แพ็กเกจกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับท่องเที่ยวชุมชน

แพ็กเกจกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับท่องเที่ยวชุมชน

ในอนาคตการท่องเที่ยวชุมชนจะกลายเป็นการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนมากขึ้น และจะมาแทนที่การศึกษาดูงานซึ่งเป็นดีมานด์หลักในปัจจุบัน

 หากชุมชนไม่มีนวัตกรรมที่จะดึงดูดให้เกิดการศึกษาดูงานรอบใหม่ การท่องเที่ยวในส่วนนี้จะค่อยๆ ลดบทบาทความสำคัญลง ชุมชนท่องเที่ยวจึงควรเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ผลการศึกษาโครงการการศึกษาเศรษฐกิจท่องเที่ยวชุมชนอย่างครบวงจร: จากโซเชียลมีเดียถึงชุมชนท่องเที่ยวของผู้เขียนซึ่งได้รับงบประมาณวิจัยจากฝ่ายวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า ปัจจัยที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจท่องเที่ยวชุมชนเป็นพิเศษคือ อาหาร กิจกรรม กาแฟ และบรรยากาศซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถนำมาสร้างสีสันแก่ท่องเที่ยวชุมชนได้ กล่าวคือ

อาหารเป็นจุดขายหลักของหลายชุมชนเช่นชุมชนโฮมสเตย์ที่มีผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร เพราะสด ใหม่ และปลอดภัยจากสารเคมี เช่นการนำไก่บ้าน ไข่ไก่และผักสดอาทิ ผักหวานหรือผักเหลียงจากสวนครัวหลังบ้าน ปลาและหอยจากกระชังของชาวประมงเจ้าบ้านมาปรุงอาหารก็จะสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนโดยเฉพาะผู้ที่มาจากเมืองใหญ่ อย่างไรก็ดี การสร้างความหลากหลายให้กับเมนูอาหารดั้งเดิมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นเคย ดังนั้น อาจมีการเลือกหรือสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ที่ยังคงใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ไก่อบฟาง ยำใบชา เป็นต้น หรือการนำเสนอเมนูอาหารที่ช่วยเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเจ้าบ้านกับผู้มาเยือน เช่น การกินหมูกระทะที่หมักหมูด้วยสมุนไพรสูตรท้องถิ่น เป็นต้น

กิจกรรมสำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถจะบรรจุไว้ในแพ็กเกจการท่องเที่ยวชุมชนในรูปแบบของการพักผ่อน อาจประกอบด้วย

กิจกรรมถ่ายรูป เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวรุ่นหนุ่มสาวนิยมมากที่สุด ซึ่งชุมชนอาจออกแบบพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเช็คอินแล้วส่งรูปถ่ายไปให้เพื่อนๆ เช่น พื้นที่เนินเขาที่ปกคลุมด้วยดอกเฟื่องฟ้าหรือบางพื้นที่อาจสร้างตัวมาสคอต (Mascot) ของชุมชน โดยอาจจะใช้ตุ๊กตาฟางหรือพุ่มไม้ดัดรูปสัตว์ท้องถิ่นเช่นรูปช้าง เป็นต้นทั้งนี้ พื้นที่ที่จะพัฒนาต้องมีแสงสว่างที่เหมาะสำหรับการถ่ายรูปทั้งในยามเช้าและยามบ่ายได้

กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวทำด้วยตัวเอง (DIY)เช่น ขุดหน่อไม้มาทำกับข้าว ปั้น อบ ทาสีและร้อยลูกปัด พายเรือ ทำกับข้าวและขนมท้องถิ่นแบบง่ายๆ เป็นต้น

กิจกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร รับพร รดน้ำมนต์ ทำบุญเสริมดวง ให้อาหารปลาในเขตอภัยทาน ทำและถวายตุงให้พระธาตุ เป็นต้น

กิจกรรมการมีส่วนร่วม เช่น มีส่วนร่วมในงานขบวนฟ้อนหรือขบวนแห่ในเทศกาลของหมู่บ้าน

กิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การบวชป่า การเก็บขยะ เป็นต้น

กิจกรรมที่ต้องมีปราชญ์ผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นเป็นผู้นำ เช่น ดูนก เป็นต้น

ร้านกาแฟ เป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญของการท่องเที่ยวชุมชนในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นที่นัดพบปะของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่พักในชุมชนนอกจากนี้การดื่มกาแฟยังเป็นแนวโน้มการใช้เวลาและใช้จ่ายสำหรับคนรุ่นใหม่รวมทั้งนักท่องเที่ยวจีนด้วย หากร้านกาแฟมีห้องน้ำสะอาดก็จะช่วยทำให้การพักผ่อนในชนบทไทยมีความสะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนี้ ในหมู่บ้านที่มีการปลูกกาแฟหรือชาและมีการคั่วบดกาแฟเอง ควรมีการแสดงเป็นตัวอย่างและมีกาแฟหรือชาให้นักท่องเที่ยวชิมด้วย

บรรยากาศ บรรยากาศเป็นจุดขายสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ซึ่งจะทำกิจกรรมที่ตนเองทำเป็นกิจวัตรแต่อยู่ในบรรยากาศที่แตกต่างออกไป เช่น นวดที่ชายหาดหรือริมน้ำ รับประทานอาหารเย็นใต้แสงดาวหรือแสงเดือน การรับประทานอาหารที่ชายหาดหรือชายทุ่งในยามพระอาทิตย์กำลังลับเหลี่ยมเขา น่าเสียดายที่หลายชุมชนมีพื้นที่ที่มีบรรยากาศดี แต่ยังใช้บรรยากาศในท้องถิ่นน้อยไป หากชุมชนเลือกทำกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีบรรยากาศดีแทนเลือกทำกิจกรรมในห้องก็จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้สึกประทับใจได้มากขึ้น

เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบดังที่กล่าวมาแล้ว ชุมชนท่องเที่ยวสามารถจะจัดแพ็กเกจที่มีความแตกต่างกัน ได้ดังต่อไปนี้

เดินป่า  -->  นวดไทย --> ดินเนอร์ใต้แสงดาว/ แสงเทียน

พายเรือไปจ่ายตลาด -->  หัดทำเครื่องดื่มสมุนไพร --> เก็บเห็ด/ ขุดหน่อไม้ ทำกับข้าว (เพื่อเตรียมตักบาตรวันรุ่งขึ้น)

ท่องเที่ยวเกษตร --> สปากระโจม -->  ทำขนมครก/ ขนมเผือก/ ขนมกล้วย --> นวดไทยใต้แสงจันทร์

ทำบุญตักบาตร -->  ชมนก  -->  พักผ่อนกินกาแฟบด/ ต้มเอง  -->  ปิ้งหมูกระทะ

เส้นทางกาแฟ  --> ดื่มกาแฟชมบรรยากาศ  -->  วัฒนธรรมชาติพันธุ์ 

ทำไก่อบฟาง  --> ดื่มกาแฟชมบรรยากาศ  -->  วัฒนธรรมชาติพันธุ์

หมูปิ้ง  -->  ล่องเรือ -->  เกษตรนิเวศ

เล่นน้ำตก/ ลอยห่วงยาง  -->  อาหารท้องถิ่น  -->  ดนตรีพื้นบ้านใต้แสงจันทร์

สุดท้ายก็ควรมีการกำหนดข้อตกลงด้านการควบคุมจำนวนและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวอย่างพอเพียง ชุมชนที่เริ่มมีชื่อเสียงมักจะมีผู้มาเยี่ยมชมหรือมาพักเกินขีดความสามารถในการรองรับของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มของผู้ที่ไม่มาค้างคืน (Day trip) ทำให้เกิดความแออัดในพื้นที่และอาจส่งผลต่อคุณภาพของการต้อนรับขับสู้ จนสร้างความไม่พึงพอใจให้ผู้มาเยือน เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในเครือข่ายสังคมออนไลน์ และอาจมีผลกระทบทางลบที่รุนแรงต่อมาในภายหลังได้ ข้อตกลงนี้อาจใช้จำนวนห้องพักของโฮมสเตย์เป็นหลักบวกด้วยจำนวนผู้มาเยือนรายวัน ซึ่งต้องตกลงกับชาวบ้านที่มิได้อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวด้วยว่าควรเป็นเท่าไร ซึ่งวิธีการนี้เป็นการจัดการขีดความสามารถในการรองรับด้านสังคม (Social Carrying Capacity) และควรสร้างกลไกเช่น Facebook เพื่อแจ้งข่าว การรับจอง รวมทั้งขีดจำกัดในการรองรับแต่ละวัน และใช้เป็นช่องทางนำเสนอข้อมูลให้นักท่องเที่ยวก่อนตัดสินใจเดินทางมา เพื่อลดความคับคั่งของจำนวนนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ควรมีกติกาส่วนรวมที่กำกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวให้เป็นไปตามจารีตของชุมชน เช่น ห้ามส่งเสียงดัง ห้ามเล่นการพนัน ไม่ให้มีการดื่มเหล้า เบียร์ ต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย เป็นต้น โดยควรแจ้งกฎเหล่านี้ให้นักท่องเที่ยวรับทราบก่อนทำการจอง

แล้วทุกคนก็จะแฮปปี้ในปี 2563 สวัสดีปีใหม่ค่ะ

โดย... 

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ