อาชีพ “ห้ามฝน” ใกล้ศูนย์สูตร
มนุษย์นั้นถึงแม้จะอยู่ใต้ฟ้าแต่ก็กลัวฝน โดยเฉพาะในช่วงน้ำล้นหรือมีพิธีการสำคัญ
ไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือครอบครัว พิธีกรรมที่คนไทยกระทำกันเพื่อไม่ให้ฝนตกก็คือให้หญิงบริสุทธิ์ปักตะไคร้ลงดินในบริเวณนั้น ซึ่งได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ทำกันตามมีตามเกิด แต่มีแห่งหนึ่งในโลกที่ผู้คนทำการ “หยุดฝน” กันอย่างเป็นธุรกิจ นั่นก็คือบาหลี
บาหลี เป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซีย โดยประกอบด้วยเกาะใหญ่และเกาะเล็กๆ อีก 2-3 เกาะ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะชวา ใกล้เส้นศูนย์สูตร เกาะใหญ่นี้มีวัฒนธรรมแตกต่างไปจากเกาะอื่นๆ ของประเทศอีกประมาณ 1.7 หมื่นเกาะอย่างน่าสนใจ กล่าวคือชาวบาหลี 4 ล้านคนเป็นฮินดูร้อยละ 90 ในประเทศที่เป็นมุสลิมท่วมท้นกว่า 260 ล้านคน
บาหลี มีพื้นที่ประมาณ 5,780 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 10 เท่าเศษของภูเก็ต ซึ่งจำนวนประชากรก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน บาหลีเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ของโลกโดยมีนักท่องเที่ยวกว่าปีละ 15.7 ล้านคน (ต่างชาติ 6 ล้านคน) มีโรงแรมชั้นเลิศนับเป็นร้อยๆ แห่ง การอยู่ในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตรทำให้มีฝนตกหนักเป็นระยะจนเป็นเหตุให้มีอาชีพ “หยุดฝน”
บาหลีเป็นสถานที่ยอดนิยมของการท่องเที่ยวและจัดประชุมสัมมนาใหญ่ระหว่างประเทศ เช่น การจัด Miss World 2013/2018 Annual Meetings ของ IMF และ World Bank ฯลฯ การ “หยุดฝน” ระหว่างมีงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ
การเป็นฮินดูของคนบาหลีหมายถึงการนับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาของคนอินเดียและการรับวัฒนธรรมประเพณีของคนอินเดียมาด้วย เช่น การนับถือเทพหลายองค์ การประกอบพิธีกรรม การเชื่อไสยศาสตร์ ตลอดจนภูตผีปีศาจ ฯลฯ จนเป็นวิถีชีวิตของคนบาหลี
มีผู้ประกอบพิธีจำนวนมากซึ่งอ้างว่ามีอำนาจเร้นลับในการควบคุมสภาวะอากาศและไฟ ที่ทำให้เกิดควันจนผลักเมฆฝนให้พ้นไปได้ แต่ในการใช้อำนาจนี้ต้องจ่ายเงินค่าบริการโดยไม่รับรองว่าถ้าฝนตกแล้วจะคืนเงิน
ผู้จ้างได้แก่ออแกไนเซอร์ของงานใหญ่ ตลอดจนผู้บริหารโรงแรม สนามกอล์ฟ งานแต่งงาน งานปาร์ตี้นอกสถานที่ ฯลฯ ที่ไม่ต้องการฝน และบ่อยครั้งที่มิได้จ้างเพียงคนเดียว หากจ้างหลายคนเพื่อให้เกิดความมั่นใจและสามารถเอาไปอ้างกับลูกค้าได้ว่าพยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะไม่ให้ฝนตก
ผู้ “หยุดฝน” รายใหญ่ในบาหลีมีอยู่ประมาณ 100 ราย ได้รับค่าจ้างระหว่าง 350-1,000 ดอลลาร์ (1 หมื่น-3 หมื่นบาท) ต่อครั้ง โดยอ้างสถิติว่าสามารถ “หยุดฝน” ได้ถึงร้อยละ 90-100 การประกอบพิธีกรรมกระทำกันอย่างเปิดเผยเป็นเรื่องปกติเพราะพิธีกรรมเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันชาวบาหลี ในตอนเช้าทุกวันก็จะจัดดอกไม้บูชาเทพองค์ที่ตนนับถือ แม้แต่ในรถรับจ้างส่วนบุคคลก็จะเห็นดอกไม้ที่วางหน้ากระจกเพื่อบูชา
หลายคนเล่าถึงความสามารถของบรรดาผู้ “หยุดฝน” เหล่านี้ เช่นฝนตกหนักมานานเป็นชั่วโมงเมื่อทำพิธีก็จะหยุด พอเสร็จพิธีแล้วก็ตกต่อ บางกรณีก็มีฝนตกไปทั่ว ยกเว้นในบริเวณที่ต้องการไม่ให้ฝนตก ผู้บริหารโรงแรมห้าดาวที่เป็นคนต่างชาติก็ยอมรับพิธีกรรมนี้เช่นเดียวกับออแกไนเซอร์ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น ดังนั้น การ “หยุดฝน” จึงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี
ผู้จ้างบางรายบอกว่าความสำเร็จของคนเหล่านี้เกินกว่าร้อยละ 50 หรือเกินกว่านั้นมากอย่างน่าแปลกใจ อย่างไรก็ดี ไม่มีใครรวบรวมสถิติไว้ว่าแม่นยำเพียงใด ในทางวิชาการการตัดสินว่าใครแม่นยำกว่ากัน โดยดูจากสถิติหยาบๆ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะต้องคำนึงถึงอัตราความชื้นของบริเวณที่ทำพิธีในแต่ละครั้ง ประกอบด้วย เช่นถ้าผู้ “หยุดฝน” รายหนึ่งเจอแต่งานที่มีคำพยากรณ์ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีโอกาสที่ฝนตกสูงก็จะมีสถิติต่ำกว่าอีกคนที่เจอ แต่งานที่ฝนมีโอกาสตกน้อย (หากแล้งจัดและฝนไม่มีโอกาสจะตกเลยก็ย่อมไม่มีคนจ้าง)
ข้ออ้างของผู้ “หยุดฝน” เมื่อทำพิธีแล้วไม่ได้ผลก็คือมีผู้ “หยุดฝน” รายอื่นที่กำลังทำพิธีอยู่ในเวลาเดียวกันในบริเวณอื่น เมื่อฝนถูก “ผลัก” ให้ออกมานอกบริเวณจึงมาตกในบริเวณที่ทำพิธีนั้น (ไม่ได้บอกว่าคาถาอาคมของตนเองสู้ไม่ได้) หรือไม่ก็อ้างว่าเมื่อจ้างผู้ “หยุดฝน” มาหลายคนในงานเดียวกัน คาถาอาคมอาจขัดแย้งกันจนทำให้ไม่ได้ผล (คราวหน้าควรจ้างมาคนเดียวโดยเอาค่าจ้างคนอื่นมาให้ตนจะดีกว่า)
หากวิเคราะห์ว่าเหตุใดการ “หยุดฝน” จึงเป็นอาชีพได้ก็ต้องเริ่มที่การมีดีมานด์ของการไม่ให้ฝนตกในเบื้องต้น และมีซัพพลายของการทำไม่ให้ฝนตก (“หยุดฝน” โดยเจ้าพิธีกรรมเหล่านี้) การเกิดมีดีมานด์ก็เพราะมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวพันกับการที่ฝนไม่ตก ผู้จ้างยินดีและมีอำนาจซื้อที่จะจ่าย ดังนั้นจึงเกิดมีค่าจ้างขึ้น ถ้ามีผู้ “หยุดฝน” อยู่เป็นจำนวนน้อยก็จะมีค่าจ้างสูง หากในตอนแรกได้รับค่าจ้างสูง อีกไม่ช้าไม่นานก็จะมีคนตามเข้ามาเป็นผู้ “หยุดฝน” ในจำนวนที่สูงขึ้นและค่าจ้างก็ย่อมลดลง
การที่ผู้จ้าง (ออแกไนเซอร์) ยินดีจ่ายก็เนื่องมาจากเป็นการทำให้ลูกค้าซึ่งเชื่อเรื่องเหล่านี้อยู่แล้วสบายใจ เช่นบ่าวสาว เจ้าภาพงานปาร์ตี้ ฯลฯ และอ้างได้ว่าให้บริการสุดยอดแล้ว นอกจากนี้ผู้ “หยุดฝน” อาจมีความสามารถจริงหรือไม่ก็มั่วว่าเป็นผลงานจากเหตุที่ฝนเกิดไม่ตก
ค่าจ้างคนเหล่านี้ก็เป็นส่วนที่น้อยมากในการเป็น “ต้นทุนโสหุ้ย” (transaction cost) ในการดำเนินงาน ในสังคมที่เชื่อเรื่องลี้ลับการจ้างผู้ “หยุดฝน” มิได้ทำให้ผู้คนเห็นว่าผู้จัดงานผู้บริหารโรงแรมห้าดาวเป็นคนขาดเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์จนไม่น่าเชื่อถือไปได้
เหตุใดจึงไม่มีผู้รับจ้าง “หยุดฝน” เป็นอาชีพเช่นนี้ในบ้านเรา ถ้าตอบเล่นๆ ก็คงจะเป็นว่าเพราะเรายังพอหาสาวบริสุทธิ์ได้โดยไปหาจากเด็กชั้นประถมมาปักตะไคร้และสามารถ “หยุดฝน" ได้อย่างมีประสิทธิภาพพอควร แต่ถ้าตอบจริงๆ ก็คือว่าบ้านเราไม่มีฝนตกมากและบ่อยเหมือนบาหลี (น่าจะเลวร้ายกว่าทางใต้ที่มีคำพูดว่า “ฝนแปดแดดสี่”) และในขณะนี้ก็เชื่อได้ว่ามีการทำพิธีเช่นนี้อยู่อย่างไม่โจ่งแจ้ง เนื่องจากเรายังไม่มีพิธีกรรมมากมายจนเคยชินและเป็นที่ยอมรับเหมือนสังคมฮินดู ดังนั้น การเกิดเป็นอาชีพ “หยุดฝน” อย่างชัดแจ้งและเป็นเรื่องเป็นราวจึงไม่เกิดขึ้นให้เห็น
การ “หยุดฝน” ได้จริงหรือไม่ยังไม่มีการพิสูจน์กันเชิงวิชาการ อย่างไรก็ดี มันเป็นความเชื่อที่ไม่ว่าจะพิสูจน์อย่างไรก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจึงควรไปทำอย่างอื่นกันจะได้เนื้อได้หนังกว่า ควรปล่อยให้คนเขามีอาชีพที่สุจริตเช่นนี้ต่อไปอีกทั้งไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครด้วย
ความเชื่อในเรื่องลี้ลับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ถ้าขาดปัจจัยตัวนี้และพิธีกรรมไม่ได้ผลเลยก็จะไม่มีอาชีพ “หยุดฝน” อย่างแน่นอน
ขณะนี้ในอีกถิ่นหนึ่งนั้นหากใครมีความสามารถในทางตรงกันข้ามกับ “ห้ามฝน” อย่างมากแล้ว ขอเชิญมาที่เมืองสารขัณฑ์นี้ได้เลยครับอย่างรีบด่วน