คนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ต สูง ‘อันดับห้า’ ของโลก
การเล่นอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือไทย มีการใช้ต่อวันสูงเป็นอันดับสองของโลก
We are social ซึ่งเป็นเอเจนซีทางด้านโซเชียลมีเดีย ที่ทำรายงานประจำเกี่ยวกับสรุปสถิติการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก ออกมาเป็นประจำทุกปี โดยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งอัตราการใช้อินเทอร์เน็ต การใช้มือถือ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การใช้แอพพลิเคชันต่างๆ ตลอดจนการใช้อีคอมเมิร์ช และล่าสุดออกรายงานมาเมื่อไม่กี่วันนี้ ซึ่งสรุปการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทำให้เราเห็นแนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
ไทยมีประชากรมากกว่า 60 ล้านคนหรือคิดเป็น 75% ของคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 59% และมีอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือสูงถึง 134% กล่าวคือ มีจำนวนเบอร์มากกว่าจำนวนประชาชน ทั้งนี้ ไม่ได้รวมถึงเบอร์ที่ใช้กับอุปกรณ์ไอโอที ซึ่งประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ต 97% หรือจำนวน 50.18 ล้านคน จะเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเป็นประจำ โดยใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตทางมือถือถึง 4 ชั่วโมง 57 นาทีต่อวัน
ขณะที่ การใช้อินเทอร์เน็ตต่อวัน ไทยมีอัตราที่ค่อนข้างสูง คือ ใช้เวลาเฉลี่ยจากการใช้ผ่านทุกอุปกรณ์สูงถึง 9 ชั่วโมง 01 นาทีต่อวัน สูงมากเมื่อเทียบอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 6 ชั่วโมง 43 นาทีต่อวัน สูงเป็นอันดับ5 ของโลก มี ฟิลิปปินส์ เป็นอันดับหนึ่ง เฉลี่ย 9 ชั่วโมง 45 นาทีต่อวัน และอันดับที่สูงกว่าเรา คือ แอฟริกาใต้, บราซิล และโคลัมเบีย
ถ้าเทียบเฉพาะการเล่นอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ไทยมีอัตราการใช้ต่อวันสูงเป็นอันดับสองของโลก แต่จากข้อมูลพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนมาก จะมีอัตราการใช้ต่อวันต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก คนในประเทศญี่ปุ่นมีการเล่นอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 4 ชั่วโมง 22 นาทีต่อวัน เล่นผ่านมือถือเฉลี่ยเพียง 1 ชั่วโมง 32 นาทีต่อวัน
เมื่อดูการใช้อินเทอร์เน็ตของไทย พบว่า เราใช้เวลาเฉลี่ยถึง 2 ชั่วโมง 55 นาทีต่อวันกับการเล่นโซเชียลมีเดีย และ 99% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต จะมีการเข้าชมวิดีโอออนไลน์ทุกเดือน เว็บไซต์ที่นิยมเข้าสูงสุด คือ กูเกิล เฟซบุ๊ค และยูทูบ ส่วนเว็บไทยที่มีคนเข้ามาสุดคือ Pantip และ Sanook.com ทั้งพบว่า การค้นหาข้อมูลส่วนใหญ่ในบ้านเราก็จะเป็นทางด้านกีฬา บันเทิงและการพนัน เช่น คำว่า “บอล”, “หนัง”, “หวย”, “ผลบอล” หรือ “ตรวจหวย” เป็นต้น
สื่อโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้มากสุด คือ เฟซบุ๊ค อัตราการใช้ 95% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด ตามด้วยยูทูบ 94% ไลน์ 85% อินสตาแกรม 65% และทวิตเตอร์ที่ 55%
อีคอมเมิร์ช พบว่า 90% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเคยค้นหาสินค้าและบริการทางออนไลน์ เคยซื้อสูงถึง 82% หรือประมาณ 34.8 ล้านคน โดย 69% ซื้อผ่านมือถือ คาดว่า มูลค่าสินค้าที่ซื้อออนไลน์สูงถึง 4.31 พันล้านดอลลาร์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มากสุด 1.5 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วยสินค้ากลุ่มแฟชั่นและความงาม 1.03 พันล้านดอลลาร์
ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต 32% ตามด้วยอี-วอลเล็ต 25% ชำระเงินสดเพียง 12% และพบว่า ใช้บริการยานพาหนะผ่านทางแอพพลิเคชั่น หรือ ride-hailing ปีที่ผ่านมาโตถึง 33% มีผู้ใช้บริการถึง 4.7 ล้านคน และมีมูลค่าตลาดสูง 682 ล้านดอลลาร์
รายงานครอบคลุมถึงอุปกรณ์ดิจิทัลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย พบ 94% จะมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน, 50% จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์, 33% จะมีแทบเล็ต, 15% จะมีนาฬิกาอัจฉริยะ หรือ wristband และ 3.7% จะมีอุปกรณ์สมาร์ทโฮม ไทยมีจำนวนบ้าน 400,000 หลัง ที่มีอุปกรณ์สมาร์ทโฮม มีมูลค่าถึง 110 ล้านดอลลาร์ เป็นมูลค่าอุปกรณ์กลุ่มเครื่องใช้อัจฉริยะ 41 ล้านดอลลาร์ อุปกรณ์ระบบความปลอดภัย 25 ล้านดอลลาร์ และอุปกรณ์ด้านความบันเทิง 19 ล้านดอลลาร์
จากข้อมูลทั้งหมดสรุปได้ว่า ไทยก้าวสู่สังคมการใช้ดิจิทัลเต็มที่แล้ว คนส่วนใหญ่ 3 ใน 4 ของประเทศใช้อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย การเรียกว่า “ชาวเน็ต” คงไม่ถูกต้อง เพราะชาวเน็ต คือ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย และอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงช่องทางสื่อสารช่องทางหนึ่งของประชาชน ความเห็นต่างๆ ข่าวต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตก็ไม่ใช่แค่เรื่องของ “ชาวเน็ต” อีกต่อไป แต่คือข่าวสารและความเห็นของประชาชนโดยทั่วไป
แม้เราจะเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัล มีความเร็วใช้งานอินเทอร์เน็ตดีขึ้น แต่ข้อมูลสะท้อนถึงความน่าเป็นห่วง คนไทยใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตและอยู่กับมือถือมากเกินไป สูงกว่าหลายประเทศในโลก ขณะที่ การค้นข้อมูลหรือการใช้งานต่างๆ เพื่อความบันเทิง ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้เวลาน้อยกว่าบ้านเรามาก
ดังนั้น ควรต้องหาแนวทางที่ให้คนของเราใช้เวลากับโลกออนไลน์ให้น้อยลง และเน้นใช้เพื่อการทำงานมากกว่านี้ จึงจะมั่นใจได้ว่า เราใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม และนำไปใช้ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้