'กาลิมันตันตะวันออก' เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซียภายในปี 67

'กาลิมันตันตะวันออก' เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซียภายในปี 67

แนวคิดเรื่องการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียเกิดขึ้นมาหลายครั้งนับตั้งแต่อินโดนีเซียประกาศเอกราชใน ปี 2488

ซึ่งเริ่มเป็นครั้งแรกโดยนายซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ระหว่างช่วงทศวรรษที่ 50 และล่าสุดได้รับการพูดถึงอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง

เหตุใดต้องย้ายเมืองหลวง

ผู้นำของอินโดนีเซียคาดว่าการย้ายเมืองหลวงจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและแบ่งเบาภาระที่กรุงจาการ์ตา (Jakarta) และเกาะชวา (Java) ต้องแบกรับ ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างชวากับนอกเขตเกาะชวา กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าจะได้มีการใช้นโยบายปกครองตนเองในระดับภูมิภาคมาตั้งแต่ปี 2554

  • เกาะชวา โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ค่อนข้างแออัดด้วยจำนวนประชากรเกินครึ่งของประเทศ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ
  • จาการ์ตามีความหนาแน่นของประชากรต่อตารางเมตรสูงที่สุดในบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคิดเป็นประชากร 15,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาหลายประการ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ที่อยู่อาศัยมีราคาสูง ปัญหาน้ำท่วม มลภาวะ ชุมชนแออัด อาชญากรรม และความยากจน
  • จาการ์ตากำลังจะจมน้ำ พื้นที่ 2 ใน 5 ของจาการ์ตานั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเล และค่อย ๆ ทรุดลงในอัตรา 20 ซม. ต่อปี ระบบน้ำประปาเข้าไม่ทั่วถึงทุกมุมเมือง ทำให้ส่วนใหญ่พึ่งพาน้ำจากอ่างเก็บน้ำซึ่งดึงน้ำมาจากชั้นหินอุ้มน้ำ ซึ่งยิ่งทำให้หน้าดินบนชั้นหินเหล่านี้ทรุดตัวลง โมเดลเมืองจาการ์ตาที่ทำขึ้นโดยทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีบันดุงชี้ให้เห็นว่า 95% ของจาการ์ตาตอนเหนือจะจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2593
  • ความหนาแน่นของประชากรทำให้จาการ์ตามีปัญหาเรื่องมลพิษและการจราจรติดขัด คุณภาพของอากาศในเมืองแย่กว่าเมืองที่ติดอันดับเรื่องมลภาวะอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น นิวเดลี หรือปักกิ่ง ที่สำคัญความแออัดของการจราจร ทำให้เกิดการสูญเสียด้านประสิทธิภาพการทำงาน คิดเป็นมูลค่าถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

เมืองหลวงใหม่

เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ทางการอินโดนีเซียประกาศว่าจะย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตา เมื่อผ่านการอนุมัติจากรัฐบาล เมืองหลวงใหม่จะอยู่ห่างออกไปจากจาการ์ตา 1,400 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บนพื้นที่ขนาด 1,800 ตารางกิโลเมตรที่รัฐถือกรรมสิทธิ (เที่ยบกับพื้นที่ของจาการ์ตาที่ใหญ่เพียง 661.5 ตารางกิโลเมตร) บริเวณตอนเหนือของพาเนจัม พาเซร์ (Panejam Paser) และบางส่วนของคูไต เคร์ตาเนการา (Kutai Kertanegara) ด้านทิศตะวันออกของกาลิมันตัน (Kalimantan) ซึ่งเป็นส่วนที่อินโดนีเซียถือครองบนเกาะบอร์เนียว ซึ่งมีมาเลเซียและบรูไนเป็นเจ้าของร่วม

157493323189

กาลิมันตัน (Kalimantan) ถือว่าตั้งอยู่ใจกลางของหมู่เกาะกว่า 1,700 เกาะของอินโดนีเซีย เศรษฐกิจของคูไต เคร์ตาเนการา (Kutai Kertanegara) พึ่งพาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ส่งออกไปยังตลาดโลก ภาคเหนือของพาเนจัม พาเซร์ (Panejam Paser) เน้นหนักด้านเกษตรกรรม การก่อสร้าง และการค้า

การลงทุนและการพัฒนา

โครงการย้ายเมืองหลวงนี้จะต้องการเงินลงทุนทั้งหมด 33,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นงบประมาณลงทุนจากภาครัฐ 19.2% ภาคเอกชน 26.2% และความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน 54.6% เพื่อสร้างเมืองสำหรับประชากร 1.5 ล้านคน หน่วยงานด้านการวางแผนเพื่อการพัฒนาของอินโดนีเซีย (Bappenas) มองว่าระยะแรกของการสร้างเมืองหลวงใหม่จะเริ่มภายในสิ้นปีหน้า (2563) หลังจากที่ทำการศึกษา ออกแบบและวางผังเมืองแล้ว การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานจะกินเวลาประมาณ 3-4 ปี และเริ่มย้ายประชากรในปี 2567

จะเกิดอะไรขึ้นกับจาการ์ตา

จาการ์ตาจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านการเงินและธุรกิจของประเทศ การย้ายเมืองหลวงนี้จะไม่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจาการ์ตาแต่อย่างใด คาดการณ์ว่าจะทำให้ประชากรที่อยู่อาศัยในจาการ์ตาลดลงไปเพียง 800,000 คน (ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองประมาณ 10 ล้านคน และนอกเมือง 30 ล้านคน)

ถึงแม้ว่าจะย้ายเมืองหลวงไปแต่ปัญหาเดิมๆของจาการ์ตาก็จะยังคงอยู่ ทั้งเรื่องการจราจรและมลพิษ และยังคงติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก