MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 16-20 ธันวาคม 2567

MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 16-20 ธันวาคม 2567

เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยร่วงหลุดแนว 1,400 จุด

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

• เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ รับสัญญาณชะลอแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียและการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก แต่ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน หลังการประชุม กนง. ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% ตามเดิม

 

MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 16-20 ธันวาคม 2567

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้ง สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าและบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น หลังการประชุมเฟดซึ่งแม้จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่กรอบ 4.25-4.50% แต่ก็ส่งสัญญาณในเชิง Hawkish ผ่าน Dot plot และประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปีหน้า ซึ่งสะท้อนว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะชะลอจังหวะการปรับลดดอกเบี้ยในปี 2568 นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากข้อมูลจานวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดด้วยเช่นกัน เงินบาทแข็งค่ากลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงก่อนการประกาศตัวเลขดัชนีราคา PCE/Core PCE ประกอบกับตลาดยังคงรอติดตามความเสี่ยงจากภาวะ Government Shutdown ของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

• ในวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 ธ.ค. 67) สาหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 16-20 ธ.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,231.8 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 8,263.5 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 14,627.2 ล้านบาท หักด้วยตราสารหนี้หมดอายุ 6,363.7 ล้านบาท)

 

• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.20-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกไทยเดือนพ.ย. สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ย.ดัชนีราคาบ้านเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของอังกฤษและข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของจีน อนึ่ง ตลาดการเงินต่างประเทศจะปิดทำการในวันพุธ 25 ธ.ค. เนื่องในวันหยุดคริสต์มาส

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

• ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมากกว่า 60 จุดภายในสัปดาห์เดียว และแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือนครึ่งในช่วงท้ายสัปดาห์

ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงเกือบตลอดสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายหลักๆ จากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ โดยในช่วงต้นสัปดาห์นอกจากจะเผชิญแรงขายเพื่อปรับโพสิชั่นก่อนการประชุมกนง.และเฟดแล้ว ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากแรงเทขายหุ้นกลุ่มค้าปลีก (จากประเด็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่แห่งหนึ่งเข้าลงทุนในบริษัทย่อยซึ่งไม่ใช่ธุรกิจหลัก) โดยแรงขายข้างต้นส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยร่วงหลุดแนว 1,400 จุดในเวลาต่อมา

MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 16-20 ธันวาคม 2567

 

ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นได้ช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์รับอานิสงส์จากผลการประชุมกนง. ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม และแรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มค้าปลีกหลังร่วงลงแรงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงอีกครั้งสอดคล้องกับทิศทางหุ้นต่างประเทศ หลังผลการประชุมเฟดซึ่งแม้เฟดจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด แต่ได้ส่งสัญญาณชะลอการปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้า ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องและแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือนครึ่งที่ระดับ 1,361.34 จุดในช่วงท้ายสัปดาห์

•  ในวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,365.07 จุด ลดลง 4.65% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 50,657.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.66% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.60% มาปิดที่ระดับ 302.77 จุด

• สัปดาห์ถัดไป (23-27 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,350 และ 1,340 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,375 และ 1,385 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ย. ของไทย การทำ Window Dressing ช่วงสิ้นปี รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/2567 ของอังกฤษ ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของญี่ปุ่น ตลอดจนกำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของจีน