'ข้าราชการ' เสียค่าโง่สูญเงินล้าน กดลิงก์หลอกแจกเงินเบี้ยหวัดบำนาญ ช.ค.บ.

'ข้าราชการ' เสียค่าโง่สูญเงินล้าน กดลิงก์หลอกแจกเงินเบี้ยหวัดบำนาญ ช.ค.บ.

อุทาหรณ์ต้องรู้ 'ข้าราชการ' ทหารตำรวจเจ้าหน้าที่รัฐ เสียค่าโง่สูญเงินล้าน กดลิงก์หลอกกรมบัญชีกลางแจกเงินเบี้ยหวัดบำนาญ ช.ค.บ.

กรุงเทพธุรกิจ แจ้งเตือนอุทาหรณ์ต้องรู้ 'ข้าราชการ' ทหารตำรวจเจ้าหน้าที่รัฐ เสียค่าโง่สูญเงินล้าน มิจฉาชีพกดลิงก์หลอก กรมบัญชีกลาง แจกเงินเบี้ยหวัดบำนาญ ช.ค.บ.

ตำรวจไซเบอร์ จับกุมรวบแก๊งตุ๋นข้าราชการเกษียณ อ้างแจกเงินแล้วลวงสแกนใบหน้า สุดท้ายเงินหายกว่า 2 ล้าน

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 67 ขณะที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นข้าราชการเกษียณอายุ ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักตนเองในพื้นที่ อ.บัวเชด จ.สุรินทร์

มิจฉาชีพโทรศัพท์หาผู้เสียหายโดยอ้างว่าเป็นผู้จัดการธนาคารและจะทำการโอนเงิน ชคบ. จำนวน 83,000 บาท ซึ่งค้างจ่ายอยู่ ให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายเองก็ไม่ทราบว่า การเบิกจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) หรือ ชคบ. คืออะไร แต่ก็ได้หลงเชื่อและทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแนะนำ

 

แฉกลหลอกลวง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ กดลิงก์หลอกแจกเงินเบี้ยหวัดบำนาญ ช.ค.บ.

มิจฉาชีพ สอบถามเรื่องบัญชีธนาคารกับผู้เสียหาย ว่ามีกี่บัญชี เลขบัญชีอะไรบ้าง ผู้เสียหายจึงแจ้งข้อมูลไป และมิจฉาชีพได้ชวนคุยเรื่องทั่วไป

  1. คนร้ายได้ให้ผู้เสียหายแอดไลน์และส่งลิงก์ปลอมของแอปพลิเคชันกรมบัญชีกลางให้ ผู้เสียหายจึงกดลิงก์
  2. ทำตามขั้นตอนที่คนร้ายแนะนำ
  3. มิจฉาชีพได้ส่ง QR Code ให้ผู้เสียหายสแกน และทำการสแกนใบหน้า โดยอ้างว่าเพื่อความสะดวกในการโอนเงินเข้าบัญชี
  4. เสร็จสิ้นขั้นตอนต่างๆ คนร้ายจึงแจ้งผู้เสียหายว่าจะโทรกลับมาหาใหม่ในวันถัดไป
  5. หลังจากวางสายผู้เสียหายรู้สึกสงสัยว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ จึงเดินทางไปตรวจสอบที่ธนาคารสาขาของบัญชีตนเอง
  6. ปรากฎว่าเงินของผู้เสียหายได้ถูกโอนออกจากบัญชีจำนวน 2 บัญชี บัญชีที่ 1 จำนวน 2,000,000 บาท และบัญชีที่ 2 จำนวน 49,999 บาท รวมสูญเงินไปทั้งหมด จำนวน 2,049,999 บาท

จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในเวลาต่อมา และได้รวบรวมพยานหลักฐานขอออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องได้หลายราย

ต่อมา พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไทยประเสริฐ รอง ผบก.สอท.2 รรท.ผบก.สอท.3 ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.อดิชาต อมรประดิษฐ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 ส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนและเร่งจับกุมผู้ร่วมขบวนการ

มาดำเนินคดี กระทั่งเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน นำโดย พ.ต.ท.สมพร บุตรวงศ์ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3 พร้อมชุดสืบสวน สืบทราบว่ามีผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีดังกล่าวหลบหนีไปอยู่ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและวางแผนเข้าจับกุม

กระทั่งสามารถเข้าจับกุมตัว น.ส.เด่นณภา อายุ 34 ปี โดยจับกุมได้ที่บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ หมู่ 1 ต.ลมศักดิ์ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ตามหมายจับศาลจังหวัดสุรินทร์ ที่ 226/2567 ลงวันที่ 12 ก.ย.67

ในข้อหา

  • ร่วมกันลักทรัพย์โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
     
  • ร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิ์ใช้ เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือหนี้สินอื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด
     
  • ร่วมกันทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกัน การเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน

เบื้องต้น น.ส.เด่นณภา ให้การว่า ได้ถูกเพื่อนชักชวนให้รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร จึงได้เปิดไป จำนวน 6 บัญชี

และหลังจากนั้นเพื่อได้พาเดินทางไปทำงานยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยทำหน้าที่สแกนใบหน้าเพื่อโอนเงินออกจากบัญชีหลังจากที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ลวงเหยื่อให้โอนเงินเข้ามายังบัญชีตนเองแล้ว

โดยตลอด 10 วันที่ผู้ต้องหาทำงานอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีเงินถูกโอนเข้ามาในบัญชีตนเองจำนวนหลายล้ายบาท

และตนเองได้ค่าจ้าง จำนวน 30,000 บาท เมื่อบัญชีถูกอายัดจึงได้เดินทางกลับประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.สอท.3 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย