ฤา ไทย จะต้องเสียค่า (ไม่)บริหารเงินบาทกว่า 3 ล้านล้านบาท
ปัญหาค่าเงินบาทแข็งอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงถึงการสูญเสียรายได้ของธุรกิจส่งออกไทย
ซึ่งเป็นกลไกหลักสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาทใน 3 ปีที่ผ่านมา กระทบปัญหาปากท้องของเกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งทั้งทางภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย นักวิชาการชั้นนำ และภาคเอกชน ได้ร่วมกันแสดงความรับผิดชอบด้วยการประชุมปรึกษาหารือ สื่อสารกับประชาชนและผู้ประกอบการผ่านสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโครงการ มาตรการ และวิธีการ เพื่อค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสม และไม่แข็งค่ามากขึ้น เช่นหลายปีที่ผ่านมา
ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้แสดงความเห็นอันเกี่ยวโยงกับการออกแบบยุทธวิธีทางการเงินด้วยการออกข่าวชี้แจงอย่างต่อเนื่องว่าปัญหาค่าเงินบาทแข็งนี้ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่เกี่ยวพันกับการเก็งกำไรค่าเงินระยะสั้นแต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนว่าค่าเงินบาทแข็งย่อมจะต้องมีมูลเหตุพื้นฐานมาจากสภาพของระบบเศรษฐกิจไทยที่มั่นคงกว่าประเทศอื่นหลายประเทศในโลก สังเกตได้จากการมีดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
และผู้เขียนเชื่อว่า แม้การที่ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง และระบบเศรษฐกิจมั่นคงกว่าประเทศอื่นดังกล่าว จะเป็นมูลเหตุพื้นฐานในการทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นเช่นที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนก็ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการ มาตรการ และแผนปฏิบัติการ อีกทั้งยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีที่สามารถแก้ไข (เช่น ยับยั้ง หรือ ผ่อนคลาย) การแข็งค่าของเงินบาทไทยในระยะสั้นเฉพาะหน้า (เช่น 3-6 เดือนจากนี้) และแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างควบคู่กันไป.
ประเด็นแรกที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ คือ ถ้อยแถลงของ ธปท. ที่ว่า การแข็งค่าของเงินบาทไม่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งหากเป็นจริง การแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งตามสมมติฐานนี้ (กล่าวคือหากดุลบัญชีเดินสะพัดส่วนเกินที่ก่อให้เกิดการขายเงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์ ยูโร เป็นต้น และซื้อเงินบาทไทยเป็นศูนย์ (หรือต่ำมาก) ค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าเพิ่มขึ้น) ก็จะเรียบง่ายมาก[1] กล่าวคือ ธปท. สามารถจูงใจกลุ่มผู้ส่งออกขนาดใหญ่นำฝากเงินรายได้ (ส่วนหนึ่งของกลุ่มรวมแล้วเท่ากับ) ในส่วนที่เกินดุลฯ มาฝากไว้ใน FCD(Foreign Currency deposit)เฉลี่ยเดือนละ 2,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 75,000 ล้านบาท)โดยให้ Incentive แก่ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก เป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน (ซึ่งเงินตราต่างประเทศที่ฝากในบัญชี FCD ไม่ถือเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ) และให้ธนาคารไทยผู้รับฝากอนุมัติเงินกู้เป็นเงินสกุลบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น โดยทางธนาคารผู้รับฝาก สามารถคัดเลือกลูกค้าที่มีเครดิตได้ตามต้องการ
ดังนั้นค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการนี้ ก็คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (เช่นที่ MRR+0) บวกกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นดอกเบี้ยเฉลี่ยรวมในปีแรกเท่ากับ ล้านบาทและให้ธนาคารผู้รับฝากถือเงินสกุลต่างประเทศที่รับฝากไว้นั้นเป็นทรัพย์สินค้ำประกัน และอนุมัติวงเงินกู้เป็นสกุลเงินบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น บนสมมติฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ว่าหากดุลบัญชีเงินสะพัดไม่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง เงินบาทจะไม่แข็งค่า การดำเนินการเช่นนี้ย่อมสามารถยับยั้งการแข็งค่าของเงินบาทได้โดยสิ้นเชิง โดยให้ธปท. เป็นเจ้าภาพผู้ออกค่าดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวตลอดระยะเวลากู้ ซึ่งเป็นจำนวน 35,415 ล้านบาทในปีแรก และเมื่อใดที่ได้ใช้เงิน US$ ที่นำมาฝากจะด้วยความต้องการของภาครัฐ หรือเอกชนก็ดี การคิดดอกเบี้ยนี้ก็ถือเป็นอันสิ้นสุด (โดยองค์กรผู้ลงทุนนำฝากเงินบาทเป็นมูลค่าเท่าค่าเงินตราต่างประเทศที่จะนำไปใช้ลงทุนในต่างประเทศในอัตราแลกเปลี่ยนเดิมคล้ายการปลดจำนนองสินทรัพย์ค้ำประกันนั่นเอง)
กล่าวอีกนัยหนึ่ง เงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 35,415 ล้านบาทนี้คือเงินที่ใช้ในการประวิงเวลาในการหาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ วงเงินทั้งสิ้น ประมาณ 900,000 ล้านบาทใน 1 ปี โดยไม่ก่อปัญหาค่าเงินบาทแข็งนั่นเอง
ทั้งนี้หากภาครัฐ และเอกชนสามารถพัฒนาโครงการลงทุนในต่างประเทศได้ครบปีชนปี จะเสียค่าใช้จ่ายต่อ 3 ปีเท่ากับ 106,245 ล้านบาท และต้องถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้ว่าจะต้องการใช้เวลา 2 ปี ซึ่งค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะถือเป็น 3 เท่าในปีที่ 2 หรือ 3 ปี (กรณีที่ไม่สามารถหาโครงการลงทุนได้เลยตลอด 3 ปี) โดยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 5 เท่า ในปีที่ 3 รวมดอกเบี้ยทั้งสิ้น ทั้ง 3 ปี = 318,735ล้านบาทก็ยังคุ้มค่ากว่าการดำเนินการแทรกแซงค่าเงินบาทของธปท.ตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา ที่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ประมาณ 250,000 ล้านบาท แล้วเงินบาทก็ยังคงแข็งค่า ซึ่งทำให้กลุ่มธุรกิจส่งออกสูญเสียรายได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวมแล้วประมาณ 3 ล้านล้านบาท
หากการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นเกิดผลตามที่ประสงค์ คือ ทำให้เงินบาทยุติการแข็งค่า กล่าวคือสมมติฐานที่ว่า การที่เงินบาทแข็งค่าจะเกิดจากสาเหตุเพียงเพราะดุลบัญชีเงินสะพัดเป็นบวกอย่างต่อเนื่องเท่านั้น เป็นจริงถือได้ว่าการแทรกแซงค่าเงินบาทที่ผ่านมาของธปท. ตลอดระยะเวลาเฉพาะ 3 ปีที่ผ่านมานี้ เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกวิธีและเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้และค่าใช้จ่ายที่ไม่สมควรต้องสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ในมุมกลับหากสมมติฐานดังกล่าว (เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นเพราะดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกอย่างต่อเนื่องเท่านั้น)ไม่เป็นจริง จะเป็นการแสดงถึงผลกระทบที่แท้จริงจากการไม่บริหารค่าเงินบาทตามสมควร เช่น การละเลยปราศจาก มาตรการ และยุทธวิธีในการกำกับดูแลกระแสการเก็งกำไรค่าเงินและไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการดุลบัญชีเดินสะพัด อันทำให้เงินบาทแข็งเกินพื้นฐาน กระทั่งเป็นปัญหากระทบต่อรายได้ของกลุ่มธุรกิจส่งออกเฉพาะระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมากว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งโดยปกติแล้ว เมื่อยอดการส่งออกหดตัว ยอดการนำเข้าก็หดตัวตาม แต่หากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องจะก่อให้เกิดการรัดเข็มขัดลดรายจ่าย (ซึ่งอีกฝั่งก็เป็นรายได้ของผู้ประกอบการ และลูกจ้างทุกระดับชั้น) ทำให้เกิดเป็นวงจรลบที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะถดถอย และวิกฤตเศรษฐกิจได้ในที่สุด
การที่เงินบาทแข็งค่าเกินพื้นฐานนั้น เกิดจากไม่เพียงเพราะดุลบัญชีเงินสะพัดเป็นบวกอย่างต่อเนื่องแต่ด้วยการที่กระแสการเก็งกำไรค่าเงินเข้าซ้ำเติมอย่างมาก (ปริมาณเงินหมุนเวียนในตลาดเงินตราระหว่างประเทศที่ผูกกับเงินบาทไทย มากกว่า GDP ของประเทศไทยหลายเท่า) และหากธปท. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประสงค์ที่จะให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น กล่าวคือแข็ง / อ่อนค่าสอดคล้องกับพื้นฐาน ก็สามารถจัดการได้ด้วยวิธีการใช้ Multi-tierFinancial transaction ( currency speculation) tax (คิดภาษีธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรค่าเงิน) ซึ่งจะช่วยค่าเงินบาทไทยแปรผันตามดุลบัญชีเดินสะพัดและสามารถจัดการได้โดยวิธีการที่นำเสนอข้างต้น
รัฐบาล และ ธปท. ควรพิจารณาเปรียบเทียบ ส่วนได้ส่วนเสียจากการใช้ Multi-tier financial transaction (currency speculation) taxนี้ ระหว่างการสูญเสียรายได้ และความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกและภาคเกษตรของประเทศอันเป็นมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง และส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับรากหญ้าที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ กับการลดลงของปริมาณหมุนเวียนในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา (ในกรณีของประเทศสวีเดน การคิดภาษี 0.01%ในตลาดอนุพันธ์ และ 0.1% ในตลาดทั่วไป ลดปริมาณการหมุนเวียนลง40% ได้ยอดภาษี 0.38% ของ GDP) ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงอันใด และผลประโยชน์ยังตกอยู่กับกลุ่มบุคคลจำกัด ซึ่งมุ่งหวังประโยชน์จากการเก็งกำไร กระทั่งส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และหากประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือภาวะวิกฤต ไม่เพียงแต่การเก็งกำไรทั้งใน ตลาดเงินและตลาดทุน จะมิได้มีส่วนช่วยเหลืออะไร แต่ยังจะซ้ำเติมให้ภาวการณ์ทางลบนั้นให้เลวร้ายลงไปอีกมาก และแก้ไขได้ยากยิ่งขึ้นอีกด้วย.
กรณีที่รัฐบาลและ ธปท.ไม่ประสงค์ให้การบริหารค่าเงินบาทมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสะสมเพิ่มขึ้นทุกเดือน ขอเรียนเสนอให้ธปท. เปิดบัญชีรับฝากสกุลเงินต่างประเทศ ในส่วนที่เกินบัญชีดุลเดินสะพัดในต่างประเทศเพื่อให้กลุ่มผู้ส่งออกสามารถนำฝากเงินตราต่างประเทศส่วนเกินดุล(ประมาณ 2,500 ล้านUS$) ในบัญชีดังกล่าวได้โดยให้ ธปท. ฝากเงินสกุลบาทจำนวนประมาณ 75,000 ล้านบาทกับธนาคารพาณิชย์ไทยที่กลุ่มผู้ส่งออกขนาดใหญ่ดังกล่าวเปิดบัญชีอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้เมื่อผู้ส่งออกฝากเงินตราต่างประเทศเข้าบัญชี ธปท. ที่เปิดไว้เมื่อใด ก็สามารถรับโอนเงินสกุลบาทจากธนาคารพาณิชย์ได้ทันทีและธปท. สามารถใช้เงินสกุลต่างประเทศที่ผู้ส่งออกนำมาไว้ในบัญชีสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่น่าเชื่อถือ เช่นทองคำ/พันธบัตรต่างประเทศ เมื่อประสงค์ในทันทีได้เช่นกัน
โดยภาพรวม การดำเนินการเช่นนี้คือนโยบายการเงินแบบขยายตัวโดยการเพิ่มปริมาณเงินที่มีหลักทรัพย์ที่น่าเชื่อถือค้ำประกัน 100% (ในกรณีที่ธปท.ไม่มีเงินสดเพียงพอให้พิมพ์ธนบัตรล่วงหน้าในยอดประมาณการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะเป็นเงิน QE เพียงชั่วคราวขณะที่พักไว้ธนาคารพาณิชย์ไทย (contemporary QE) เพื่อจ่ายแก่ผู้ส่งออก) ส่วนเงินสดที่เป็นบาทไทยซึ่งเดิมใช้แลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศที่เป็นรายได้ของกลุ่มผู้ส่งออกในส่วนที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดขอเรียนเสนอให้ใช้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเป็นงบประมาณในการโครงการสนร้างโครงสร้างพื้นฐาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากต่อไป.
ประเด็นที่สองได้แก่ เรื่องการเสนอให้ทำ QE ซึ่งเป้าประสงค์ที่แท้จริงคือ การดำเนินกลยุทธ์ทางการเงิน โดยการสร้างความเข้าใจในเหตุการณ์และความตระหนักถึงเหตุผลที่นำมาสร้างความชอบธรรมในการพิจารณานโยบาย QE ซึ่งถือเป็นยุทธวิธีทางการเงิน(เพียงการรับพิจารณาQE เป็นทางเลือกอย่างสมเหตุผล จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้)และถือเป็นการไม่ประมาท คือ ไม่รอให้วิกฤตเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยมาคิดแก้ไข เข้าทำนอง ไม่รอให้ต้นไม้ยืนต้นตายแล้วค่อยมารดน้ำ เพราะเมื่อวิกฤตเกิดขึ้นแล้วจะมีองค์กร/หน่วยธุรกิจประสบภาวะล้มละลายเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตอนนั้นการพิมพ์เงินแม้จำนวนมากมหาศาลก็ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ ทั้งระบบธุรกิจทางกายภาพและขวัญกำลังใจของกลุ่มนักลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล เป็นการใช้เงิน QE ในการสร้างสภาพคล่อง และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นหนึ่งในแนวนโยบายหลักของคณะรัฐบาลชุดนี้อยู่แล้ว จึงควรต้องพิจารณาดำเนินการโดยเร็ว
เพราะโดยธรรมชาติของภาคธนาคาร เมื่อธุรกิจมีปัญหา สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ไม่แน่นอน ก็มักไม่อนุมัติวงเงินกู้เพิ่ม หรือเพิ่มก็ด้วยอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่าปกติ มิต้องพักกล่าวถึง Soft loan ซึ่งเมื่อวิกฤตเกิดขึ้นจริง ก็จะมีให้อย่างจำกัด ไม่เพียงพอกับหน่วยธุรกิจที่แม้มีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก(และมีแนวโน้มยาวนาน) ได้ ผู้เขียนเข้าใจถึงบทบาทของธปท. ในการพิจารณา คิดหน้าคิดหลัง ทั้งทีได้ทีเสีย ในการดำเนินการพิมพ์เงิน QE ว่าอาจจะกระทบกระเทือนเครดิตของประเทศหากแต่การรับพิจารณาดำเนินการพิมพ์เงิน QE ไว้ล่วงหน้า เมื่อมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มปรากฎชัดเจน ก็สามารถพิจารณาใช้ได้ทันท่วงที ย่อมจะดีกว่า การรอให้เกิดวิกฤตแล้วค่อยมาเริ่มดำเนินการพิจารณา แต่หากไม่เกิดวิกฤต ก็ไม่จำเป็นต้องใช้
ในส่วนของยุทธศาสตร์ทางการเงิน เพื่อลดแรงกดดัน และการคุกคามทางการเงิน และการค้าของสหรัฐฯ ผู้เขียนขอเรียนเสนอให้ ธปท. และภาครัฐ ริเริ่มเสนอโครงงาน ธนาคารกลาง (เพื่อสกุลเงินดิจิตอล) ของอาเซียน (Central bank ( digital currency) of ASEAN) ทั้งนี้เพื่อใช้ในการประคับประคอง แก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศ และ การปกป้องการเอาเปรียบทางการเงินจากประเทศมหาอำนาจในอนาคต (การนำเงิน QE ที่พิมพ์ขึ้นโดยไม่มีสินทรัพย์ที่น่าเชื่อถือค้ำประกัน มาแลกเปลี่ยนนำทรัพยากร และเงินตราของอาเซียนไปใช้ประโยชน์เสมือนว่ามีความชอบธรรม) โดยธนาคารกลางอาเซียนควรจะมีบทบาทในการกำกับดูแล และประสานงาน และนโยบายทางการเงิน (ทั้ง fiat และ digital) และ เงิน QE ของอาเซียน ได้แก่ ถ้าจะพัฒนา (digital) QE ควรทำเพื่อโครงงานอะไร จำนวนเท่าใด ระยะเวลาออกใช้ ควรยาวนานเพียงใด และ ใช้คืนเมื่อใด เป็นต้น.
ประเด็นที่สาม ได้แก่เรื่องSovereign wealth fund ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น ไต้หวัน, เกาหลีไต้ และสิงคโปร์ ใช้อย่างประสบความสำเร็จได้นั้น สาเหตุสำคัญหนึ่งเกิดจากการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมีการร่วมมือวิจัยและลงทุนในต่างประเทศของภาครัฐภาคเอกชน และภาคการอุดมศึกษา อย่างเป็นปึกแผ่นต่อเนื่องเป็นเวลานับสิบปี จึงสามารถใช้ Sovereign wealth fund ได้อย่างมีประสิทธิผลมีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพของค่าเงินในประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ได้ ซึ่งผู้เขียนต้องขอโอกาสในการเชิดชูเกียรติ และกล่าวสดุดีท่านมา ณ ที่นี้ด้วย
กล่าวคือ ทั้งที่การชักจูง ริเริ่มโครงการให้นักลงทุน และผู้ประกอบการ ให้นำเงินทุนจำนวนมากไปลงทุนต่างประเทศท่ามกลางภาวการณ์ที่เศรษฐกิจโลก ถดถอย และผันผวน และธุรกิจส่วนใหญ่ มียอดขาย และกำไรลดลง เป็นวาระที่เป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง แต่ท่านก็ยังเสียสละ อดทนแบกรับภาระดังกล่าว เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชนชั้นรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด อันเป็นวิสัยของชนชั้นผู้นำประเทศ ผู้มีคุณธรรม และอุดมการณ์อันเข้มแข็งมั่นคง และสติปัญญาอันสุขุมลึกซึ้ง จึงจะกระทำได้ กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายคือ ปัญหาที่มีผลกระทบถึงชะตากรรมของประเทศเป็นมูลค่าต่อเนื่องระดับ หลักล้านล้านบาท เช่นนี้ ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้โดยง่ายสะดวกดาย ปราศจากอุปสรรคความเสี่ยงใด โดยแท้ที่จริงแล้ว ย่อมจะต้องมี อุปสรรคปัญหา ความเสี่ยงไม่แน่นอนอย่างหนักหน่วงในหลากหลายมิติ แต่ท่านก็ยินดีเสนอตัวเข้าแบกรับ
ลักษณาการเช่นนี้ อาจเปรียบได้กับ การที่ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ริเริ่ม คณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้นักลงทุนต่างประเทศในยุคนั้นเข้ามาลงทุนในประเทศไทย กระทั่งสามารถยกระดับรายได้ และฐานะของประเทศไทยให้พ้นจากภาวะประเทศด้อยพัฒนาได้
การแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งนี้ ย่อมต้องใช้ทั้งการแก้ไข เฉพาะหน้าและการแก้ไขในระยะยาว ทั้งนี้หากเปรียบเทียบประเทศไทยกับคนป่วยที่มีอาการไข้ ก็เป็นไข้ที่ขึ้นสูงใกล้สภาวะช็อก และอวัยวะภายในไม่ทำงานตามปกติหรือ ใกล้ภาวะล้มเหลวแล้ว จึงต้องระงับอาการไข้ก่อนแล้วจึงรักษาตามสมุฏฐานของโรค ซึ่งมักต้องใช้เวลานานในภายหลังอุปมาเหมือนทันตแพทย์ ย่อมไม่ถอนฟันในเวลาที่เหงือกคนไข้บวม (กลุ่มธุรกิจผู้ส่งออก ย่อมไม่ลงทุนในเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย กำไรหดตัว) การพิจารณาปัญหาทางเศรษฐกิจให้สามารถแก้ไขเปลี่ยนภาวการณ์ และ ยกระดับของอาชีพ ความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ และกิจการของผู้ประกอบการไทยได้นั้น รับฟังไตร่ตรอง ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เช่น ความคิดเห็นของนักวิชาการ
บางท่านก็เป็นมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ แบบอัตตาธิปไตย ที่เน้นการแก้ไขปัญหา จากแนวคิดมุมมองและประสบการณ์ของตน บางท่านเป็นแบบโลกาธิปไตย ที่เน้นเชิงมหาภาค ที่มีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นต้นแบบ หรือ ความคิดเห็นของสถาบัน เป็นเศรษฐศาสตร์แบบคณาธิปไตย ที่เน้น ความมั่นคง ยั่งยืน ปลอดภัยความคิดเห็นของภาครัฐ ส่วนใหญ่ เป็นแบบประชาธิปไตย เน้นการแก้ไขปัญหาโดยเน้นการช่วยเหลือประชาชนเป็นหลักซึ่งเห็นได้ว่าการรับพิจารณาเพียงความคิดเห็นใด ความคิดเห็นหนึ่งเฉพาะด้านไม่เป็นการสะท้อนภาพรวม ของความเป็นจริงอันเป็นประโยชน์ยั่งยืนของประชาชน และนักลงทุนส่วนใหญ่ พาประเทศได้ กล่าวคือเราต้องการแก้ไข ภัยเศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่กำลังจะมาถึง ทั้งยังประสงค์ ความมั่นคง ยั่งยืน และการพัฒนาในระยาว พร้อมกับ เอื้อประโยชน์ ให้แก่ ประชาชนส่วนใหญ่อย่างเหมาะสม ไปพร้อมกัน
การพิจารณาเศรษฐกิจ ของประเทศเพียงมุมมองใดมุมมองหนึ่ง จึงเปรียบได้กับองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีชีวิต(ที่สมบูรณ์) ซึ่งไม่สามารถพัฒนาแก้ไขปัญหาชี้นำประเทศไปสู่ภาวะที่เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพราะเป็นมุมมองที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่เชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในประเทศไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งของประเทศไทย และของโลกไม่ได้อยู่ในภาวะปกติจึงจำเป็นที่ผู้นำประเทศและองค์กรสำคัญของประเทศต้องรวบรวมภูมิปัญญา ความรู้และทักษะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาช่วยตีโจทย์ปัญหาของประเทศ (ภูมิภาค และของโลก) แต่ละประเด็นให้ครอบคลุม แม่นยำชัดเจน มีหลักการถูกต้องและอุดมการณ์ที่มั่นคง จึงจะสามารถตัดสินใจด้วยกรอบความคิดเห็นที่เหมาะสมกับภาวการณ์อย่างถูกต้องและทันท่วงทีได้
[1] ข้อเสนอแนะนี้ผู้เขียนได้แนวความคิดจากการประชุมฝ่ายวิชาการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และข้อเสนอแนะนี้มิอาจถือเป็นข้อเสนอที่ผูกพันอยู่ในความรับผิดชอบของสภาอุตสาหกรรม หากมีข้อบกพร่องถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนเท่านั้น
[2] อ้างอิง ณ วันที่ 19 ม.ค.2563 สาเหตุที่เลือกอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยนี้เป็นเพราะธนาคารขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่งใช้อัตราดอกเบี้ยนี้ ได้แก่ กรุงไทย กสิกรไทย และไทยพาณิชย์
โดย... ดร.ไพทัน ตระการศักดิกุล