แรงงานนักกีฬาอาชีพในอาเซียน
ปัจจุบันวงการกีฬาไทยเติบโตอย่างก้าวหน้าจนกลายมาเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ของอาเซียน เพราะมีกลไกการสนับสนุนจากภาครัฐ นั่นคือ “การกีฬาแห่งประเทศไทย"
ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามอบหมายให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) คัดเลือกต้นแบบในการจัดตั้งเมืองกีฬา (Sports City) ตามแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560 – 2564) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬา เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก กกท. มีหน้าที่ในการสนับสนุน ส่งเสริมกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ และกีฬาเพื่อการอาชีพ ซึ่งการพัฒนาการกีฬา และอุตสาหกรรมกีฬาแบบครบวงจรในทุกมิติ จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาบุคลากรกีฬา และผู้จัดการแข่งขันกีฬาให้มีขีดความสามารถและประสบความสำเร็จในระดับชาติและนานาชาติ
การได้รับยอมรับว่า วงการกีฬาไทยมีพัฒนาการและความก้าวหน้าในอาเซียน สะท้อนจากสถิติการครองความเป็นเจ้าเหรียญทองจากกีฬาหลากหลายประเภท อย่างไรก็ตาม เมื่อกีฬาได้กลายมาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่ง ณ ขณะนี้ ดูเหมือนว่าสิงคโปร์จะก้าวหน้าที่สุดในอาเซียน จึงลงทุนก่อสร้างศูนย์กีฬาขนาดใหญ่ สร้างบุคลากรด้านกีฬา ผลิตอุปกรณ์กีฬาภายใต้แบรนด์สิงคโปร์ และรวมไปถึงการพัฒนากีฬาอาชีพ ซึ่งนั่นทำให้วงการกีฬาของสิงคโปร์พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเรื่องของจำนวนประชากร
อาเซียนได้กําหนดทิศทางที่แน่ชัดถึงการจัดตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถือเป็นเพียง 1 ใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน โดยอีก 2 เสาหลักคือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และได้มีการจัดทํากฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ขึ้นเพื่อการดําเนินงานไปสู่ประชาคมอาเซียน มีการคาดการณ์กันว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกเพราะมีการรวมกลุ่มเศรษฐกิจเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน (Single Market) ซึ่งย่อมทำให้เกิดการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างประเทศสมาชิกกันมากขึ้น การหลั่งไหลอย่างเสรีของฝีมือแรงงานจากจุดมุ่งหมายนี้เองมีข้อตกลงในระหว่างอาเซียนด้วยกันที่เรียกว่า “ข้อตกลงร่วมกันด้านคุณสมบัติในสาขาวิชาชีพ” (Mutual Recognition Arrangement = MRA)
การเปิดเสรีด้านแรงงานในภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สําคัญในภูมิภาคนี้ แต่ปัจจุบันยังเกิดความสับสนกันมากเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศของกลุ่มอาเซียน เนื่องจากหลายคนเข้าใจว่าเมื่อมีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี 2558 แล้ว แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor) จะหลั่งไหลเข้ามาทํางานในประเทศของตนและจะเข้ามาแย่งงานของคนในชาติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสมาชิกทั้ง 10 ประเทศไม่เคยมีการตกลงที่จะให้มีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor) แต่อย่างใด
เป้าหมายในการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีก็เป็นเพียงเฉพาะแรงงานฝีมือ (Skilled Labor)เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปัจจุบันการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน จะมีก็เพียงการกําหนดคุณสมบัติไว้ก่อนเท่านั้น โดยกําหนดไว้ในข้อตกลงร่วมกันด้านคุณสมบัติในสาขาวิชาชีพ (MRA) ของอาเซียน ซึ่งยอมรับให้มีการเคลื่อนย้ายอาชีพด้วยกันเพียง 8 กรณีเท่านั้น คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักสำรวจ นักบัญชีและอาชีพการท่องเที่ยว
การเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ศาลยุติธรรมแห่งยุโรปได้กำหนดแนวทางการขจัดข้อจำกัดที่เข้มงวดในหลายภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ กล่าวคือ ศาลได้ยืนยันว่ากฎหมาย European Law บังคับใช้กับแง่มุมทางอุตสาหกรรมกีฬาด้วย จึงส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญทักษะทางด้านกีฬาสามารถที่จะเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระเสรีภายในสหภาพยุโรป เห็นได้จากคำตัดสินในคดี Bosman คดีที่รู้จักกันดีและนำไปสู่การยกเครื่องระบบการถ่ายโอนในวงการฟุตบอลยุโรป นักกีฬาที่มาจากสหภาพยุโรปหรือสมาชิกในครอบครัวของบุคคลในสหภาพยุโรปในขณะนี้จะได้รับสิทธิการเคลื่อนไหวอย่างเสรีในสนธิสัญญาการทำงานของสหภาพยุโรป Treaty on the Functioning of the European Union (TFEU) ซึ่งรวมถึงความสามารถในการเดินทางอาศัยและทำงานอย่างอิสระในรัฐสมาชิกใดๆ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของพลเมืองของรัฐ
ดังนั้นประเทศไทยจึงควรให้ความสําคัญกับการเตรียมการรองรับการเคลื่อนย้ายของแรงงานผู้เชี่ยวชาญทักษะทางด้านกีฬาอย่างเสรีสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในด้านต่างๆ โดยควรศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานผู้เชี่ยวชาญทักษะทางด้านกีฬาจากการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่เอื้อต่อพัฒนาการของตลาดแรงงานอาเซียน ความรอบรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานของประเทศ และกฎเกณฑ์ภายใต้กรอบของกฎบัตรอาเซียนจะนําไปสู่การบังคับใช้
ตลอดจนการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานในอาเซียนซึ่งหมายถึงศักยภาพที่จะดูแลทั้งแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทักษะทางด้านกีฬาที่ข้ามชาติเข้ามาทํางานในไทย และแรงงานผู้เชี่ยวชาญทักษะทางด้านกีฬาไทยที่จะข้ามชาติไปทํางานในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น กฎหมายและนโยบายของไทยซึ่งไม่ควรขัดต่อกฎบัตรอาเซียน ตลอดจนพันธกรณีระหว่างประเทศอื่นๆ ที่จะผูกพันประเทศไทยในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการแรงงานข้ามชาติในทุกมุมมองและทุกบริบท
โดย...
พรพล เทศทอง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์