ดีเดย์ ม.ค.68! ค่ายมือถือ - แบงก์ร่วมรับผิด หากปล่อยประชาชนถูกหลอกโอนเงิน

ดีเดย์ ม.ค.68! ค่ายมือถือ - แบงก์ร่วมรับผิด หากปล่อยประชาชนถูกหลอกโอนเงิน

กระทรวงดีอี รื้อกฎหมาย เร่งแก้ พ.ร.ก.อาชญากรรมออนไลน์ เอาผิดโจรออนไลน์เพิ่มโทษ 5 เท่า ให้ค่ายมือถือ - สถาบันการเงิน ร่วมรับผิดชอบหากปล่อยให้ประชาชนตกเป็นหยื่อแก๊งคอลเซนเตอร์ จ่อชงเข้า ครม.คาดมีผลบังคับใช้ ม.ค.ปี 2568 ระบุยอดแจ้งความเสียหายกว่า 2 ปีทะลุ 7 หมื่นล้าน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กระทรวงดีอีอยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อให้การแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะกรณีที่มีการระงับหรืออายัดบัญชีม้าที่มีเงินในธนาคาร และการเพิ่มโทษ การซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยถือว่า เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม โดยจะเพิ่มอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี ด้วย

โดยขณะนี้ กฎหมายอยู่ในขั้นตอนของ คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง หากไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นๆ ก็จะส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ใน ม.ค.2568 นอกจากนี้ ยังเพิ่มความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน ภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ร่วมรับผิดชอบในความเสียหายของประชาชนที่ถูกหลอกลวงออนไลน์ หากผู้ประกอบการละเลย หรือไม่ดูแลระบบอย่างดีพอ รวมถึง และมีการป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลด้วย

"ผมได้ลงนามเสนอร่างไปแล้ว อยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจร่าง หากผ่านแล้วจะเสนอกลับเข้า ครม. มาประกาศในพระราชกิจจาฯ เพื่อบังคับใช้ต่อไป ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจปัญหานี้ได้สร้างเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ จึงเร่งดำเนินการเพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่กับประชาชนในช่วงสิ้นปีนี้ แต่หากไม่ทันก็ไม่เกินม.ค.ปีหน้า"

ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงดีอี ได้บูรณาการ การทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยช่วงที่ผ่านมาสามารถลดปัญญาลงได้กว่า 40% แต่จากการศึกษาเคสที่ตกเป็นเหยื่อหลังๆ พบว่า ผู้เสียหายจะมีการคุยกับมิจฉาชีพโดยตรงแล้วโอนเงินทำธุรกรรมออนไลน์ จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้นว่า เทคนิคหรือวิธีการของมิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกลวงมีวิธีการอย่างไรบ้าง จะช่วยเป็นเครื่องมือที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น

นายประเสริฐ เสริมว่า คณะทำงานได้พยายามปิดทุกช่องทาง ทั้งบัญชีม้า ที่เปิดได้ยากขึ้น ซิมผี ที่มีการกวาดล้าง และใช้เอไอจับว่ามีการโทรศัพท์ออกมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน การให้มีการจดแจ้งถือครองซิมที่มากกว่า 5 ซิมการ์ด รวมถึงการตรวจจับผู้ที่ลักลอบขายซิมเถื่อน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเกี่ยวกับการตรวจสอบสินค้าก่อนรับ จากกรณีเก็บเงินปลายทาง

ส่วนในช่วงวันปีใหม่นี้กระทรวงดีอี และรัฐบาลยังมีมาตรการที่จะออกมากำกับดูแลประชาชน เกี่ยวกับลิงก์แอปพลิเคชันดูดเงิน จะทำการเปลี่ยนระบบ โดยใครที่จะส่งข้อความ SMS ต้องไปขึ้นทะเบียนกับผู้ให้บริการมือถือก่อนว่าใครเป็นผู้ส่ง (Sender Name) และหากเป็นข้อความ SMS ที่ส่งไปแล้วทำให้เกิดความเสียหาย จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย

สำหรับสถิติยอดแจ้งความออนไลน์สะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 - 30 พฤศจิกายน 2567 มีจำนวน 739,494 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 77,360 ล้านบาท

เฉลี่ยความเสียหายวันละ 77 ล้านบาท ผลการอายัดบัญชี จำนวน 560,412 บัญชี ยอดอายัดได้ จำนวน 8,627 ล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่วันที่  1 - 30  พฤศจิกายน 2567 ผลการแจ้งความออนไลน์ รวม 31,353 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 2,540 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 85 ล้านบาท ผลการอายัดบัญชี จำนวน 16,229 บัญชี ยอดขออายัด จำนวน 1,864 ล้านบาท ยอดอายัดได้ จำนวน 383 ล้านบาท

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์