ขยาย พรก.ฉุกเฉิน! 'ครม.' จะกล้าหักมติ 'ศบค.' หรือ?
จับประเด็นร้อน.. ขยาย พรก.ฉุกเฉิน! ครม. จะกล้าหักมติ ศบค. หรือ?
เกิดประเด็นน่าคิดเหมือนกันว่า ภายหลัง นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงข่าวสำคัญวันนี้จบลงว่า ศบค. เสนอขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน-ผ่อนปรนมาตรการ ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ คำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก
ปรกฎว่า เพจเฟซบุ๊ค ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 -ศบค. ได้เพลทภาพนายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า ข่าวเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การผ่อนปรนทั้งหลาย เป็นแนวคิดที่เสนอในที่ประชุม และบางเรื่องก็เป็นมติของที่ประชุม ศบค. โดยทั้งหมดต้องผ่านที่ประชุม ครม. ในวันพรุ่งนี้ จึงจะเป็นทางการ
โดยมีเพจเฟซบุ๊ค ไทยคู่ฟ้า ของทำเนียบรัฐบาล ได้แชร์ข้อความดังกล่าว ขณะที่เพจเฟซบุ๊ค กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย โพสต์ข้อความระบุว่า หยุดแชร์ ตามที่มีสื่อบางสำนัก และผู้ใช้โซเชียลมีเดีย เผยข้อมูล ศบค. ไฟเขียว ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพิ่มอีก 1 เดือนนั้น
ขอให้ประชาชนรอฟังแถลงการณ์จากภาครัฐ ที่เป็นทางการ เพื่อความชัดเจนแน่นอนของข้อมูล
ทั้งนี้ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของประชาชน
ข่าวเกี่ยวกับ พรก.ฉุกเฉิน การผ่อนปรนทั้งหลาย เป็นแนวคิดที่เสนอในที่ประชุม และบางเรื่องก็เป็นมติของที่ประชุม ศบค. โดยทั้งหมดต้องผ่านที่ประชุม ครม. ในวันพรุ่งนี้ จึงจะเป็นทางการ
คำถามขึ้นทันทีว่า เหตุไฉน "เพจเฟซบุ๊คของหน่วยงานราชการ" ถึงระบุว่า "ให้รอ ครม. ก่อน" ยิ่งไปกว่านั้น ให้หยุดแชร์ ราวกับว่า มติ ศบค. อาจไม่ผ่านมติ ครม. หรือ?
แน่นอนว่าโดยหลักการแล้ว ข้อเสนอ ศบค. จะต้องผ่านการพิจารณาเป็น มติ ครม. แต่ในความเป็นจริง ศบค. และ ครม. มีคนนั่งหัวโต๊ะคนเดียวกัน คือนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ดังนั้น ผลการประชุม ศบค. วันนี้ (27 เม.ย.) "นายกฯประยุทธ์" นั่งหัวโต๊ะในนาม "ผอ.ศบค." ยังกล่าว ชื่นชมการทำงาน หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งทุกภาคส่วนยังต้องร่วมมือกัน
สาระสำคัญของการประชุม ประกอบด้วย การรายงานปฏิบัติการด้านสาธารณสุข โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอฉากทัศน์ในการควบคุมการแพร่ระบาดใน 3 กรณี คือ การควบคุมได้ดี จะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 15-30 รายต่อวัน โดยมีมาตรการเช่นนี้ในขณะนี้ อาทิ การห้ามการเดินทางเข้า-ออกประเทศ จำกัดการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ
กรณี 2 สถานการณ์ควบคุมได้มีความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด สาธารณสุขรับรองได้โดยต้องมีมาตรการ อาทิ การชะลอเข้าประเทศ เปิดธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 40-70 รายต่อวัน
และกรณี 3 สถานการณ์ควบคุมได้ยาก มีการเปิดแบบเต็มรูปแบบจำนวนคนไข้จะมีมาก 500-2,000 รายต่อวัน โดยการพยากรณ์คนไข้ระหว่างพฤษภาคม-มิถุนายนจะอยู่ที่ 46,596 ราย กรณีความเสี่ยงต่ำ 4,661 ราย กรณีการดำเนินมาตรการเข้มข้นเช่นที่ผ่านมา พยากรณ์ผู้ป่วยจะอยู่ที่ 1,189 ราย
ขณะที่ พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอรายงานประเมินผลสัมฤทธิการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 ทำให้การดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในนาม ผอ.ศูนย์ ศบค. เป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และเป็นเอกภาพ ส่งผลให้การติดเชื้อลดอย่างต่อเนื่อง จากแบบสำรวจความพึงพอใจพบว่า ประชาชนพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 70 จึงเสนอเห็นควรขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ถึง 31 พฤษภาคม 63
โดยยังคง 4 มาตรการ 1. ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกนอกราชอาณาจักร 2. ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว 22.00 น.- 04.00 น.) 3. งด ชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด 4. งดการดำเนินกิจกรรมในคนหมู่มาก เช่น การอบรม สัมมนา กิจกรรมในที่โล่งแจ้ง
ด้าน ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะคณะที่ปรึกษาธุรกิจเอกชนของ ศบค. เสนอแนวทางการผ่อนปรน ภายหลังการขยายระยะเวลาพ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยแบ่ง 4 กลุ่มธุรกิจ คือ
กลุ่มสีขาว มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ร้านขนาดเล็กอยู่ที่โล่งแจ้ง ควบคุมได้ สวนสาธารณะ
กลุ่มสีเขียว สถานที่ประกอบการขนาดเล็ก อาจติดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ มีมาตรการควบคุมได้ พื้นที่ไม่มาก สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง
กลุ่มสีเหลือง สถานที่ปิด มีคนมาจำนวนมาก ติดแอร์ ขนาดใหญ่
และกลุ่มสีแดง ที่มีคนมาชุมนุมแออัดมาก เป็นที่เสี่ยงสูง อาทิ สนามมวย สถานบันเทิง เป็นต้น
ที่กล่าวมาข้างต้น นายกฯในฐานะผอ.ศบค. เห็นชอบในหลักการ ได้ให้แนวทางโดยพิจารณาประเภทและช่วงเวลา แต่ให้พิจารณากิจการที่สามารถเปิดดำเนินการได้ทั่วประเทศ ทุกจังหวัดเปิดได้พร้อมกัน โดยมอบสภาพัฒน์ฯ และคณะทำงานฯ หารือในรายละเอียดเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา
ดังนั้น เมื่อผลการประชุม ศบค. ออกมา โดยมี "พล.อ.ประยุทธ์" เห็นชอบในหลักการแล้ว จะมี รมต. สักคนที่จะคัดค้าน?
ทว่า การที่ "เพจเฟซบุ๊คของหน่วยงานรัฐ" บางแห่ง ออกมาเตือนให้รอผลการประชุม ครม. ย่อมสะท้อนถึงตัว "รมต." ที่คุมหน่วยงานดังกล่าวด้วยหรือไม่
น่าสนใจว่า อาจมีเกมการเมืองในการประชุม ครม. ที่น่าจับตาว่า มาตรการของ ศบค. จะไม่ได้รับไฟเขียวทั้งหมดหรือไม่ หรือซ้ำร้ายอาจตีตกขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างนั้นหรือ?
น่าคิดอยู่เหมือนกันว่า ขณะที่เกมการปรับตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเตรียมปรับเก้าอี้รัฐมนตรี กำลังเข้มข้น สอดรับกับ "พรรคร่วมรัฐบาล" ที่คุมกระทรวงใหญ่ไม่ยอมให้ตัดงบ และกระแสให้ปลดล็อกผ่านคลายมาตรการเพื่อให้เปิดร้านค้าขายอีกด้วย
หลากเงื่อนปมกดดัน "พล.อ.ประยุทธ์" สวมหมวก "นายกรัฐมนตรี" และ "ผอ.ศบค." จะคุมมติ ครม. ได้ง่ายหรือยาก หรือจะกลายเป็นประเด็นการเมืองศึกใน ครม. ล้วนน่าจับตาอย่างยิ่ง