Aware Alert Alarm

Aware Alert Alarm

“ฮู่ม แปร๊น…” ช้างพลายหนุ่มตัวใหญ่หันขวับมาพร้อมกับชูงวงร่า หูทั้งสองข้างกางออกอย่างเอาเรื่อง

“It’s okay boy. It’s okay….” เชลดอน ไกด์ชาวแอฟริกันของเราเหยียบเบรคหยุดรถทันควัน ปิดสวิตช์เครื่องยนต์ ป่าทั้งป่าพลันเงียบสงัด

“Carry on. It’s okay.” เขากล่าวอีกครั้งด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล เจ้าของงาคู่งามเอียงคอดู ตาคู่เล็กไม่สมตัวมองกลุ่มผู้แปลกหน้าอย่างไม่แน่ใจ ก่อนจะลดงวงลงจับหญ้าจับใบไม้ใกล้ตัวเข้าปากอีกครั้ง

ผมกับครอบครัวใช้เวลาช่วงปลายปี 2019 ท่องเที่ยวซาฟารีแถบป่า Kruger National Park พินและธีร์เริ่มโตพอจะเรียนรู้การเที่ยวแบบผู้ใหญ่ ซัมเมอร์ที่ผ่านมาเราจึงไปนครวัด อียิปต์ และจบปีด้วย South Africa

“Why didn’t he attack us?” ลูกชายผมถาม หมอนี่อยากเห็นช้างวิ่งไล่มากกว่าช้างกินหญ้า

พรานผิวขาวหมุนตัวกลับมา ขยับหมวกนิดนึงก่อนอธิบาย

สัตว์เหล่านี้ประเมินสภาพแวดล้อมรอบตัวเป็น 3 โซนด้วยกัน เรียกว่า Aware, Alert, and Alarm

Aware Zone เป็นวงรอบนอกที่มีรัศมีกว้างสุด เมื่อมีสิ่งใดแปลกปลอมเข้ามาในบริเวณ สัตว์จะรู้สึกตัว เช่น ตอนเราไปดูสามนางสิงโตล่าเหยื่อ มันหูตั้งลุกขึ้นยืนทำจมูกฟุดฟิด เพราะได้กลิ่นม้าลายลอยมาแต่ไกล

Alert Zone เป็นวงถัดมา สัตว์จะเริ่มประเมินสถานการณ์ว่าจะทำอย่างไร เช่นเจ้าพลายข้างต้น ไกด์บอกว่าเราพุ่งเข้ามาในโซนที่สองนี้เร็วมาก และสำหรับช้างหนุ่มตัวนี้มันยังไม่รู้สึกปลอดภัยกับคณะซาฟารี จึงส่งเสียงร้องเตือนว่าอย่าเข้ามาใกล้กว่านี้นะ

Alarm Zone วงนี้เป็นวงแคบสุด หากเราไม่ได้หยุดรถทันทีและเข้าใกล้มันไปอีก ก็จะถึงการตัดสินใจสองอย่าง คือ Attack หรือ Away จะสู้หรือจะหนี

“ช้างตัวนี้เป็นช้างรุ่น ผมคิดว่าหากเราเข้าไปถึง Alarm Zone มันน่าจะวิ่งหนี” เชลดอนหยุดนิดนึง “แต่ถ้ามันแก่กว่านี้ มันอาจจะพุ่งมาทุบรถเราแทน” พูดอย่างทีเล่นทีจริง

“เมื่อวานนี้ตอนรถเรายางแตกกลางวงสิงโต (ให้ตายเหอะซาฟารีคณะนี้) ไกด์ดูจะระมัดระวังมากกับการต้อนเราลงจากรถ และไม่ให้ยืนพ้นออกไปจากแนวตัวถังเลย เพราะอะไรหรือครับ?” คราวนี้ผมถามบ้าง

“เวลาเรานั่งอยู่บนรถ สัตว์จะมองเห็นเราแบบหนึ่ง ซึ่งมันก็จะมี Aware Alert และ Alarm โซนขนาดหนึ่ง มันรู้ว่ารถลักษณะนี้ กับมนุษย์ครึ่งตัวแบบนี้ (เพราะมันมองเห็นแค่ท่อนบน) ไม่เป็นอันตราย แต่พอเห็นคนเต็มตัวจู่ ๆ โผล่มายืนข้างรถ หรือหัวโด่ขึ้นมาจากตัวถัง มันเหมือนมีมนุษย์กระโดดข้าม Aware และ Alert Zone พรวดเข้ามาใน Alarm Zone เลย สัตว์ป่าจะตกใจ และส่วนมากการโจมตีก็เกิดจากความตกใจลักษณะนั้น”

คำอธิบายนี้จริงมาก เพราะตอนดูควายป่าแอฟริกัน แค่ผมยื่นขากล้อง Go Pro ขึ้นถ่ายมุมสูง พวกมันเปลี่ยนอิริยาบถทันที จากที่ยืนกันสบาย ๆ เป็นจ้องเขม็ง บางตัวก็ขยับหนีออกห่างทันที

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1. Be mindful of people’s zones มนุษย์ที่เราทำงานด้วยก็มีโซนลักษณะเดียวกัน การทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพเราต้องสร้าง Trust ในแต่ละวงเหล่านั้น คนไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน จู่ ๆ จะให้เปิดกว้างต้อนรับเลยคงไม่ได้ ย่อมใช้เวลานิดหน่อย งานศึกษาจาก Google จึงบอกว่าตัวแปรสำคัญที่สุดในการทำงานเป็นทีมคือ Psychological Safety ไม่ต่างอะไรจากโซนของสัตว์ป่าในซาฟารี

2. Different context means different zone sizes เหมือนสัตว์ที่วางใจรถจี๊ปแต่ไม่ไว้ใจคนยกกล้องขึ้นถ่ายรูป โซนในการทำงานก็ไม่ต่างกัน เฃ่น ในที่ประชุมทุกคนค่อนข้างสบายใจเมื่อนั่งฟังเฉย ๆ แต่พอเปิดให้ซักถามความเกร็งจะบังเกิดทันที หัวหน้าควรป้องกันการโจมตี Alarm Zone “สังเกตน้ำเสียงที่ผมพูดกับมัน(ช้างตัวนั้น)ไหม” เชลดอนถามเรา “ผมใช้น้ำเสียงสุภาพ นุ่มนวล เพราะ Elephants can hear your tone of voice” พูดจากระโชกโฮกฮากขนาดช้างยังรู้สึก แล้วนับประสาอะไรกับลูกน้อง

3. Decide how you react เรื่องที่เล่ามาเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ แต่เราเป็นมนุษย์มีสมองส่วนหน้าแห่งเหตุผล ฉะนั้นอย่าปล่อยตัวเองให้ไปตามสมองส่วนหลังเสียหมด หากมีใครบุกเข้ามาใน Alert หรือ Alarm โซนของเรา ก่อนจะโวยวายหรือวิ่งหนี พิจารณาให้ดีก่อนว่าเหมาะสมหรือเปล่า เพราะหลายครั้งแม้น้ำเสียงจะไม่ถูกหู แต่ผู้พูดอาจมีเจตนาดี อย่าเพิ่ง Attack หรือ Run Away

ไม่งั้นเราก็ไม่ต่างอะไรจากช้าง จริงไหมครับ?