ระวัง Psychopaths ในที่ทำงาน
จากเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นทั้งที่ลพบุรีและนครราชสีมา อาจทำให้เราต้องทบทวนว่า คนที่อยู่รอบๆ ตัวเรา จะมีใครมีความเสี่ยงอีกบ้างไหม ?
จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นที่ลพบุรีและนครราชสีมา เมื่อไปดูภูมิหลังของผู้ก่อเหตุทั้ง 2 เหตุการณ์แล้ว อาจจะต้องทำให้ต้องกลับมาคิดทบทวนว่าแล้วคนที่อยู่รอบๆ ตัวที่พบเจอในการทำงานทั่วไป จะมีใครมีความเสี่ยงอีกบ้างไหม? จริงอยู่ที่หลายๆ องค์กรจะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอนามัยของบุคลากรของตนเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารมักจะนึกไม่ถึงคือ สุขภาพจิตของคนทำงานในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่กระแสสังคม รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตโดยไม่รู้ตัว
บางคนอาจจะโชคดีที่รู้ตนเองและยินดีที่จะพบกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางแก้ไข แต่บางคนนอกจากไม่รู้ตัวแล้ว ยังไม่ยอมรับว่าตนเองมีปัญหา และที่น่ากลัวคือไปก่อให้เกิดความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและองค์กร ในเชิงการจัดการและจิตวิทยามีคนประเภทหนึ่งที่มีปัญหาทางจิตและยังชอบก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นและองค์กร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะรู้จักกันดีในชื่อของพวก Psychopaths ขณะเดียวกันในเชิงจิตวิทยาแล้วบอกว่าคนประเภทนี้เป็น Antisocial Personality Disorder (ASPD)
ในองค์กรของท่านมีคนที่ไม่เคยคิดถึงผู้อื่น มุ่งเน้นแต่เป้าหมาย (ของตนเอง) มากกว่าวิธีการ ดังนั้นจะไม่สนใจว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นส่งผลหรือกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะจัดการหรือบิดเบือน (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Manipulate) ผู้อื่นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ คนที่เป็น Psychopaths นั้นจะมีพฤติกรรมที่สามารถชี้นำผู้อื่นเพื่อให้ทำในสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง แต่แย่สำหรับผู้อื่นและส่วนรวม
คนประเภทนี้จะให้ความสำคัญกับการยกตนเอง มากกว่าที่จะช่วยเหลือผู้อื่นหรือส่วนรวม ขณะเดียวกันดูจากภายนอกเหมือนจะเป็นพวกขยันและทำงานได้ดี แต่เมื่อดูในรายละเอียดแล้วจะพบว่าจริงๆ ไม่ได้ทำงานเอง แต่ฉลาดที่จะหาทางให้คนอื่นทำงานให้ และคนพวกนี้ก็จะคุยโม้ถึงแต่ความสำเร็จของงานที่เกิด ทั้งๆ ที่ความสำเร็จดังกล่าวมาจากผู้อื่น
สำหรับ Psychopaths แล้วจะมีพฤติกรรมที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม มีความเห็นแก่ตัว ไม่สนใจว่าตนเองจะละเมิดสิทธิของผู้อื่นหรือไม่ มาตรฐานในการแยกระหว่างถูกและผิดจะเปลี่ยนไปมาตลอดเวลา (ขึ้นอยู่กับว่าตัวเองได้สิ่งใด) ไม่เข้าใจและพยายามทำความเข้าใจต่อผู้อื่น ไม่สนใจว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นได้ทำร้ายผู้อื่นและส่วนรวมหรือไม่ มีแนวโน้มที่จะโกหกและบิดเบือนข้อเท็จจริง ชอบที่จะจัดการ ชี้นำ หรือบิดเบือน (Manipulate) ผู้อื่น และอาจจะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและรุนแรง
ในอดีตพฤติกรรมและการแสดงออกของพวกที่เป็น Psychopaths ก็จะพบเจอได้แต่เฉพาะในสถานที่ทำงาน แต่จากพัฒนาการของเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้พวก Psychopaths นั้นจะออกสื่อกันมากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์ ในการบิดเบือน ไม่พูดความจริง เพื่อสร้างภาพของตนเองให้ดูดี คนทั่วๆ ไปพบเจอคนประเภทนี้ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือพบเจอตัวจริงแบบผิวๆ อาจจะหลงลมและคล้อยตามนึกว่า Psychopaths เป็นคนดี ขยัน ทำเพื่อส่วนรวม แต่จริงๆ แล้วนั้นเป็นเพียงภาพที่พยายามสร้างมา เนื่องจากสิ่งที่คนประเภทนี้ต้องการคือเพื่อตนเองเท่านั้น ไม่ได้คิดถึงคนรอบข้างหรือส่วนรวมแต่อย่างใด
คำถามคือเมื่อพบเจอคนประเภทนี้ในที่ทำงานควรจะต้องทำอย่างไร? จริงๆ แล้วสิ่งแรกที่ต้องทำก่อนคือหลีกหนีให้ห่างไกล ไม่พยายามเข้าใกล้ ไม่พยายามร่วมงานด้วย อย่างไรก็ดี ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และจำเป็นต้องทำงานกับ Psychopaths แล้ว สิ่งแรกที่ต้องระวังคืออย่าไปใกล้ชิดและเปิดเผยข้อมูลของตนเองให้กับคนประเภทนี้มากเกินไป เพราะ Psychopaths จะใช้ข้อมูลเหล่านี้มาบิดเบือนและหาประโยชน์เพื่อตนเอง
นอกจากระวังเรื่องการเปิดเผยข้อมูลตัวเองแล้ว ยังต้องระวังการกระทำต่างๆ ของตนเองที่จะไม่ให้เป็นเครื่องมือของ Psychopaths เหล่านี้ ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยง Psychopaths ในที่ทำงานได้จริงๆ ก็ต้องหาทางย้ายสถานที่ทำงานเพื่อให้หลีกไกลจากคนประเภทนี้ให้มากที่สุด
เชื่อว่าในไม่ช้าองค์กรต่างๆ น่าจะเริ่มมีการตรวจสุขภาพจิตพนักงานเพิ่มเติมจากการตรวจสุขภาพกาย และอาจจะเป็นข้อกำหนดพื้นฐานก่อนเข้าทำงานก็ได้