ฤารถไฟฟ้าจักเป็นการเดินทางในเมืองอนาคต
ปัญหาการเดินทางในเมืองใหญ่ของประเทศไทยไม่ใช่แค่เวลาที่สูญเสียไป แต่ยังมีปัญหาต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม
ซึ่งต้องการนวัตกรรมด้านการขนส่งการศึกษาภายใต้โครงการคนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ได้ชี้ให้เห็น นวัตกรรมด้านการขนส่งที่สำคัญสำหรับอนาคตได้แก่ ระบบบริการร่วม(Sharing) ยานยนต์ไร้คนขับ(Autonomous driving) และเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้า (Electrification) และคาดการณ์อนาคตการเคลื่อนที่มีแนวโน้ม 3 ลักษณะดังนี้
1) พลังงานสะอาดและบริการร่วม ความต้องการการเคลื่อนที่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ Green Mobility นำไปสู่การออกแบบพัฒนารถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าช่วยประหยัดพลังงานและลดปัญหามลพิษในเมือง
2) รถยนต์ไร้คนขับปริมาณการเดินทางของผู้ที่เดินทางไป-กลับระหว่างบ้านกับที่ทำงานระหว่างชานเมืองกับศูนย์กลางเมืองซึ่งเป็นแหล่งงานยังคงเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของเมืองใหญ่ยังคงดำเนินต่อไป คาดว่าในปีค.ศ. 2030 ระยะทางในการเดินทางของคนเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 25 และส่วนใหญ่เป็นการเดินทางด้วยบริการรถยนต์ร่วมโดยสารแบบไร้คนขับ
3) การเคลื่อนที่แบบไร้รอยต่อ เน้นการให้บริการตามอุปสงค์แบบประตูสู่ประตู ด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal) ผู้ใช้บริการมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายมากขึ้น
สำหรับรถยนต์ไร้คนขับใช้ระบบปฏิบัติการขับเคลื่อนที่เรียกว่า Automated Driving Systems (ADSs)โดยในขณะนี้ มีเทคโนโลยีระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติ Advanced Driver Assistance Systems (ADAS)เป็นเครื่องมือควบคุมการขับขี่ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของเครื่องบิน โดยระบบ ADAS มีส่วนประกอบ เช่น ระบบควบคุมการขับขี่อัตโนมัติ ระบบหลีกเลี่ยงการชน ระบบช่วยจอด ระบบคุมการขับขี่ในช่องทางจราจร และบรรดาเซนเซอร์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่รอบรถ เพื่อตรวจสอบวัตถุในระยะไกลและใกล้ เป็นต้น โดยองค์กรบริหารความปลอดภัยบนท้องถนนของสหรัฐอเมริกา (National Highway Traffic Safety Administration – NHTSA) ได้แบ่งระดับการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ 6 ระดับ คือ
ระดับ 0 รถยนต์ที่มนุษย์ต้องควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่การบังคับทิศทาง เบรก สตาร์ทเครื่อง อันเป็นรถยนต์แบบดั้งเดิม
ระดับ 1 ระบบผู้ช่วยคนขับรถ เป็นระดับที่มนุษย์ยังต้องควบคุมรถยนต์ แต่ก็มีระบบการช่วยเหลือคนขับอัตโนมัติบางอย่าง เช่น การแจ้งเตือนให้เปลี่ยนเลนที่ปรากฏให้เห็นในรถยนต์ทุกวันนี้
ระดับ 2 ระบบอัตโนมัติบางส่วน เป็นระดับที่รถยนต์ทำงานบนเครื่องมือการใช้งานในระบบอัตโนมัติ เช่น การเร่งความเร็วหรือหมุนพวงมาลัยรถ และคนขับสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ระยะเวลาหนึ่ง แต่ผู้ขับยังต้องมีส่วนในการควบคุมและต้องคอยเฝ้าดูสภาพแวดล้อมรอบรถ
ระดับ 3 ระบบอัตโนมัติแบบมีเงื่อนไข เป็นระดับที่คนขับยังจำเป็น โดยไม่ต้องคอยเฝ้าดูสภาพแวดล้อมรอบรถ แต่คนขับยังต้องพร้อมเข้ามาควบคุมรถแทนได้อยู่ตลอด
ระดับ 4 ระบบอัตโนมัติระดับสูง รถยนต์นั้นสามารถใช้งานการขับขี่ทุกอย่างได้เองภายใต้ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และมีตัวเลือกให้คนขับรถเข้ามาควบคุมแทนได้
ระดับ 5 ระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์แบบ เป็นระดับที่รถยนต์สามารถขับขี่ได้ด้วยตัวเองในทุกเงื่อนไข
บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่เกือบทุกบริษัทในเวลานี้ ไม่เพียงแต่เร่งออกแบบและผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น แต่กำลังเร่งวางแผนและออกแบบรถรุ่นใหม่ที่รองรับนวัตกรรมไร้คนขับ (Autonomous vehicles) อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ต้องการการรองรับในด้านกฎหมายที่ทันสมัยและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะในประเทศไทยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”
ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า ใครเป็นบุคคลที่จะต้องรับผิดจากการละเมิดที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะนั้น แน่นอนว่าผู้บริโภคย่อมต้องฟ้องผู้ผลิตรถยนต์ ผู้พัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ และผู้รับประกันให้ร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และอ้างว่าผู้บริโภคไม่ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะไม่ใช้บุคคลที่ควบคุมรถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ
ในขณะที่ประเทศไทยยังขาดความพร้อมด้านคุณภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับยานยนต์ไร้คนขับ ยกตัวอย่าง บริษัทนิสสันมีเทคโนโลยีช่วยขับอย่าง ProPILOTที่พ่วงมาพร้อมกับ ProPILOT Park อยู่หลายรุ่นอย่าง Nissan LEAF หรือ Nissan Altima ทว่า ฟีเจอร์นี้กลับไม่ถูกเปิดใช้งานในไทย เนื่องจากเทคโนโลยีจำเป็นต้องพึ่งพาเส้นสีขาวบนถนนเป็นหลักเพื่อประคองรถยนต์ให้อยู่ในเลน ทว่าถนนหลายสายในไทยกลับไม่มีเส้นสีขาว หรือมีแต่ก็อาจจะมีเส้นใหม่เส้นเก่าตีพาดทับซ้อนกัน อาจสร้างความสับสนให้กับระบบได้
ด้วยเหตุดังกล่าวบริษัทนิสสันเลยตัดสินใจตัดเทคโนโลยีออกจากตัวรถ เพื่อที่อย่างน้อยจะไม่ทำให้ราคาของรถยนต์สูงไปกว่าเดิมเพราะไม่ได้ใช้งานที่ติดมาด้วย อีกทั้ง ระบบโครงข่ายถนนในกรุงเทพมหานครก็มีสัดส่วนพื้นผิวถนนต่ำกว่ามาตรฐาน โดยมีเพียง 8% ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหารถติด ดังนั้น รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับจึงยังอาจเป็นฝันที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับภาคมหานครแห่งนี้
อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนเริ่มขยายธุรกิจด้านบริการแพลตฟอร์มยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric vehicle connectivity platform) โดยเชื่อว่าจะสามารถผลักดันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดได้ ในปัจจุบันรถจักรยานยนต์เกือบ 100% ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน ส่วนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ายังไม่เป็นที่นิยมมากนัก อีกทั้ง โครงสร้างพื้นฐานยังไม่มีรองรับ แต่ในอนาคตคนรุ่นใหม่อาจหันมาใช้รถรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ เทคโนโลยีและระบบการชาร์จแบตเตอรี่ และระบบภาษีที่ทำให้รถไฟฟ้าได้เปรียบ
ความพร้อมของเมืองด้านการเดินทางเพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นก็ขึ้นกับความพร้อมและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเมืองนั่นเอง
โดย...
เปี่ยมสุข สนิท
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย