ทางออก“เงินบาทไทย” ในยุคจักรวรรดินิยมการเงินสหรัฐฯ(จบ)
จากความกังวลที่มีต่อภาวะล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้การแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทไทย ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม ไม่ได้ผล แก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ซึ่งผู้เขียน ได้นำเสนอการออกนอกกรอบแนวความคิดเดิม เข้าสู่ 3 กรอบแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์เทคโนโลยีทางการเงิน ที่เชื่อมโยงกับการเก็บภาษีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับการเก็งค่าเงิน และการใช้นโยบายการเงินขยายตัวด้วยการเพิ่มปริมาณเงิน โดยความตอนที่แล้ว ได้เสนอกรอบแรกจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ที่จะดำเนินการแปรรูปวงการธนาคารเข้าสู่ระบบดิจิทัล ให้เหล่าธนาคารพาณิชย์ได้ Disrupt ตัวเอง แนวคิดต่อมา คือ
- การออกนอกกรอบภาษีในตลาดเงิน
จากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินท่วมโลก ทำให้กระแสการเก็งกำไรในตลาดเงิน มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของการเงินและระบบการค้าของประเทศ ดั่งถ้อยแถลงของดร.วีรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่าค่าเงินบาทไทยในขณะนี้แข็งค่าเกินพื้นฐาน และอาจนำมาซึ่งความไร้เสถียรภาพอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่อาจประทุขึ้นในปี 2020
โดยมีสาเหตุจากปัญหาหนี้สินและภาวะฟองสบู่ (มูลค่าเพิ่มเทียม) ท่วมโลกอันสะสมมานานนับสิบปีด้วยการที่เหล่ากองทุนและนักลงทุนเทขายหุ้น พันธบัตรไทย และขายแลกเงินบาทไทยที่ได้มานั้นเป็นเงินดอลลาร์ เป็นจำนวนมาก ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว โดยไม่สามารถควบคุมได้
ผู้เขียนจึงเรียนเสนอให้กระทรวงการคลังและ ธปท. พิจารณาดำเนินการใช้ Multi-tierfinancial transaction tax (ซึ่งกลุ่มประเทศใน EU เช่นฝรั่งเศส, อิตาลี และสหรัฐเลือกใช้ภาษีนี้ ทั้งในตลาดเงิน ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรในสัดส่วน(portfolio) และอัตราที่แตกต่างกัน) ในส่วนของธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวกับการเก็งกำไรค่าเงิน (ควรใช้ฐานข้อมูลในการแยกแยะผู้นำเข้า-ส่งออก และผู้ดำเนินธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศออกจากกลุ่มผู้เก็งกำไรค่าเงิน และอาจพิจารณาใช้กับการซื้อ-ขายที่มีความถี่สูง และการเก็งกำไรค่าเงินผ่านตราสารอนุพันธ์ในทุกตลาด
ส่วนการซื้อขายหุ้นและพันธบัตรจำนวนมากเพื่อการลงทุน ให้พิจารณาใช้เงินสกุลอื่น เช่น ดอลลาร์ในการซื้อ-ขาย โดยให้หน่วยงาน เช่น กลต. พิจารณาแปลงค่าเป็นหน่วยบาทในลักษณะ Big lot เช่น เมื่อค่าเงินแข็ง (อ่อน) ค่าเกินแนวรับ (แนวต้าน) เช่น 30 บาท/ดอลลาร์ (35บาท/ดอลลาร์) ให้ปรับภาษีธุรกรรมการเก็งกำไรนี้จาก 0.1 เป็น 0.5% และหากค่าเงินผันผวนเกินแนวรับ (แนวต้าน) สำคัญเช่น 29บาท/ดอลลาร์ (36 บาท/ดอลลาร์) ก็ปรับเป็น 1% หรือสูงกว่าในภาวะก้าวกระโดด เช่นอาจเก็บภาษีสูงเกินกว่า 10% ในกรณีที่ค่าเงินเปลี่ยนแปลงมากกว่า 10% จากอัตราเปิดตลาดเป็นต้นเพื่อลดการเหวี่ยงค่าเงินเกินค่าพื้นฐาน
- การออกนอกกกรอบนโยบายการเงินขยายตัวเดิม
ผู้เขียนขอนำเสนอมุมมองระดับโลก ในการยึดครองทรัพย์สินทั่วทั้งโลกของสหรัฐอเมริกาคือ แทนที่จะทำสงครามกับกลุ่มประเทศที่ด้อยกว่าทั่วโลกเพื่อยึดเอาทรัพยากรมาใช้ เช่นในยุคล่าอาณานิคมของประเทศในยุโรป เช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส ในอดีตที่ต้องกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ายึดครอง แต่อเมริกาใช้ (กระดาษเปื้อนหมึก) เงินดอลลาร์ที่ไม่มีทรัพย์สินที่น่าเชื่อถือ (เช่นทองคำ) ค้ำประกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) (กล่าวคือเงินดอลลาร์ทั้งหมดเป็นเงิน QEมาเกือบ 50ปีแล้ว) มาแลกซื้อ(ยึดครอง)ทรัพยากรของทุกประเทศทั่วโลกอย่างมีความชอบธรรม จึงถือได้ว่า50ปีที่ผ่านมาเป็นยุคจักรวรรดินิยม (ทางการเงิน) ของสหรัฐ ซึ่งสร้างความมั่งคั่งอย่างล้นเหลือให้แก่สหรัฐ ตามจำนวนเงินดอลลาร์ที่ธนาคารและประชาชนทั่วโลกเก็บสำรองไว้ และหมุนเวียนใช้จำนวนหลายร้อยล้านล้านดอลลาร์
อันที่จริงแล้วประเทศไทย มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะพิมพ์เงิน QE โดยกระทำการเช่นเดียวกันกับสหรัฐ กล่าวคือ นำเงินที่พิมพ์ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย (คือสัญญาเงินกู้ ว่ารัฐบาลจะนำเงิน(ภาษีของประชาชน)มาชดใช้ให้ในอนาคต เมื่อเศรษฐกิจรุ่งเรือง) และรัฐบาลนำเงินนั้นมาใช้ในการช่วยเหลือประชาชน (เพิ่มอำนาจซื้อ) และประคับประคองธุรกิจส่งออกของประเทศ (ลดค่าเงิน) ในยามเศรษฐกิจถดถอย เพราะประเทศไทย มีดุลบัญชีเงินสะพัด และดุลการค้าเป็นบวกอย่างต่อเนื่องมีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก
ในขณะที่สหรัฐ ไม่มีทุนสำรองดุลบัญชีเงินสะพัดและดุลการค้าติดลบอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือการพิมพ์เงิน QEในกรณีของประเทศไทย คือการยืมเงินในอนาคตของประเทศมาใช้นั่นเอง (เหมือนการที่เราใช้วงเงินบัตรเครดิตและจ่ายคืนเมื่อครบกำหนดชำระพร้อมดอกเบี้ย) และเมื่อรัฐคืนเงินดังกล่าวแก่ ธปท. ระบบการเงินก็กลับมาสู่ภาวะปกติทั้งนี้ภาครัฐน่าจะพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสมให้พ้นจากอำนาจการคุกคามของสหรัฐ
***หากท่านมีข้อคิดเห็น และเสนอแนะกรุณาส่งมาที่ [email protected]***
โดย...
ดร.ไพทัน ตระการศักดิกุล
ตระการ ไตรพิเชียรสุข