ต่างมุมมอง: ผลกระทบของไวรัสอู่ฮั่นต่อเศรษฐกิจโลก

ต่างมุมมอง: ผลกระทบของไวรัสอู่ฮั่นต่อเศรษฐกิจโลก

ท่ามกลางข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสในเมืองอู่ฮั่นของจีน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจในต่างประเทศได้ออกมาคาดการณ์เกี่ยวกับผลกระทบ

ที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกกันบ้างแล้ว ผมจะขอยกตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นและเหตุผลที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่าย เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ใช้เป็นส่วนประกอบในการพิจารณาตามดุลยพินิจของแต่ละท่านเอง ดังนี้

มุมมองของฝั่งที่เชื่อว่าไวรัสอู่ฮั่นมีผลกระทบทางลบที่จำกัดต่อเศรษฐกิจจีนและโลก  ยกตัวอย่างเช่น ศาสตราจารย์ทางด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ Shang-Jin Wei จาก Columbia Business School คาดการณ์ว่าสำหรับกรณีฐาน (baseline scenario) นั้น รัฐบาลจีนและ WHO น่าจะสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในต้นเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้ผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจจีนนั้นมีจำกัด กล่าวคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี ค.ศ.2020 น่าจะลดลงเพียง 0.1% เท่านั้น 

แม้ว่าผลกระทบทางลบในไตรมาสแรกของปีนี้น่าจะมีมากกว่าตาม แต่ก็จะถูกชดเชยด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสอื่นๆ ที่เหลือของปีนี้ ซึ่งถือเป็นการคาดการณ์ในลักษณะที่อิงกับเหตุการณ์ในสมัยที่เกิดการระบาดของ SARS ในปี ค.ศ. 2003 นั่นเอง ในครั้งนี้จีนได้ประกาศใช้มาตรการการควบคุมป้องกันที่เข้มงวดและทันต่อเหตุการณ์มากกว่าเมื่อครั้งสมัยที่ SARS ระบาดอีกด้วย 

นอกจากนี้ การที่จีนและสหรัฐได้ตกลงทำสัญญาระงับข้อพิพาททางการค้าชั่วคราวหรือ “phase one” ก็ถือว่าเกิดขึ้นในจังหวะที่เหมาะเจาะ เพราะช่วยให้จีนสามารถนำเข้าหน้ากากป้องกันการติดเชื้อและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นอื่นๆ ได้จากประเทศสหรัฐด้วย ส่วนผลกระทบของการที่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจจีนลดลงประมาณ 0.1% นั้น จะส่งผลกระทบทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปลดลงเพียงประมาณ 0.02% เท่านั้น

ดังนั้นการคาดการณ์ภายใต้กรณีฐานนี้ การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสจึงน่ามีผลกระทบทางลบที่จำกัด ทั้งต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกด้วย

มุมมองของฝ่ายที่เชื่อว่าไวรัสอู่ฮั่นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

Stephen S. Roach จากมหาวิทยาลัยเยล กลับมีความเห็นในทางตรงข้ามว่า ภายหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา อัตราการขยายตัวทางการค้าของโลกได้ลดลงเหลือเฉลี่ยประมาณ 13% ต่อปีในระหว่างช่วงปี ค.ศ.2010-2019 จากเดิมที่เคยขยายตัวได้สูงมากกว่านี้มากในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1990-2008 ในขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกตามการคาดการณ์ชอง IMF สำหรับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.9% เท่านั้น จึงทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

หากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสนี้สามารถขยายวงกว้างขวางได้มากกว่าในปัจจุบัน เพราะเราจะไม่สามารถคาดหวังให้ระบบการค้าโลกมาเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจโลกพ้นจากภาวะถดถอยเหมือนเช่นในอดีตก่อนหน้าวิกฤตการณ์ทางการเงินได้อีกต่อไป แม้ว่าที่ผ่านมาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐจะคลี่คลายลงได้ในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่อัตราภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ยของสหรัฐที่เก็บจากสินค้าจีนก็ยังอยู่ในระดับที่สูงถึงประมาณ 19% เมื่อเทียบกับสมัยก่อนเกิดสงครามการค้าที่มีภาษีนำเข้าเฉลี่ยงเพียง3% เท่านั้น และยังไม่รวมโอกาสที่จะเกิดปัญหาทางการค้าระหว่างสหรัฐและยุโรปอีกด้วย ดังนั้นเราจึงไม่อาจคาดหวังได้มากนักว่า อัตราการขยายตัวของการค้าโลกจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มากในอนาคต

รัฐบาลไทยควรรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอย่างไร

เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจโลก ไม่ให้ต้องถูกกระทบมากจากภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เราจึงควรต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดให้มีเหลือน้อยที่สุด และหันไปดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้องให้มากขึ้น ตัวอย่างของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ที่ผ่านมาก็เช่น “นโยบายชิม ช้อป ใช้” ที่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วว่าไม่เกิดผลดีต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งผมก็ได้เคยวิเคราะห์แล้วในคอลัมน์นี้ว่าจะทำให้เราสิ้นเปลืองงบประมาณที่ควรจะเก็บไว้เป็นกระสุนเพื่อใช้ในยามวิกฤตมากกว่า 

ส่วนตัวอย่างของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ถูกต้องที่ผ่านมาก็คือ กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ที่มีการปรับเกณฑ์ ด้านอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) เพื่อเป็นการสกัดกั้นปัญหาฟองสบู่ในราคาอสังหาริมทรัพย์ แม้มาตรการนี้จะถูกต่อต้านและไม่เห็นด้วยจากนักลงทุนเอกชนจำนวนมากก็ตาม 

แต่เราก็ได้เห็นแล้วในตอนนี้ว่า มาตรการนี้ได้ช่วยลดความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจไทยและสถาบันทางการเงินโดยรวมหากปรากฏว่าเศรษฐกิจจีนและโลกจะต้องเผชิญกับความผันผวนมากขึ้นจนเข้าสู่ภาวะถดถอยอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันเรื่องการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส จึงนับเป็นนโยบายที่ดีสำหรับการรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในเวลานี้