การลงทุนควอนตัมคอมพิวติ้งของกูเกิล เป็นการรองรับธุรกิจอนาคตที่สมรภูมิดิจิทัลไม่อาจแข่งกันได้โดยใช้คอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบัน
ข่าวใหญ่ในแวดวงดิจิทัลช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ คือ การประกาศความสำเร็จในเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวติ้งของกูเกิลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่อัลฟาโกะ เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของกูเกิลเช่นกันเคยเอาชนะ เค่อ เจี่ย แชมป์โลกหมากล้อมชาวจีนได้เมื่อปี 2017
ความสำเร็จของกูเกิลในการพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ ถือเป็นการยกระดับความสามารถในการประมวลผลคอมพิวเตอร์ให้ก้าวหน้าไปสู่ยุคใหม่ เพราะพลังในการประมวลผลขั้นสุดยอดนั้นเกิดจากการผสมผสานความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดเข้าด้วยกัน
การเอาชนะแชมป์โลกหมากล้อมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทำให้เราได้เห็นพลังของการประมวลผลร่วมกับเทคโนโลยีอย่างเอไอ, แมชชีนเลิร์นนิ่ง นั่นคือทำให้คอมพิวเตอร์คิดเป็นและตัดสินใจทำโจทย์ยากๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนด้วยการเรียนรู้ด้วยตัวเองทีละนิดๆ จนมี “ปัญญา” จากการสังเคราะห์ความคิดขึ้นเองได้
การต่อยอดของเทคโนโลยีในการประมวลผลของกูเกิลมาสู่ควอนตัมคอมพิวเตอร์วันนี้ จะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อคอมพิวเตอร์ในยุคหน้าเพราะพลังในการประมวลผลที่เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันหลายเท่า โดยข้อมูลจากกูเกิล ระบุว่า สามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ขั้นสูงได้สำเร็จในเวลาเพียง 200 วินาทีเทียบกับการใช้คอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันอาจต้องใช้เวลามากถึง 10,000 ปีจึงจะแก้โจทย์เดียวกันได้สำเร็จ
ความต้องการพลังในการประมวลผลเกิดขึ้นจากตัวกูเกิลเอง ที่ต้องจัดการกับข้อมูลบิ๊กดาต้าจำนวนมหาศาลเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า รวมถึงข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพราะเป็นวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เสพติดการใช้งานเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ฯลฯ
การลงทุนในด้านควอนตัมคอมพิวติ้งของกูเกิล จึงเป็นการรองรับธุรกิจในอนาคตที่สมรภูมิดิจิทัลไม่อาจแข่งขันกันได้โดยใช้คอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันเพราะมันไม่ได้ออกแบบไว้รองรับข้อมูลปริมาณมหาศาลในยุคโซเชียลมีเดียเช่นนี้ และการที่กูเกิลกล้าลงทุนมหาศาลกับเทคโนโลยีล้ำยุคเช่นนี้ เพราะกูเกิลกลายเป็นองค์กรธุรกิจระดับโลกที่มีมูลค่าธุรกิจสูงถึงกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับแอมะซอน ตามด้วยเฟซบุ็คที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์
บริษัทเหล่านี้ล้วนต้องทำงานกับปริมาณข้อมูลมหาศาล ซึ่งการประมวลผลของควอนตัมคอมพิวเตอร์จะแก้ปัญหาคอขวดที่ทุกบริษัทต้องประสบอยู่ในปัจจุบัน และยิ่งได้วิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้นก็ยิ่งทำให้บริษัทเหล่านี้ยิ่งตอบสนองผู้บริโภคได้มากขึ้น สร้างรายได้และผลกำไรต่อไปได้อีกหลายร้อยหลายพันเท่า
ยิ่งวิถีชีวิตของเราผูกติดกับดิจิทัลแพลตฟอร์มเหล่านี้มากเท่าไร เราจะยิ่งมีจำนวนข้อมูลอีกมากมายมหาศาลให้ระบบคอมพิวเตอร์ได้นำไปประมวลผล ซึ่งแนวโน้มธุรกิจเช่นนี้มีเพียงบริษัทในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นฟากฝั่งอเมริกาอย่างไมโครซอฟท์ กูเกิล เฟซบุ๊ค แอ๊ปเปิ้ล อะเมซอน หรือจะเป็นบริษัทต่างๆจากประเทศจีนอันได้แก่ เทนเซ็นต์ ไป่ตู้ หัวเว่ย หรือ อาลีบาบา หรืออีกหลายๆ บริษัททั่วโลก ที่มองเห็นประโยชน์เหล่านั้น
ในขณะที่บริษัทในโลกเก่าที่เน้นการผลิตหรืออุตสาหกรรมในยุคดั้งเดิมที่แม้จะฝ่ามรสุมธุรกิจมาได้ยาวนานนับร้อยปีอย่างจีอี ซึ่งผมเคยเขียนถึงอยู่บ่อยๆ กลับต้องหยุดชะงักเพราะยังมองเห็นเป้าหมายอนาคตไม่ชัดเจน มูลค่าบริษัทที่เคยสูงถึงกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์จึงตกต่ำลงเหลือเพียงไม่ถึง 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
ตรงกันข้ามกับบริษัทที่อาศัยการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่นอกจากแซงหน้าจีอีไปอย่างไม่เห็นฝุ่นแล้ว ยังมั่นใจว่าขยายอัตราการเติบโตได้อีกในอนาคตเพราะการมาถึงของยุคควอนตัมคอมพิวติ้งจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้อีกมหาศาล