CPTPP - ข้อสังเกตจากบางประเทศสมาชิกและนัยสำคัญเชิงนโยบาย
ในเดือนที่ผ่านมา มีการกล่าวถึง CPTPP กันมาก กรมเจรจาการค้าต่างประเทศฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรเข้าเป็นสมาชิก
โดยอ้างเอาการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากผลของการเข้าเป็นสมาชิก ผู้คัดค้านอีกฝ่ายหนึ่งแบ่งออกเป็นหลายส่วน บางส่วนเป็นห่วงเรื่องสิทธิพันธุ์พืช บางส่วนเป็นห่วงเรื่องสิทธิบัตรยา บางส่วนเป็นห่วงเรื่องการถูกฟ้องจากองค์กรธุรกิจต่างประเทศโดยใช้อนุญาโตตุลากร และ บางส่วน เป็นห่วงเรื่องการควบคุมจำกัดบุหรี่ที่อาจทำไม่ได้เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าโดยส่วนใหญ่กล่าวถึง CPTPP อย่างผิวเผินโดยที่ไม่ได้ลงในรายละเอียดว่าสิ่งที่อ้างถึงเป็นความจริงเพียงใด
บทความนี้จะใช้กรณีศึกษาของประเทศสมาชิก CPTPP บางประเทศ เพื่อตอบข้อสงสัยที่เป็นห่วง และเพื่อใช้เป็นตัวอย่างว่า การพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกควรเรียนรู้จากสมาชิกบางประเทศ อย่างไรบ้าง
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ การเกษตรมีมูลค่า เพียงประมาณ 1% ของจีดีพี แต่ว่าในการเจรจาเงื่อนไขทางด้านเกษตรกรรมกับ CPTPP ญี่ปุ่นได้ใช้ความพยายามไปกับเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก โดยครอบคลุมสินค้าเกษตรกรรมถึง 22 ชนิด ตั้งแต่ ข้าว น้ำตาล แป้ง เนื้อวัว เนื้อหมู ผลิตภัณฑ์นม ไก่/ไข่ไก่ ถั่ว ส้ม ไม้ประดับ สัตว์น้ำ และแม้กระทั่งป่าไม้ สินค้าแต่ละชนิดมีผลการเจรจาหลากหลาย แต่พอจะสรุปได้ว่า การพิจารณาว่าจะให้สินค้าต่างประเทศเข้ามาในบริมาณเท่าไร จะขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตของสินค้านั้นๆ ในปัจจุบัน เกษตรกรของสินค้าจะต้องมีรายได้ไม่ลดลง และจะต้องขยายตัวตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วย หลังจากนั้น จะดูว่าสินค้าภายในประเทศใช้กับตลาดอะไร มีแนวโน้มอย่างไร เช่นเดียวกัน สินค้านำเข้าใช้กับตลาดอะไรและมีแนวโน้มอย่างไร ตัวอย่างเช่น ข้าวญี่ปุ่นเป็นตลาดคุณภาพสูง ส่วนข้าวนำเข้าใช้กับธุรกิจอาหารนอกบ้านซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากแต่ราคาต่ำกว่า ญี่ปุ่นก็จะปล่อย ข้าวนำเข้าในปริมาณเท่าที่ธุรกิจอาหารต้องการและจัดสรรให้แก่ประเทศสมาชิก CPTPP ตามสัดส่วน ปัจจุบันซึ่งก็มีเพียงสหรัฐกับออสเตรเลีย เมื่อข้าวนำเข้ามีมากขึ้น ตลาดโดยเฉลี่ยจะมีระดับราคาลดลงซึ่งจะกระทบต่อข้าวในประเทศ รัฐบาลก็จะเจรจาว่าญี่ปุ่นขอสิทธิในการแทรกแซงรับซื้อข้าวในประเทศเพื่อเป็นคลังสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งรัฐบาลจะแทรกแซงโดยการตั้งงบประมาณอุดหนุนการพัฒนาการปลูกข้าวให้มีต้นทุนต่ำลง ชาวนาทั้งหมดก็จะมีอนาคตที่รายได้เติบโตตามสมควร นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเจรจาขออำนาจ safeguard เพื่อตั้งกำแพงภาษีข้าวต่างประเทศเป็นการชั่วคราวได้ในกรณีที่ข้าวในประเทศได้รับความเสียหายจากข้าวนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ญี่ปุ่นทำเช่นนี้กับสินค้าเกษตรกรรมทั้ง 22 รายการ แม้แต่ถั่วลิสงที่มีปริมาณการผลิตเพียงปีละ 1.7 หมื่นตัน/ปี สำหรับการลดอัตราภาษีศุลกากรนั้น ส่วนใหญ่จะลดมากหรือยกเลิกในปีที่ 11 นอกจากการเจรจาจะทำในเชิงสินค้าขาเข้าแล้ว ญี่ปุ่นยังคำนึงถึงสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพด้วย เช่น เนื้อวัวคุณภาพสูงอย่าง วากิว สินค้าสัตว์น้ำ และ แม้แต่สุรา สำหรับการพัฒนาเกษตรกรรมนั้น ญี่ปุ่นได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการดังกล่าวในปี 2015 และ 2016 ปีละไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท ให้แก่สินค้าเกษตรกรรมสาขาต่างๆ ญี่ปุ่นประมาณการว่า เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.59% ในปี 2014 จากการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP คำชี้แจงของสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นค่อนข้างให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมและค่อนข้างมองผลกระทบของ CPTPP ไปในทางที่ดีโดยไม่ได้แสดงข้อห่วงใยเหมือนกับฝ่ายคัดค้านในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิบัตรหรือการใช้อนุญาโตตุลาการ แก้ไขความขัดแย้งระหว่างนักลงทุนและรัฐบาล
ประเทศนิวซีแลนด์ได้ประมาณการว่า จีดีพีจะขยายตัว 0.3-1.0 หน่วยเปอร์เซนต์ เมื่อ CPTPP มีการดำเนินงานเต็มรูปแบบแล้ว แต่คาดการณ์ว่าในเชิงของภาษีศุลกากรที่ประหยัดได้ ปีเริ่มต้นที่บังคับใช้ จะได้ประโยชน์เพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ประโยชน์ที่จะได้เต็มรูปจะเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีผ่านไปแล้ว ซึ่งหมายถึงว่าจะมีมูลค่าปัจจุบันเพียงประมาณครึ่งเดียวเท่านั้น สำหรับของไทยนั้น กรมเจรจาการค้าได้ประมาณการไว้ว่า จีดีพีจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.12 หน่วยเปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตุว่า จะน้อยกว่าทั้งกรณีของญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์เป็นอย่างมาก
นิวซีแลนด์ไม่กลัวการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากยังคงสามารถใช้ภาษีป้องกันการทุ่มตลาด มาตรการตอบโต้ และ safeguard ตาม WTO ซึ่งนิวซีแลนด์ก็ใช้อยู่เป็นครั้งเป็นคราว นิวซีแลนด์ขอยกเว้นการใช้ Investor-State Dispute Settlement (ISDS) ที่ผู้ลงทุนอาจฟ้องรัฐโดยใช้อนุญาโตตุลากรได้ ข้อยกเว้นจะใช้กับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างเอกชนต่างชาติกับรัฐบาลนิวซีแลนด์ และกับการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการลงทุนอย่างใด อย่างหนึ่ง นอกจากนี้ safeguard ข้อสงวน และข้อยกเว้นที่นิวซีแลนด์อาจใช้เพื่อปกป้องสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และ ประเด็นอื่นๆ ในส่วนของการลงทุน ซึ่งนักลงทุนจะเรียกร้องความเสียหายได้อย่างจำกัด
แม้ว่าข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิบัตรและยาจะมีความเข้มงวดมากขึ้นใน CPTPP ดังที่บทความต่างหากของผู้เขียนได้นำเสนอแล้ว นิวซีแลนด์ไม่ได้แสดงความหนักใจเกี่ยวกับเรื่องยา เนื่องจากยังสามารถเจรจาในประเด็นราคาและยังใช้มาตรการเพื่อปกป้องเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และ ความ ปลอดภัยได้ ในส่วนของการปฏิบัติตาม UPOV 91 นั้น นิวซีแลนด์มีทางเลือกในการใช้ระบบสิทธิ บัตรพันธุ์พืชของตนเองที่มีผลเช่นเดียวกับ UPOV 91 ในขณะเดียวกัน นิวซีแลนด์กสามารถดำเนินการปกป้องพันธุ์พืชพื้นเมืองตามข้อผูกพันแห่ง Treaty of Waitangi และสิทธินี้ไม่ตกอยู่ใต้ ISDS ด้วย UPOV 91 ให้สิทธิแก่เจ้าของพันธุ์พืชใหม่มากขึ้น แต่ผู้เพาะปลูกน้อยลง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการทำให้ ต้นทุนเพิ่มขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม UPOV 91 ยอมให้ประเทศสมาชิกกำหนดข้อยกเว้นแก่ผู้เพาะปลูกได้ใน “วงจำกัด” ในการเก็บเมล็ดพืชเพื่อใช้เพาะปลูกในฤดูถัดไป อันถือเป็นมาตรการ safeguard อย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลีย ใช้มาตรา 15 (2) ของ UPOV 91 ให้ผู้เพาะปลูกรายเล็กสามารถเก็บเมล็ด ไว้เพื่อเพาะปลูกในฤดูถัดไปโดยไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาตอีกครั้งหนึ่งแต่อย่างใด ส่วนประเทศในอียู ก็มีข้อยกเว้นสำหรับ “เกษตรกรรายย่อย” หรือบางแห่งให้จ่ายค่าใบอนุญาตในอัตราที่ต่ำกว่ามาก เป็นต้น
ตั้งแต่จุดนี้เป็นต้นไป จะกล่าวถึงนัยสำคัญเชิงนโยบายสำคัญๆ สำหรับไทยที่มีการกล่าวถึงกันมาก แต่เพื่อให้ใจความต่อเนื่องกับเรื่องข้างบนนี้จะนำเรื่อง UPOV 91 มากล่าวถึงเป็นลำดับแรก
ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ 2542 เพื่อรองรับ UPOV 78 ที่ต้องการให้คุ้มครองสิทธิของ “พันธุ์พืชใหม่” ซึ่งหมายถึงว่าเป็นพืชที่มีลักษณะแตกต่างจากพันธุ์ที่มีอยู่แล้ว มีความสม่ำเสมอ และ มีเสถียรภาพ UPOV ไม่สนใจพืชพันธุ์เก่าที่มีอยู่แล้วเลย พระราชบัญญัติข้างต้นจึงมีส่วนที่คุ้มครอง 1) พันธุ์พืชท้องถิ่นที่ชุมชนเป็นเจ้าของ 2) พันธุ์พืชท้องถิ่นในประเทศที่แพร่หลายโดยทั่วไป และ 3) พันธุ์ไม้ป่า การพัฒนาพันธุ์พืชทั้งสามประเภทข้างต้นนี้ต้องขออนุญาต และแบ่งประโยชน์กับรัฐ UPOV 91 เข้มงวดมากขึ้นในแง่ที่ว่าเกษตรกรเก็บเมล็ดไว้หว่านในที่นาของตนได้เท่านั้น ในกรณีที่ประเทศนั้นๆ มีกฏหมายรับรองจะนำไปแลกเปลี่ยนหรือขายไม่ได้ UPOV 91 กำหนดจดสิทธิบัตรได้ทั้งตัวพืชและพันธุ์ย่อย สิ่งที่เก็บเกี่ยวเป็นสิทธิโดยเด็ดขาดของเจ้าของพันธุ์และผู้อื่น ไม่มีสิทธิพัฒนาพันธุ์ต่อไปได้โดยไม่ได้รับอนุญาต
สิ่งที่น่ากลัวจากอิทธิพลต่างประเทศ ก็คือบริษัทพันธุ์พืชยักษ์ระหว่างประเทศอย่าง Monsanto และ Syngenta ที่อาจจะเข้ามาพัฒนาพันธุ์พืชของไทยและจดทะเบียนสิทธิบัตรยึดเอาพันธุ์พืชไป อยู่ใต้อำนาจอย่างกว้างขวางโดยการตั้งบริษัทที่เป็นนิติบุคคลไทย สิ่งที่เราต้องทำเพื่อป้องกันเหตุการณ์เช่นนั้น ก็คือคุ้มครองพันธุ์พืชในประเทศทั้งหมดให้ประชาชนไทยมีสิทธิเท่านั้น ผู้ใดจะพัฒนาพันธุ์พืชไทยที่ขโมยไปและจะจดทะเบียนในไทย ต้องได้รับการตรวจสอบ Gene ของพันธุ์พืชไทยเสียก่อน การพัฒนาพันธุ์พืชใหม่จากพันธุ์ไทยเดิมจะต้องแบ่งผลประโยชน์ไปได้เท่าที่พันธุ์พืชใหม่นั้นมีประโยชน์ (Productivity) เหนือพันธุ์เก่าเท่านั้น ถ้าหากผู้พัฒนาพันธุ์เครือข่ายต่างประเทศ ขายแพงหรือเข้มงวดเกินไป เกษตรกรไทยยังสามารถกลับไปหาพันธุ์ไทยดั้งเดิมได้ทุกเมื่อ ถ้าหากประเทศเราทำเช่นนี้ได้ ก็ไม่ต้องไปห่วงบริษัทต่างชาติและไม่ต้องกลัว UPOV อีกต่อไป นี่คือสิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องเจรจาให้ได้ในการเข้า CPTPP ถ้าไม่ได้เราก็ไม่เอา