แนวทางการจัดการ e-waste สำหรับไทย(1)
ตามที่ทุกท่านทราบถึงปัญหาของการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์(e-waste)ของไทย ตั้งแต่การเร่ซื้อซากผลิตภัณฑ์จากบ้านเรือน,
การขายซากผลิตภัณฑ์ตามร้านรับซื้อของเก่า, จนกระทั่งถึงการคัดแยกเฉพาะของที่มีมูลค่าเพื่อขายต่อแต่ไม่สนใจของเสียที่เกิดจากกระบวนการคัดแยกนั้น เช่น สารทำความเย็นซึ่งมีผลต่อการทำลายชั้นบรรยากาศและก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน, การเผาสายไฟหรือแผงวงจรเพื่อให้ได้โลหะมีค่า แต่ไม่สนใจการกระจายตัวของโลหะหนัก หรือเผาโฟมโดยไม่สนใจสารก่อมะเร็ง เป็นการกระทำที่นึกถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงมลพิษที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ปัญหาเหล่านี้สะสมมาเป็นเวลาหลายสิบปี ทุกฝ่ายคงได้ตระหนักกระทั่งมีการร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างใหม่เพื่อส่งให้รัฐสภาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง หลังจากร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(สคก.) ไม่ได้รับความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2562)
ผู้เขียนคงไม่ลงลึกถึงรายละเอียดว่าข้อดีข้อเสียของแต่ละร่างฯ หรือขั้นตอนในการออกกฎหมายจะมีอย่างไร แต่อยากจะแสดงให้เห็นถึงรูปแบบในการจัดการของประเทศต่างๆ ที่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ก่อนประเทศไทย และปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินการมีอย่างไร เพื่อให้ประเทศไทยได้ศึกษาและประยุกต์ใช้ข้อดีของการจัดการซากฯของประเทศที่ประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้ไทยตกอยู่ในสภาวะการจัดการล้มเหลว และสุดท้ายผู้เขียนจะนำเสนอร่างการจัดการซากฯของประเทศไทยเพื่อเป็นแนวทางในการปฎิบัติ
เริ่มที่ประเทศจีน เส้นทางการเคลื่อนที่ของซากฯ จากผู้บริโภคจะมีการดำเนินการเหมือนกับไทยในปัจจุบัน คือ ผู้บริโภคจะขายซากฯ ให้กับผู้จัดเก็บรวบรวมซึ่งมีอยู่มากมายในราคาตั้งแต่ 175 - 1,645 บาทต่อซากฯ จากนั้นผู้จัดเก็บรวบรวมก็จะส่งซากฯไปที่โรงงานคัดแยก ซึ่งปัจุบันมีประมาณ 104 แห่งทั่วประเทศ โดยจะแยกวัสดุที่มีค่าเพื่อนำไปใช้ใหม่ ส่วนของเสียจะถูกส่งไปกำจัดที่โรงงานรับกำจัดต่อไป ทั้งนี้ ซากฯที่ถูกรวบรวมหรือคัดแยกจะดำเนินการโดยไม่มีการแยกซากฯตามผู้ผลิต
ขณะที่เส้นทางการเงิน เริ่มต้นจากผู้ผลิตจ่ายเงินเข้ากองทุนสำหรับจัดการซากฯซึ่งดำเนินการและบริหารโดยภาครัฐ ในอัตรา 35 -70 บาทต่อหน่วยซากฯ กองทุนฯนี้จะทำหน้าที่นำเงินที่จัดเก็บไปจ่ายเงินค่าคัดแยกให้กับโรงงานคัดแยกในราคา 192-473 บาทต่อหน่วยซากฯ โดยรายได้จากการขายวัสดุที่นำไปใช้ประโยชน์ได้และรายจ่ายจากการส่งของเสียไปกำจัดเป็นหน้าที่ของโรงงานคัดแยกที่ต้องบริหารจัดการเอง ส่วนค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการจัดเก็บรวบรวมเป็นหน้าที่ของผู้จัดเก็บรวบรวม(ซื้อมา(ถูก)ขายไป(แพง)) ซึ่งคล้ายกับร้านรับซื้อของเก่าหรือรถเร่ซื้อซากฯของประเทศไทย
ภายหลังการบังคับใช้กฎหมาย ที่เริ่มพ.ศ.2554 ครอบคลุมซากฯทีวี ตู้เย็น เครื่องซัก อบผ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เริ่มต้นโดยหน่วยงานภาครัฐได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหลังจากดำเนินการได้ระยะหนึ่งปัญหาในการดำนินการเริ่มเกิดขึ้น ดังนี้
1.หน่วยงานรัฐไม่ได้ติดตามแก้ไขปัญหาการที่ร้านรับซื้อของเก่าที่ได้ดำเนินการถอดแยกชิ้นส่วนที่มีค่า ก่อนส่งให้กับโรงงานคัดแยก ทำให้รายได้และรายจ่ายของโรงงานคัดแยกไม่สมดุลและไม่เป็นไปตามรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility study)
2.หน่วยงานรัฐโดยกองทุนฯ จ่ายเงินค่าบำบัดกำจัดให้กับโรงงานคัดแยกล่าช้า โดยเฉพาะการปฎิเสธจ่ายให้กับซากฯที่มีชิ้นส่วนไม่ครบ(ถูกแยกไปแล้วจากร้านรับซื้อของเก่า) และการตรวจสอบประเภทซากฯในการเรียกเก็บเงิน
3.การประเมินค่าบริหารจัดการผิดพลาด(จัดเก็บค่าบริหารจัดการต่ำเมื่อเทียบกับค่าบำบัดกำจัด) ทำให้ในที่สุดเงินกองทุนฯลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้การเบิกจ่ายเงินของโรงงานคัดแยกล่าช้ามากกว่า 6 เดือน ซึ่งทำให้โรงงานคัดแยกบางแห่งต้องปิดตัวลงเพราะขาดสภาพคล่อง
ข้อผิดพลาดดังกล่าวทำให้การจัดการซากฯของจีนอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เงินของกองทุนที่ใช้ดำเนินการได้หมดลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อพ.ศ.2558 (เพียง 4 ปีหลังจากกฎหมายบังคับใช้) ซึ่งรัฐบาลจีนกำลังพิจารณาแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุงวิธีการทำงานของกองทุนฯ, แก้ไขปัญหาการคัดแยกก่อนที่ต้นทาง,และปรับปรุงวิธีการประเมินด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อสร้างกลไกในการจัดการที่เป็นธรรมให้ทุกฝ่ายโดยพยายามปรับจากแนวทางการจัดการของสมาคมประชาชาติยุโรป (European Union)
จากบทเรียนของจีนจะเห็นได้ว่า หากเราใช้ร่าง พ.ร.บ.ฯฉบับแรกที่กรมควบคุมมลพิษเสนอซึ่งระบุให้มีกองทุนฯที่บริหารโดยภาครัฐ และไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะป้องกันการคัดแยกของมีค่าก่อนถึงโรงงานคัดแยก เราจะมีผลลัพธ์ที่ไม่ต่างจากจีน
โดย... พูนศักดิ์ จันทร์จำปี