ชื่อนั้นสำคัญไฉน

ชื่อนั้นสำคัญไฉน

วันนี้ยังเป็นเรื่องการเงินอยู่นะคะ ท่านผู้อ่านอาจจะเห็นว่าขึ้นหัวข้อนี้จะมาพูดเรื่องการใช้ภาษาและชื่อต่างๆ

แล้วก็เกี่ยวข้องนิดหน่อย เพราะอยากมาพูดเรื่องชื่อสินค้าทางการเงิน และความเข้าใจของผู้ลงทุนค่ะ

ในโลกการเงินทุกวันนี้ มีหลักทรัพย์และตราสารใหม่ๆ ให้ผู้ลงทุนเลือกลงทุนมากมาย เนื่องจากมีเงินลงทุนในโลกนี้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา และผู้ลงทุนก็เรียกร้องให้มีการออกหลักทรัพย์ที่เหมาะสมกับความต้องการการลงทุนของตนเองผู้ออกแบบหลักทรัพย์หรือตราสารเหล่านั้นก็ออกมาสนอง แต่อาจเรียกชื่อต่างๆ กัน เพื่อให้ดูเก๋ไก๋ ถูกใจผู้ลงทุน  

แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ตาม หากหลักทรัพย์หรือตราสารนั้นมีลักษณะเป็นแบบเดียวกัน ก็จะให้ผลตอบแทนและมีความเสี่ยงในลักษณะเหมือนกัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ลงทุนที่จะศึกษา หรือสอบถาม ให้ได้ข้อมูลว่า สิ่งที่ท่านกำลังจะลงทุนนั้นคืออะไร มีลักษณะอย่างไร ต้องไม่อายที่จะถามนะคะ ไม่ว่าท่านจะมีประสบการณ์ลงทุนมายาวนานเพียงใดก็ตาม เพราะสินค้าอย่างเดียวกัน แต่ละประเทศ แต่ละค่าย ก็เรียกชื่อไม่เหมือนกันค่ะ 

ท่านคงจำกฎการลงทุนข้อที่หนึ่งของดิฉันได้ กฎนั้นบอกว่า ไม่ลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจ เพราะเท่ากับเราก้าวผิดตั้งแต่ก้าวแรก ดังนั้นเวลาท่านเห็นสินค้าหรือบริการทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้น ท่านต้องถามค่ะ ว่าคืออะไร มีลักษณะอย่างไร ที่สำคัญคือ มีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนอย่างไร เมื่อใดที่ลืมถาม หรือท่านคิดเอาเองว่า คงเหมือนกับของเดิมที่เคยลงทุน เมื่อนั้นมักจะเกิดปัญหา เพราะตราสารหรือหลักทรัพย์ของแต่ละบริษัท ยังมีหลายรุ่น และแต่ละรุ่นก็มีข้อกำหนดและองค์ประกอบที่ต่างกันค่ะ

หลายครั้งที่ดิฉันคิดว่า หลักทรัพย์หรือตราสารที่เราอนุมัติให้มีการเสนอขายให้กับผู้ลงทุน ควรจะมีชื่อภาษาไทยที่สะท้อนถึงคุณสมบัติของหลักทรัพย์นั้นๆ ยกตัวอย่าง “Perpetual Bond” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นตราสารที่บริษัทหรือองค์กรผู้ออก ไม่ได้กำหนดอายุ หรือระยะเวลาคืนเงินต้นให้ เพราะฉะนั้น โดยธรรมชาติ ก็จะถือว่าผู้ให้กู้กับบริษัทต้องการอยู่กับบริษัทไปตลอดกาล ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการ กลต. บัญญัติศัพท์ Perpetual Bond ว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ในขณะที่ถ้าแปลตรงตัว เราควรจะเรียกว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร หรือ พันธบัตรชั่วนิรันดร หากรัฐเป็นผู้ออก  

สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ก็ประเภทนี้ จะอยู่ท้ายๆ เลยค่ะ คืออยู่ก่อนเจ้าของกิจการเท่านั้น อธิบายได้ว่า ถ้าหากผู้ออกตราสารเลิกกิจการ ผู้มีสิทธิได้เงินคืนก่อน คือ เจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน และผู้ถือหุ้นกู้มีประกัน หลังจากนั้นจึงเป็น เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน หรือ ผู้ถือ“หุ้นกู้ไม่มีประกัน” ตามมาด้วยผู้ถือ "หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” และถึงจะเป็น “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” หรือ “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร”นี้ กับ “หุ้นบุริมสิทธิ” ตามมาสุดท้ายด้วย “หุ้นทุน” หรือส่วนของเจ้าของค่ะ เจ้าของกิจการจึงรับความเสี่ยงสูงที่สุด แต่ก็ได้รางวัลมากที่สุดด้วย โดยกลุ่มอื่นๆ มักจะได้ผลตอบแทนที่กำหนดไว้คงที่ หากกำไรสูง เจ้าของก็ได้มาก และหากขาดทุน เจ้าของก็ถูกกระทบก่อน เป็นต้น เพราะฉะนั้นผู้ซื้อตราสารประเภทนี้ก็ควรจะได้รับผลตอบแทนที่สูงพอสมควร เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่รับรองลงมาจากเจ้าของ

อย่างไรก็ดี ในการออกเสนอขายตราสารประเภทนี้ ผู้ออกอาจจะขอไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด (ซึ่งไม่มีกำหนด)ได้ แต่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น เฉพาะเมื่อผู้ออกสามารถหาแหล่งเงินสนับสนุนในอัตราที่ต่ำกว่าได้ ซึ่งในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดินในปัจจุบัน โอกาสที่จะมีการไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด เพราะโอกาสที่ดอกเบี้ยในอนาคตที่จะต่ำกว่านี้ในโลกมีน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย

อีกตราสารหนึ่งซึ่งดิฉันคิดว่า ควรจะมีการบัญญัติชื่อใหม่ คือ Structured Note ซึ่งแฟนคอลัมน์อาจจะเคยอ่านบทความของดิฉันเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว เรียก Structured Note ว่า ตราสารจัดโครงสร้าง ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ดิฉันก็ยังยืนยันอยากให้เรียกแบบนี้ แต่ศัพท์บัญญัติของ กลต. เรียก Structured Note ว่า “หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง” 

ตราสารจัดโครงสร้าง มีลักษณะเป็นตราสารที่ออก โดยมีตัวแปรมากกว่าหนึ่ง โดยทั่วไป หากลงทุนในตราสารหนี้ เช่นพันธบัตร หรือหุ้นกู้ ผู้ลงทุนก็จะคาดหวังผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ซึ่งภาษาการเงินเรียกกันว่า Plain Vanilla ที่มาของศัพท์นี้ก็คือ ไอศกรีม ในสมัยก่อน ถ้าไม่ได้ระบุว่ามีรสชาติใด ต้องการพื้นๆ ส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นรสวานิลลาค่ะ ถ้าต้องการแบบอื่นให้มีสีสันก็จะเรียกต่างกันออกไป  

ตราสารแบบพื้นๆ นี้ เมื่อนำมาออกแบบเป็นตราสารจัดโครงสร้าง ผลตอบแทนจะไม่ถูกกำหนดไว้แน่นอนตั้งแต่ต้น  โดยอาจจะมีการอ้างอิงผลตอบแทนกับ ราคาของตราสารหรือหลักทรัพย์บางตัว หรือหลายตัว หรืออิงกับดัชนีอะไรบางอย่าง หรืออิงกับอนุพันธ์ทางการเงินอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ซึ่งตัวที่นำไปอิง อาจมีความผันผวน มีความไม่แน่นอน เช่น อาจให้ผลตอบแทนอิงกับราคาหุ้นบางตัว หรือบางกลุ่ม หรืออาจจะอิงกับอนุพันธ์ และตัวตราสารเองอาจจะเป็นบัตรเงินฝาก หรือตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือสัญญาทางการเงินก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นหุ้นกู้อย่างเดียว และอนุพันธ์ที่แฝง อาจจะเป็นเพียงราคา หรือดัชนีราคา หรืออะไรตรงๆ เลยก็ได้ ตามที่ดิฉันกล่าวถึงไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นอนุพันธ์ด้วยค่ะ  

การบัญญัติชื่อแบบในปัจจุบัน จึงทำให้เกิดความเข้าใจว่า ต้องเป็นตราสารหรือสินทรัพย์ที่มีความซับซ้อน และต้องออกเป็นหุ้นกู้อย่างเดียว

ต้องยอมรับว่า ในโลกการลงทุนปัจจุบันที่มีสภาพคล่องล้นเหลือจากการอัดฉีดเงินของรัฐในเกือบทุกประเทศ เงินไม่มีที่ไปค่ะ แม้จะมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงก็ยังเป็นที่นิยม และคงจะเป็นที่นิยมต่อไปอีกเป็นทศวรรษ จนกว่าอัตราดอกเบี้ยจะกลับขึ้นมาอยู่ในระดับปกติเดิม (แต่ไม่เท่าเดิม) หรือประมาณ 3-4% ต่อปี ผู้ลงทุนจึงต้องเสาะแสวงหาผลตอบแทนให้กับเงินลงทุนของตนเองต่อไป แต่ดิฉันมีคำเตือนเท่านั้นว่า ต้องศึกษาให้เข้าใจ และต้องได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าความเสี่ยง ไม่ใช่เสี่ยงสูงแต่ยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำนะคะ

สำหรับผู้มองหาช่องทางในการลงทุน ดิฉันเชียร์ให้ลงทุนในทองคำตั้งแต่ต้นปี ขอรายงานว่า ครึ่งแรกของปีนี้ ทองคำให้ผลตอบแทนในรูปเงินดอลลาร์ 16.53% ค่ะ หลายๆ ค่ายก็ยังเชียร์ให้ลงทุนในทองคำอยู่นะคะ แต่ถ้าผู้ลงทุนไทยจะลงทุน อยากแนะนำให้ลงทุนในกองทุนทองคำที่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ค่ะ เพราะเงินดอลลาร์น่าจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ และกับเงินของประเทศในเอเชีย ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 

แต่ก่อนที่ผู้ลงทุนจะตัดสินใจลงทุนในตราสาร หรือหลักทรัพย์ใดๆ ควรคำนึงถึง คำเตือนของสำนักงานคณะกรรมการ กลต. ซึ่งได้เตือนไว้ในเว็บให้ความรู้ในการลงทุนว่า อย่าลงทุนโดยดูแค่ผลตอบแทน ศึกษาข้อมูลและพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ และในข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล กลต. ยังมีคำเตือนให้ว่า “สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ถ้าไม่เข้าใจ อย่าลงทุน