ธรรมาภิบาลในทศวรรษ 2020
เรื่องธรรมาภิบาลในประเทศไทย ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นวาระสำคัญระดับชาติ ในสมัยที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540
ที่ธุรกิจขนาดใหญ่และสถาบันการเงินกู้เงินระยะสั้นดอกเบี้ยถูกจากต่างประเทศ มาแสวงหาผลตอบแทน เก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ และปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์เกิดเป็นฟองสบู่ จนกระทั่งถูกต่างชาติโจมตีค่าเงิน เพื่อหวังทำกำไร จากความจำเป็นในการลอยตัวค่าเงินบาท
จากปัจจัยในเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความไม่โปร่งใสในการบันทึกบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ที่เป็นประเด็นของการขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดีในยุคฟองสบู่แตก ในปี 2545 รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นรณรงค์การกำกับดูแลกิจการที่ดี ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการตื่นตัวในการพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการให้สอดคล้องตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ หรือ National CG Committee ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ในห้วงเวลา 17 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ปรับตัวพัฒนาดีขึ้นมาเป็นลำดับ มีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ หรือคณะกรรมการธรรมาภิบาลขึ้นในหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน มีการกำหนดนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดีขององค์กร มีประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณสำหรับบุคลากรในทุกระดับ
ในประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รณรงค์และส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเสนอหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จำนวน 15 ข้อ ในปี 2545 ให้แก่บริษัทจดทะเบียน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในขั้นเริ่มแรก
ในปี 2549 ได้ปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน โดยแบ่งออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ 1) สิทธิของผู้ถือหุ้น 2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 3) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และ 5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ โดยเทียบเคียงกับหลักการกำกับดูแลกิจการของ OECD และข้อเสนอแนะของธนาคารโลก
ต่อมาในปี 2555 ได้ปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของแนวปฏิบัติที่ดีของทั้ง 5 หมวด ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ASEAN CG Scorecard ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้วัดระดับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน
และในปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน (CG Code) ฉบับใหม่ โดยมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมประเด็น เพื่อให้ครอบคลุมถึงแนวคิดและปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป
แม้การดำเนินการที่ผ่านมาของไทยจะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่การพัฒนา CG ต่อไป มีความท้าทาย คือ ปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ระบบทุนนิยม และการขยายตัวของภาคธุรกิจ จึงทำให้องค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับสากล ในประเทศ และผู้ลงทุนต่างๆ ได้เรียกร้องให้กิจการมีความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการมี CG ที่ดี
การกำกับดูแลกิจการที่ดี จำเป็นต้องบูรณาการประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ ตั้งแต่การกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ กระบวนการดำเนินงาน การติดตามและการรายงาน เพื่อให้คณะกรรมการสามารถใช้เป็นกรอบในการกำกับดูแลให้กิจการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นไปเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน
สถานการณ์ด้านธรรมาภิบาลในทศวรรษหน้า จึงไม่อาจจำกัดอยู่เพียงการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ Governance (ตัว “G”) ในมิติที่เพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่ยังต้องครอบคลุมไปถึงธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environment (ตัว “E”) อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดปริมาณขยะพลาสติกที่ก่อให้เกิดผลกระทบสะสมต่อระบบนิเวศ และครอบคลุมไปถึงธรรมาภิบาลด้านสังคม หรือ Social (ตัว “S”) อาทิ นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายในมิติหญิงชาย การไม่เลือกปฏิบัติ
ทำให้บทบาทของการกำกับดูแลกิจการในทศวรรษ 2020 ที่จะมาถึง ต้องขยายกรอบการทำงานจากคำว่า “CG” มาสู่คำว่า “ESG” ที่ครอบคลุมทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ Environmental, Social and Governance อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้