สุดยอด CEO โลกในปี 2019 กับ ESG
สำหรับฉบับส่งท้ายปีเก่า จะพาทุกท่านไปดูการจัดอันดับสุดยอดซีอีโอโลก โดยนิตยสาร Harvard Business Review
ซึ่งผู้ที่ได้ครองอันดับหนึ่งประจำปีนี้คือ Jensen Huang ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ NVIDIA บริษัทที่เติบโตและเป็นที่รู้จักจากการผลิตชิปคอมพิวเตอร์สำหรับการเล่นเกม แต่เมื่อกระแสเทคโนโลยีเปลี่ยนไป เรื่องของ Data กลายเป็นหัวใจของธุรกิจมากขึ้น NVIDIA ก็ลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาอย่างมากมาย เพื่อพัฒนาชิปคอมพิวเตอร์ที่สนับสนุนการทำ AI และผลที่เกิดขึ้นคือผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาดีขึ้นอย่างมากมายและราคาหุ้นเพิ่มขึ้นถึง 14 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว
สำหรับลำดับอื่นๆ ของสุดยอดซีอีโอ 2019 นั้น ถ้าสนใจลองหาดูจากวารสาร Harvard Business Review ฉบับสุดท้ายของปีนี้กันได้ มีข้อมูลที่น่าสนใจคือจาก 100 อันดับที่ได้รับการคัดเลือกนั้นมีซีอีโอที่เป็นสุภาพสตรีเพียงแค่ 4 ท่าน (จากปีที่แล้วที่มี 3 ท่าน) และทั้ง 4 ท่านก็อยู่ 50 อันดับแรก และโดยเฉลี่ยแล้วซีอีโอเหล่านี้จะเริ่มรับตำแหน่งเมื่ออายุเพียงแค่ 45 และอยู่ในตำแหน่งกันนานถึง 15 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับซีอีโอ ใน S&P500 ที่มีอายุงานเฉลี่ยที่ 7.2 ปีแล้ว ถือว่าผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสุดยอดซีอีโอนั้นจะอยู่ในตำแหน่งได้นานกว่าถึงสองเท่าทีเดียว
ประเด็นที่น่าสนใจคือเกณฑ์ในการคัดเลือกสุดยอดซีอีโอนั้น ทาง HBR ไม่ได้ดูที่ผลการดำเนินงานด้านการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้ ESG (Environment, Social, Governance) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนด้วย โดยในอดีตคะแนนของ ESG นั้นอยู่ที่ 20% ของคะแนนทั้งหมด แต่ในปีนี้เขาเพิ่มขึ้นเป็น 30%
สาเหตุหลักที่ให้ความสำคัญกับ ESG เพิ่มขึ้นคือนักลงทุนสถาบันจำนวนมากได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG มากขึ้น เมื่อจะเลือกตัดสินใจลงทุนในบริษัทใดก็ตาม ซึ่งก็มีเรื่องขำๆ เกิดขึ้นคือ ในอดีต Jeff Bezos ซีอีโอของ Amazon ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มสุดยอดซีอีโอมาทุกปี แต่ปีนี้เมื่อเพิ่มสัดส่วนคะแนนน้ำหนักด้าน ESG ทำให้ Jeff Bezos หลุดจากโผไป ทั้งนี้เนื่องจากคะแนน ESG ของ Amazon นั้นค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเรื่องของสภาพแวดล้อมการทำงาน นโยบายการจ้างงาน ฯลฯ
นอกจากนี้การมุ่งเน้นเรื่องของ ESG มากขึ้นก็สอดคล้องกับประกาศของทาง Business Roundtable ที่ออกมาเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต่อไปนี้ธุรกิจของอเมริกาจะไม่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะมุ่งเน้นไปที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กร(Stakeholders) ที่สำคัญอีก 4 กลุ่ม นั้นคือ พนักงาน ลูกค้า Suppliers และชุมชน
Business Roundtable ถือเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลมากที่สุดทางธุรกิจในอเมริกาแห่งหนึ่ง ก่อตั้งมากว่า 45 ปี และเป็นองค์กรที่มี CEO บริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาเป็นสมาชิกกว่า 200 บริษัท เช่น 3M, Accenture, Amazon, Apple, Boeing, BCG, Chevron, Cisco, Citi, Coca-Cola, Dell, GM, GE เป็นต้น
ทีนี้ตั้งแต่ปี 1997 ทาง Business Roundtable ได้เคยตกลงในหลักการร่วมกันคือเรื่องของหน้าที่ของผู้บริหารและกรรมการนั้น คือหน้าที่ ที่มีต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับที่หลายๆ คนยึดถือว่าบริษัทมีหน้าที่ในการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นสูงสุด
เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ทาง Business Roundtable ได้ออกสิ่งที่เรียกว่า Statement on the Purpose of a Corporation ขึ้นมาใหม่ โดยระบุไว้ชัดเจนเลยว่าถึงแม้ทุกๆ บริษัทจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกันแต่ทุกบริษัทมีความทุ่มเทพื้นฐานร่วมกัน นั้นคือ 1. นำเสนอคุณค่าให้กับลูกค้าตามที่ลูกค้าคาดหวังหรือเกินความคาดหวัง 2. ลงทุนในบุคลากร ทั้งเรื่องค่าตอบแทน การอบรมและพัฒนา 3. ปฏิบัติต่อ Suppliers ด้วยความยุติธรรมและมีจริยธรรม 4.สนุนสนุนต่อชุมชนที่เกี่ยวข้อง และสุดท้าย 5. สร้างมูลค่าในระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้น