การปรับตัวรับพฤติกรรมลูกค้าในการ “ชำระเงิน” รูปแบบใหม่
สังคม cashless society หลังจบโควิดจะมีผลให้เห็นเด่นชัด
ผมได้ดูข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องของการชำระเงินในช่องทางต่าง ๆ ในประเทศไทย มีหลายอย่างที่น่าสนใจ และสะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่วันนี้เราควรเตรียมตัวรับมือกันอย่างไร เริ่มจากมาดูตัวเลขของการชำระเงินในระบบพร้อมเพย์ ในปี 62 พบว่าปริมาณการทำธุรกรรมอยู่ที่ประมาณ 2,500 ล้านรายการ โดยโตขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 147% ซึ่งถือว่าโตมากเลยทีเดียว และมูลค่าเงินที่เกิดขึ้นอยู่ที่ประมาณ 13 ล้านล้านบาท
ช่องทางการชำระเงินของไทย แบ่งออกเป็นหลายช่องทาง ช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การชำระเงินด้วยเช็ค จากปี 2561 ที่มีอยู่ประมาณ 100 กว่าล้านรายการ เมื่อถึงปี 62 กลับลดลงมาเหลือ 9 หมื่นล้านรายการ จะเริ่มเห็นเทรนด์ว่าจำนวนคนใช้เช็คในการชำระเงินลดลงอย่างมากถึง 10% เลยทีเดียว แต่ที่เห็นได้ชัดว่ามีอัตราการโตมากเลยก็คือ การโอนเงินระหว่างธนาคารโดยผ่านโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นมามีการเติบโตติดต่อกันมาปีละ 100 กว่าเปอร์เซ็นต์ทุกปี รวมถึงตัวเลขที่น่าสนใจอีกอย่างคือเริ่มมีการใช้ Internet Banking ในการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ
เราจะเห็นถึงแนวโน้มของคนที่หันมาใช้ Mobile Banking หรือ Internet Banking ที่โตขึ้นมากจริง ๆ สำหรับใครที่ยังไม่กล้าใช้ ผมอยากให้หันมาลองใช้ เพราะจะยิ่งเร่งความเร็วให้กับธุรกิจและทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้นที่มาแรงมากคือ e-Money หรือระบบโอนเงินออนไลน์ที่จะเก็บไว้ในกระเป๋าหรือวอลเล็ตต่าง ๆ ตัวเลขในปี 62 โตขึ้นมาถึง 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ และตัวเลขจำนวนคนที่เข้ามาใช้ประมาณเกือบ 2,000 ล้านรายการต่อปีเลยทีเดียว
การชำระเงินผ่านบัตรพลาสติกก็โตมากขึ้นเช่นกัน แม้แนวโน้มของการชำระเงินผ่านบัตรเดบิตโตไม่สูงมากนัก แต่อัตราการใช้บัตรเครดิตชำระเงินโตขึ้นมาราวปีละเกือบ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ อย่างในปี 62 โตขึ้นมาเกือบ 20% เลยทีเดียวจำนวนบัตรพลาสติกในประเทศไทยที่แบ่งออกเป็น 3 แบบคือ บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิต ในปี 62 ปริมาณคนไทยถือบัตรเครดิตประมาณ 24 ล้านใบ บัตรเอทีเอ็มประมาณ 15 ล้านใบ แต่บัตรเดบิตมีถึง 64 ล้านใบ แต่อัตราการเติบโตของบัตรเครดิตในปี 61 และ 62 ยังโตขึ้นปีละ 8%
สำหรับข้อมูลการใช้บัตรพลาสติกของคนไทยในปี 62 ที่น่าสนใจก็คือ มูลค่าเฉลี่ยของการใช้งานต่อบัตรต่อเดือนนั้น พบว่า การใช้บัตรในการซื้อสินค้า คนไทยจะใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าเฉลี่ย 5,700 บาทต่อใบ บัตรเดบิตนำไปรูดจ่ายสินค้าเฉลี่ยประมาณ 299 บาทต่อใบ การเงินสดด้วยบัตรเอทีเอ็มค่าเฉลี่ยประมาณ 3,600 บาทต่อครั้ง การกดเงินสดด้วยบัตรเดบิตค่าเฉลี่ยประมาณ 8,700 บาทต่อครั้ง ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking และ Internet Banking พบว่าจำนวนลูกค้าที่ใช้ Internet Banking ทั้งประเทศไทยมีอยู่ 29 ล้านบัญชี ส่วน Mobile Banking จำนวนบัญชีที่ใช้นั้นมีถึง 60 ล้านบัญชี
แม้ว่าจะดูเยอะมากแต่ต้องเข้าใจว่า หากเรามีเลขที่บัญชีอยู่ 10 บัญชีก็จะนับเป็น 10 บัญชีเช่นกัน แต่จากตัวเลขการใช้งานจะเห็นว่าโตขึ้นมากอย่างต่อเนื่องจริง ๆ ตรงนี้น่าจะยังไม่รวมพวก wearable ที่โอนเงิน จ่ายเงินได้ แต่เชื่อว่าพวกนี้กำลังค่อย ๆ โตเช่นกัน
ตอนนี้การชำระเงินที่เป็น cashless มีหลายรูปแบบมาก และแนวโน้มคนที่ใช้เงินสดก็เริ่มน้อยลง
ผมมองว่า cashless society หลังสถานการณ์โควิดจะมีผลให้เห็น เพราะหลายคนที่หวาดวิตกในการรับเงินจากคนแปลกหน้าหรือเคยนิยมใช้เงินสดจับจ่าย ผมว่าต่อไปจะต้องเปลี่ยนอยากให้ทุกคนเตรียมตัวเลยว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้จ่ายเงินสดจะเปลี่ยนไป
ดังนั้น หากธุรกิจของคุณมีทางเลือก เช่น รับเงินสดได้ รับเงินจากคิวอาร์โค้ดได้ มีเครื่องรูดบัตร หรือบัตรเครดิตที่เดี๋ยวนี้ทั้งวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดมีระบบคิวอาร์โค้ดสแกนจ่ายได้เช่นกันกัน ยิ่งคุณมีทางเลือกให้คนสัมผัสเงินได้น้อยเท่าไหร่ในการจ่ายเงิน โอกาสทางธุรกิจของคุณก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ข้อดีที่เห็นง่าย ๆ เลยก็คือ ลูกค้าบางคนที่ไม่นิยมพกเงินสดมาก ๆ หากคุณมีคิวอาร์โค้ด พร้อมเพย์ หรือรับบัตรเครดิต เขาจะจ่ายเงินได้มากกว่าที่พกมาด้วยซ้ำไป ยิ่งเดี๋ยวนี้มีระบบสแกนแล้วจ่ายแบบผ่อนได้ด้วย นอกจากนั้นไม่ต้องคอยบริหารเงินสด ไม่ต้องกลัวถูกโกง เพราะทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้ ผมแนะนำว่าไม่ต้องรอแล้วครับ ลงมือทำเลย