อย่าทำผิด...เพราะไม่รู้
หน้าที่หนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) คือ การกำกับดูแล “การรวมธุรกิจ(Merger & Acquisition; M&A)”
ตามมาตรา 51แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ที่มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการรวมธุรกิจ ต้องขออนุญาตและต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.) ก่อนการรวมธุรกิจ หรือต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กขค. หลังการรวมธุรกิจภายใน 7 วัน แล้วแต่กรณี
กรณีที่ต้องขออนุญาต คือ ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการรวมธุรกิจแล้วก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็น ผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งประกาศ กขค.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งผลการรวมธุรกิจพ.ศ. 2561 ระบุไว้ชัดเจนว่า การผูกขาด หมายถึง การมีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียว ในตลาดใดตลาดหนึ่งซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคาและปริมาณสินค้าหรือบริการของตนได้อย่างเป็นอิสระ และมียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ในกรณีที่ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจ คือ ผู้ประกอบธุรกิจ ที่ทำการรวมธุรกิจแล้วก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งในประกาศฉบับเดียวกับข้างต้นระบุว่า การลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ หมายถึง การรวมธุรกิจที่ยอดเงินขายของผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งหรือของผู้ประกอบธุรกิจที่จะรวมธุรกิจในตลาดใดตลาดหนึ่งรวมกันตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด
การรวมธุรกิจ หมายถึง การที่ผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งรวมธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วน การเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดหรือบางส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจของธุรกิจอื่น อันมีผลให้สถานะของธุรกิจหนึ่งคงอยู่และอีกธุรกิจหนึ่งสิ้นสุดลง หรือเกิดเป็นธุรกิจใหม่ อาจกล่าวได้ว่า ลักษณะการรวมธุรกิจมีด้วยกัน3 ลักษณะ กล่าวคือ 1.การควบรวม(Merger)คือ การที่บริษัท ก. ควบรวมกิจการกับบริษัท ข. และก่อตั้งเป็นบริษัท ค. ในตลาด 2.การเข้าซื้อกิจการ(Acquisition)คือ การที่บริษัท ก. ซื้อกิจการของบริษัท ข. ส่งผลให้คงเหลือแต่บริษัท ก. อยู่ในตลาด และ 3.การครอบครอง (Takeover)คือ การที่บริษัท ก. ซื้อหุ้นของบริษัท ข. เพื่อเข้าควบคุมบริหารจัดการบริษัท ข. อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ลักษณะถือว่าเข้าเกณฑ์นิยามของการรวมธุรกิจตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ
เหตุที่ สขค. ต้องกำกับดูแลการรวมธุรกิจเนื่องจากว่า การรวมธุรกิจอาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม เช่น ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการรวมธุรกิจแล้วเสร็จอาจร่วมกันผลักดันให้ราคาสินค้าของผลิตภัณฑ์ของตนเพิ่มสูงขึ้น หรืออาจลดปริมาณการผลิต เพื่อผลักดันให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น การรวมธุรกิจอาจนำไปสู่การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งอาจสามารถกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นเข้าสู่ตลาดได้ การรวมธุรกิจอาจเป็นการกระจายการมีอำนาจเหนือตลาดในตลาดหนึ่งไปสู่อีกตลาดหนึ่งได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การรวมธุรกิจมิได้ส่งผลกระทบทางลบต่อการแข่งขันทางธุรกิจเสมอไป เช่น การรวมธุรกิจนำไปสู่การประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง หรืออาจนำไปสู่นวัตกรรม (Innovation) เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การรวมธุรกิจอาจมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการสร้างธุรกิจที่ควบรวมขึ้นใหม่ เป็นต้น
กรณีการรวมธุรกิจที่ต้องขอและได้รับอนุญาตก่อนการรวมธุรกิจพ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ ระบุโดยมีใจความรวมว่า กขค. ต้องดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ และหากมีความจำเป็นที่ไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ตามกำหนดเวลา ก็สามารถขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 15 วัน โดยอัตราค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตรวมธุรกิจเป็นเงิน 250,000 บาทต่อครั้ง
โทษของการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 51 แห่งพ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ ที่ว่าด้วยการรวมธุรกิจ ถือเป็นโทษทางปกครอง กล่าวคือ ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการรวมธุรกิจและเข้าหลักเกณฑ์ ต้องขออนุญาตและต้องได้รับอนุญาตจาก กขค. ก่อนการรวมธุรกิจ แต่หากไม่ปฏิบัติตาม จำต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการรวมธุรกิจและเข้าหลักเกณฑ์ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กขค. หลังการรวมธุรกิจภายใน 7 วัน แต่หากไม่ปฏิบัติตาม จำต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกิน 2 แสนบาท และปรับอีกในอัตราไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อวันตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่
จะเห็นได้ว่า เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการกระทำความผิด ผู้ประกอบธุรกิจรายใดที่ต้องการทำการรวมธุรกิจ และไม่มั่นใจว่าจะเข้าหลักเกณฑ์การต้องขอและได้รับอนุญาตก่อนการรวมธุรกิจหรือไม่ ผู้ประกอบธุรกิจ ก็ควรเลือกปฏิบัติในแนวทางของการขออนุญาตเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างค่าธรรมเนียมและโทษปรับทางปกครอง เช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการรวมธุรกิจและไม่มั่นใจว่า จะเข้าหลักเกณฑ์ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจภายใน 7 วันหลังการรวมธุรกิจหรือไม่ ผู้ประกอบธุรกิจก็ควรเลือกปฏิบัติด้วยการแจ้งผลการรวมธุรกิจในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะกลายเป็นผู้กระทำความผิดและโดนโทษปรับเพราะความไม่รู้ ก็เป็นได้!