ไฟใต้เหนือจินตนาการ
เหตุการณ์ร้ายโจมตีป้อม ชรบ.ที่ ต.ลำพะยา จ.ยะลา จนมีผู้เสียชีวิตในคราวเดียวถึง 15 คน นอกจากจะสะท้อนว่าปัญหาไฟใต้ยังคงวิกฤติไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าไฟใต้ได้ถูกสร้างให้เป็นหนึ่งใน “สงครามตัวแทน” ของการเมืองภาพใหญ่ จึงมีปรากฏการณ์โต้เถียงกันทั้งในและนอกโซเชียลมีเดีย ในเรื่องท่าทีของนักสิทธิมนุษยชนบางกลุ่ม บางองค์กร และพรรคการเมืองบางพรรค ว่าทำไมถึงเงียบหายไป ไม่ออกมาประณามหรือเคลื่อนไหวเรียกร้องความเห็นธรรมให้กับคนตาย เหมือนกับในอีกบางเหตุการณ์ที่เคลื่อนไหวกันคึกคัก โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่สงสัยว่าอาจเป็นการกระทำหรือความบกพร่องผิดพลาดของทหาร
ขณะที่ฝ่ายนักสิทธิฯ ก็โต้แย้งว่าการประณามหรือเคลื่อนไหวของพวกตนที่จำเพาะเจาะจงในบางเหตุการณ์ที่สงสัยว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ มีความร้ายแรงกว่า และไม่ควรเกิดขึ้น เนื่องจากจะกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขให้สถานการณ์รุนแรงบานปลายออกไป ส่วนการก่อเหตุซึ่งโดยนัยคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปกป้องดูแลไม่ให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องเรื่องการยกเลิกการติดอาวุธให้กับประชาชนก็มีออกมา โดยอ้างว่าทำให้ถูกมองเป็นกองกำลังของฝ่ายรัฐ จึงตกเป็นเป้าโจมตี ทั้งๆ ที่คนกลุ่มเดียวกันนี้เคยเรียกร้องให้ถอนทหาร และส่งมอบพื้นที่ให้ประชาชนดูแลกันเอง
แต่ฝ่ายที่สนับสนุนให้ทหารมีบทบาทต่อไปก็โต้ว่า ขนาดติดอาวุธให้ยังโดนขนาดนี้ แล้วถ้ามือเปล่าจะไม่เลวร้ายยิ่งกว่านี้หรือ และต้องไม่ลืมว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไฟใต้คุโชนขึ้นมาอีกระลอก มีการบุกปล้นปืน 413 กระบอกถึงในค่ายทหารเมื่อ 4 ม.ค.2547 ก็เพราะรัฐบาลในยุคนั้นสั่งถอนทหาร ยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 เมื่อปี 2545 หรือเกือบๆ 2 ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน
ผมคิดว่าถ้าทุกฝ่ายยังตกอยู่ในวังวนโต้เถียงกันด้วยข้อเรียกร้องสุดโต่งเดิมๆ ของฝ่ายตน คงไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะโจทย์ใหญ่วันนี้ต้องถอด “การหาประโยชน์ทางการเมืองและงบประมาณ” ออกจากไฟใต้ แล้วมาสร้าง “กรอบยุทธศาสตร์ใหม่” ร่วมกัน
ในแง่ยุทธวิธี แทนที่จะเสนอให้ปลดอาวุธกองกำลังภาคประชาชน เราควรจะมาถอดบทเรียนกันอย่างตรงไปตรงมาดีไหมว่า ทำไมเหตุการณ์โจมตีป้อม ชรบ.จนสูญเสียถึง 15 ศพถึงเกิดขึ้นได้ มีความหละหลวม ประมาทเลินเล่อตรงไหน ป้อมชรบ.นี้ทำไมถึงมีคนไปรวมตัวมากเป็นพิเศษ มีตำรวจและคนจากนอกพื้นที่เข้าไปทำอะไร และเมื่อเข้าไปรวมตัวกันแล้วได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทางยุทธวิธีหรือไม่ หน่วยเหนือได้ติดต่อสื่อสาร แจ้งเตือน หรือแจ้งให้เฝ้าระวังมาก่อนหรือไม่ อย่างไร
ขณะที่ในทางยุทธศาสตร์ เมื่อกองทัพเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับผู้เห็นต่างจากรัฐ และขบวนการแบ่งแยกดินแดน เราจะจำกัดบทบาทของกองทัพให้รับผิดชอบเฉพาะภารกิจรักษาความปลอดภัยได้หรือไม่ ส่วนงานพัฒนาและการพูดคุยเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง น่าจะเป็นงานของฝ่ายพลเรือน โดยมีภาคประชาสังคมในพื้นที่ ในฐานะ “คนใน” มีส่วนร่วมอย่างกลมกลืนและเท่าเทียมบนความแตกต่างหลากหลาย
ถ้าเรายังก้าวข้ามวังวนเดิมๆ ไม่ได้ ไฟใต้ก็ยังจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลายเป็นความขัดแย้งซ้อนความขัดแย้ง และผลของมันอาจไปไกลมากกว่าที่เราจินตนาการ...