮามาก เพราะลงในนิตยสารที่น่าเชื่อถือ มีข้อสรุปว่าถ้าทานไข่ไก่ “เกือบ 2 ฟอง” ต่อวัน ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 17% ที่จะเป็นโรคดังกล่าวข้างต้น และความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 18% ที่จะเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ แต่ถ้าทานน้อยลงเป็นสัปดาห์ละ 3-4 ฟอง ความเสี่ยงจะลดลงเป็น 6% และ 8% ตามลำดับ
งานชิ้นนี้รวบรวมจากงานวิจัยอื่นๆ 6 ชิ้น ที่มีกลุ่มตัวอย่างรวมกันมากถึง 29,615 คน และติดตามกลุ่มตัวอย่างนานถึง 13-31 ปี เมื่อสรุปออกมาแบบนี้ คุณผู้อ่านก็คง หยุดทานไข่ต้ม กลางคันแล้ว ใช่ไหมครับ
ผมเลยต้องพยายามอีกรอบ เพื่อหาคำตอบว่า แล้วคนธรรมดาอย่างเรา ควรเชื่อฝ่ายไหนดี
ผมได้คำอธิบาย ของคุณหมอ John Ioannidis จาก Stanford ว่า งานวิจัยด้านอาหาร (ที่นำมาอ้างอิงกันนั้น) มักเชื่อถือได้ยาก เพราะส่วนใหญ่ใช้วิธี “สังเกต” (Observational Studies) ซึ่งผู้วิจัยไม่อาจควบคุมอะไรได้มาก เพียงแต่ถามกลุ่มตัวอย่างว่า “รับประทานอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน บ่อยแค่ไหน” ฯลฯ เท่านั้น
เขาบอกว่า กลุ่มตัวอย่างจะจำได้จริงหรือ เพราะเมื่อเช้าทานอะไร คงพอตอบได้ แต่เมื่อ 3 วันก่อนทานอะไร มากแค่ไหน คราวนี้ก็เริ่มผิดพลาดแล้ว และเมื่อนักวิจัยเอาข้อมูลที่ผิดพลาดตั้งแต่แรก มาเป็นฐานในการคำนวณ รวมทั้งยังมีอาหารอื่นๆที่กลุ่มตัวอย่างได้บริโภคเข้าไปด้วย ความผิดพลาดก็ทวีคูณยิ่งขึ้น
คุณหมออีกคน Maki Inoue-Choi จากมินเนโซต้า ตั้งคำถามคล้ายกันว่า จะรู้ได้อย่างไรว่ากลุ่มตัวอย่าง ให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพราะเป็นการถามเพียงครั้งเดียว และถามเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว และตอนที่ถาม ก็ยังถามย้อนหลังด้วย ว่าบริโภคไข่ ก่อนหน้านั้น นานเป็นเดือนเป็นปีมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้น เขายังสงสัยด้วยว่า จะมีใครสักกี่คน ที่ยังรับประทานอาหารแบบเดิม ต่อเนื่องมานานนับสิบๆปี?
บางคนก็แแรงครับ เช่นหมอ Ken D. Berry บอกว่า AMA ไม่มีงานวิจัยที่คุณภาพดีกว่านี้ มาลงพิมพ์แล้วหรือ
เจอผลที่แตกต่างกันแบบนี้ คนธรรมดาอย่างเราก็ไปไม่เป็น ผมเลยต้องค้นคว้าต่อว่า เราควรทานไข่ มากน้อยเพียงใด โดยค้นจากวารสารการแพทย์ ที่ถกเถียงเรื่องไข่ ซึ่งเขาแนะนำอย่างนี้ครับ...
“หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป รับประทานแบบเมดิเตอเรเนียน ผลไม้ ผัก ถั่วประเภทต่างๆ ให้มาก”
อ้าว...นี่ก็ทราบกันมานานแล้ว ผมอ่านจนจบ ก็ไม่เห็นกลับมาพูดเรื่องไข่ให้ชัดเจน คงจะสรุปไม่ค่อยได้เหมือนกัน เลยจบด้วยคำแนะนำอื่นๆ เช่น อย่าเชื่อเรื่อง ซูเปอร์ฟู้ด เพราะไม่มีจริง และการวิจัย อาหารเพียงชนิดเดียว มักมีข้อจำกัด เป็นต้น
เมื่อไม่มีคำตอบชัดเจน เราก็คงต้องใช้ดุลพินิจ เพราะฝ่ายที่บอกว่ามีความเสี่ยง ก็ไม่ได้บอกให้เลิกรับประทานไข่ เพราะไข่ก็มีประโยชน์มากมาย ส่วนผมไม่ใช่แพทย์ โดยส่วนตัวเลยเลือก “ทางสายกลาง” คือช่างน้ำหนักงานวิจัยทั้งสองค่าย และคิดว่าโดยเฉลี่ย สัปดาห์ละ 2-4 ฟอง ก็น่าจะปลอดภัย และคงอยู่ที่แต่ละคนด้วยว่า เป็นเด็กกำลังโต หรือสูงวัย คลอเรสเตอรอลสูงไหม รับประทานไขมันอิ่มตัวมากน้อยเพียงใด ฯลฯ
ผมเขียนมาถึงตรงนี้ เกือบจะจบและจะส่งต้นฉบับอยู่แล้วเชียว เพิ่งเห็นข่าวว่า วันนี้ 11 ตุลาคม เป็น “วันไข่โลก” (World Egg Day) โอ้..ช่างบังเอิญอะไรเช่นนั้น!
การลงทุนมีความเสี่ยง การทานไข่แดงมากๆก็อาจมีเสี่ยง ผมเลยขอยืมเพลงของ น้องแคท มาใช้ตอนจบครับว่า... ทานไข่สัปดาห์ละ 2-4 ฟอง
น่าจะ “โอเคนะคะ”