SpaceX เปิดฉากนำมนุษย์สู่ต่างดาว

SpaceX เปิดฉากนำมนุษย์สู่ต่างดาว

ดาวอังคารอยู่ไกลจากโลกกว่า 300 ล้านไมล์ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 6-8 เดือน แต่การเดินทางของมนุษย์ต้องใช้ยานขนส่งอวกาศขนาดใหญ่

ในการนำสัมภาระเชื้อเพลิงตลอดจนเครื่องดำรงชีพ เพื่อให้เดินทางไปยังที่หมายและเดินทางกลับมายังโลกอย่างปลอดภัย ความฝันเพื่อไปให้ถึงและตั้งรกรากบนดาวอังคารยังคงต้องอาศัยการค้นคว้าทดลองด้านวิศวกรรมอวกาศและการพัฒนานวัตกรรมหลายด้าน ตลอดจนความแน่วแน่และเงินลงทุนจำนวนมหาศาล

 

กระสวยอวกาศ Atlantis ขึ้นบินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2011 และนับเป็นการสิ้นสุดโครงการ Space Shuttle โดยเป็นเวลาเก้าปีที่สหรัฐต้องส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ด้วยยานขนส่งอวกาศโซยูซ (Soyuz) ของรัสเซียซึ่งคิดค่าใช้จ่าย 80 ล้านดอลลาร์ต่อนักบินอวกาศ ดังนั้นการที่ NASA ร่วมมือกับบริษัทเอกชนของสหรัฐอย่าง SpaceX ในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่ ISS ด้วยจรวด Falcon 9 และแคปซูล Crew Dragon จากฐานส่งจรวดเดียวกับที่ใช้ในโครงการ Apollo และ Space Shuttle ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงเป็นการเปิดฉากงานวิจัยและพัฒนาด้านอวกาศครั้งใหม่เพื่อนำมนุษย์สู่ดวงจันทร์และดาวอังคาร

 

เริ่มที่ลดต้นทุน

SpaceX มีเป้าหมายที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายของการเดินทางในอวกาศเพื่อให้มนุษย์สามารถตั้งรกรากบนดาวอังคาร โดยได้พัฒนานวัตกรรมซึ่งดีสรัปอุตสาหกรรมการขนส่งอวกาศด้วยการนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ (Reusable Rocket) โดยในปี 2016 SpaceX สามารถลดค่าใช้จ่ายในการส่งดาวเทียมหรือสัมภาระขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Falcon 9 ที่ราคาเที่ยวละ 62 ล้านดอลลาร์ต่อน้ำหนัก 5.5 เมตริกตัน ซึ่งจากเดิมอาจมีราคาสูงถึง 400 ล้านดอลลาร์ต่อเที่ยว ต่อมาเมื่อ SpaceX พัฒนาให้ Falcon 9 กลับลงจอดยังฐานได้สมบูรณ์จึงได้ลดค่าใช้จ่ายลงจนเหลือเพียงประมาณ 50 ดอลลาร์ต่อเที่ยว ทำให้การแข่งขันด้านธุรกิจการขนส่งอวกาศเข้มข้นขึ้น

 

NASA ร่วมลงทุนใน Crew Dragon กับ SpaceX เพื่อพัฒนาการส่งนักบินอวกาศสหรัฐขึ้นสู่ ISS ด้วยงบประมาณถึง 3,100 ล้านดอลลาร์ เป็นความร่วมมือที่ NASA เชื่อว่าให้ผลคุ้มค่ากว่าการพัฒนาโครงการในลักษณะ Space Shuttle และยังช่วยให้บริษัทเอกชนอย่าง SpaceX ได้รับเงินทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการนำมนุษย์สู่อวกาศ และช่วยให้ SpaceX ถูกประเมินมูลค่าตลาดถึง 36,000 ล้านดอลลาร์

 

รายได้ใหม่จาก Starlink

ในเดือนมีนาคม 2018 หน่วยงาน FCC ซึ่งกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของสหรัฐได้อนุมัติให้ SpaceX สามารถเปิดบริการด้าน Broadband Internet Satellites ในระดับวงโคจรต่ำ (LEO) ซึ่งเป็นบริการใหม่ที่เรียกว่า "Starlink" เพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแก่ลูกค้าทั่วโลก โดยเฉพาะกับผู้คนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ โดยคาดว่าโครงการ Starlink อาจใช้เงินลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์และอาจสร้างรายได้ให้ SpaceX อีกกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จนเป็นข่าวว่า SpaceX อาจมีแผนแยก Starink ออกเป็นบริษัทใหม่เพื่อระดมเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์

 

SpaceX ได้รับอนุมัติให้ส่งดาวเทียมจำนวน 12,000 ดวง และได้ยื่นขอส่งดาวเทียมเพิ่มอีกจำนวน 30,000 ดวงรวมเป็น 42,000 ดวงเพื่อให้บริการครอบคลุมในทุกพื้นที่ โดยเริ่มทยอยส่งดาวเทียมทดลองและดาวเทียมชุดใหม่ขึ้นสู่อวกาศแล้วรวม 420 ดวงด้วยจรวด Falcon 9 ซึ่งก่อนหน้านี้ Starlink มีแผนเปิดให้บริการในแคนาดาและสหรัฐในปี 2020 และจะสามารถให้บริการครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ในปี 2021

 

สร้างจรวดสู่ดาวอังคาร

SpaceX พัฒนาจรวดที่มีขนาดใหญ่และแรงขับดันสูงเพื่อให้เดินทางระยะไกลขึ้นและมีน้ำหนักบรรทุกที่มากขึ้น โดยเมื่อต้นปี 2018 ได้ส่งจรวด “Falcon Heavy Rocket” ทยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศพร้อมกับรถเทสล่า Roadster และ Starman จากนั้นในเดือนกันยายนปี 2019 SpaceX ได้เปิดตัวจรวดและยานอวกาศต้นแบบที่ชื่อStarship ซึ่งมีขนาดความสูง 120 เมตรเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 เมตรและมีน้ำหนักบรรทุกกว่า 100 ตัน ตัวยานทำจากเหล็กสแตนเลสเพื่อให้ทนต่อความร้อนขณะลงจอดบนดาวอังคารได้มากขึ้น โดยใช้เงินทุนในการพัฒนาและสร้างเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์

 

ในปี 2014 SpaceX ได้เข้าซื้อพื้นที่จำนวนมากของเมือง Boca Chica ในมลรัฐเท็กซัสซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเล เพื่อเป็นสถานที่ในการสร้างจรวดและทดสอบการส่งจรวด จนสร้างความตื่นตัวให้ผู้คนและเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง แต่ก็สร้างผลกระทบอย่างมากกับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเมือง Boca Chica เช่นกัน โดยล่าสุดในวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้เกิดเพลิงไหม้กับจรวดต้นแบบ Starship เป็นครั้งที่สี่ในระหว่างการทดสอบ ทำให้แผนทดสอบการบินระยะต่ำต้องถูกเลื่อนออกไป

 

สู่อวกาศหากไม่หยุดนิ่ง

ความฝันของทีมงาน SpaceX ในการเปลี่ยนนิยายวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องจริงได้สร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมล้ำสมัยให้กับอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและคนรุ่นใหม่ถึงโอกาสในการเดินทางไปในอวกาศ สร้างความท้าทายและความต้องการเรียนรู้เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อเผชิญกับสิ่งใหม่ในต่างดาว ความฝันนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล่าแต่กำลังเป็นเรื่องราวที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ที่ผู้คนต่างได้มีส่วนรวม