วิกฤตโควิด19 กับมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพ
วิกฤตโควิด-19 ได้สร้างบทเรียนสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย คือปัญหาเรื่องสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ
ไม่ใช่เรื่องแยกส่วนกันและโรคระบาดไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคนมีโอกาสได้รับความเสี่ยง ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี บทความนี้จึงชวนไปเจาะลึกถึงความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทย การจัดการกับโควิด-19 ตลอดจนความท้าทายข้างหน้าจากมุมมองเศรษฐศาสตร์สุขภาพ
ระบบสาธารณสุขไทยยึดหลัก“ป้องกันดีกว่ารักษา”
ในปี 2562 รายงาน Global Health Security Index จัดอันดับให้ไทยเป็นที่ 6 ของประเทศที่มีความมั่นคงด้านสาธารณสุขสูงสุดโดยมี 3 องค์ประกอบย่อยที่ติด 5 อันดับแรก คือ การป้องกันโรค การตอบสนองที่เร็ว และระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ล่าสุดองค์กร Global COVID-19 (GCI) จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด-19 สูงสุดอันดับ 2 รองจากออสเตรเลียและยังได้รับคำชมจากWHO และนานาชาติว่ารับมือกับโรคโควิด-19 ได้ดีจากการมีระบบดูแลสุขภาพในระดับครอบครัวที่ดีจากการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่มีอยู่ร่วมล้านคนทั่วประเทศ
ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งเริ่มจัดตั้งกรมสาธารณสุขในปี 2461 ด้วยหลักคิดคือ “ป้องกันดีกว่ารักษา” ซึ่งยังทันสมัย แม้จะผ่านมากว่า 100 ปีโดยมีการวางรากฐานป้องกันโรคอย่างเป็นระบบและสั่งสมความรู้ด้านระบาดวิทยามาจากประสบการณ์ในอดีต อาทิ การควบคุมไข้ทรพิษ อหิวาตกโรคและกาฬโรค การรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อจนปัจจุบันไทยมีบริการวัคซีนพื้นฐานกว่า 10 ชนิดและมีความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนสูงถึง 90% และการควบคุมการแพร่ระบาดของเอชไอวี ได้ดีจนเป็นแบบอย่างระดับโลก โดยปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ คือการมีผู้นำที่ให้ความสำคัญการทำแผนควบคุมโรคแบบบูรณาการ ดำเนินการเชิงรุกผ่านระบบการรักษาที่ครอบคลุมและความร่วมมือจากท้องถิ่นและประชาชน กลไกเหล่านี้ถูกนำมาใช้กับการควบคุมโรคโควิด-19 ในครั้งนี้และได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี
สาธารณสุขไทย : เข้มแข็งครอบคลุมและคุ้มค่า
หากใช้หลักเศรษฐศาสตร์สุขภาพที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขอนามัยของประชาชนพบว่า ไทยลงทุนในงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องราว 10% ของงบประมาณแต่ละปี ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 5.3% ต่อปี การเพิ่มทรัพยากรเข้าไปอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็งใน 3 ด้านหลักได้แก่ (1)โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่เน้นระบบสุขภาพชุมชน สาธารณสุขมูลฐาน และบริการปฐมภูมิ โดยปัจจุบันไทยมีหน่วยบริการทางการแพทย์สังกัด ก.สาธารณสุข กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นแห่ง มีเตียงรองรับผู้ป่วยกว่า 1 แสนเตียง รวมทั้งมีระบบแพทย์ชุมชนและอสม.(ภาพที่ 1)
(2)ความรู้และบุคลากรการแพทย์ ไทยผลิตแพทย์ได้ปีละกว่า 2,800 คน มีโรงเรียนแพทย์ที่มีคุณภาพกว่า 20 แห่ง โดยปี 2561 มีสัดส่วนบุคลากรการแพทย์44 คน ต่อประชากร 10,000 คนแม้จะต่ำกว่าหลายประเทศแต่ยังมีผลค่อนข้างดี(ภาพที่ 2) และ(3)ความครอบคลุม(Coverage)ข้อมูลปี 2562 ชี้ว่าสวัสดิการรักษาพยาบาล 3 ระบบหลัก ได้แก่ สิทธิข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมประชากรถึงเกือบ100% ขณะที่นโยบายด้านหลักประกันยา ก็มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ในราคาที่ถูกลง
ขยับเร็ว เร่งสื่อสาร ปรับตัวร่วมมือและเชื่อมชุมชน
หลังการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ก็มีกลไกควบคุมโรคเชิงรุก ตลอดจนการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)นับว่าทางการไทยยกระดับปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารเชิงรุกผ่านการแถลงของ ศบค.ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางการสื่อสารและเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความตื่นรู้แก่ประชาชน ทำให้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
กลไกถัดมาคือ การปรับตัวและร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ติดตามและเฝ้าระวังภาคประชาชนให้ความร่วมมือในการป้องกันโรคบริษัทเอกชนอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน ร้านค้ามีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงก่อนเข้ารับบริการ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ปรับตัวด้วยการออกแบบระบบคัดกรองผู้ป่วย มีบริการจัดส่งยาไปที่บ้าน กลไกสุดท้ายที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดในระดับท้องถิ่นคือการมีระบบแพทย์ชุมชนและอสม.โดยทีมแพทย์และพยาบาลลงพื้นที่ให้ความรู้กับชุมชน และมีการออกแบบระบบสาธารณสุขชุมชน ขณะที่ อสม.ประจําหมู่บ้านมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารกับชุมชนอย่างใกล้ชิดทั้งการสำรวจ ระบุผู้ป่วยที่ต้องสงสัย ตลอดจนการติดตามและกักตัวผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
ความท้าทายและโอกาสของสาธารณสุขไทยหลังโควิด19
สถานการณ์ที่ผ่านมาถือเป็นบททดสอบสำคัญที่ช่วยถอดบทเรียนให้สังคมไทย เช่น (1)การวางระบบจัดสรรทรัพยากรการแพทย์ให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนและการกักตุนเพื่อเก็งกำไร (2) การเร่งพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล ต่อยอดจากช่วงการแพร่ระบาดที่สถิติการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลลดลงมาก และจัดส่งยาไปที่บ้านผู้ป่วยแทน และ(3) การลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยให้มากขึ้น
ท้ายที่สุด ในวิกฤติยังมีโอกาส ภาคธุรกิจไทยควรใช้ความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขและการท่องเที่ยวสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยการต่อยอดเทรนด์ Wellness Tourism ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในหลายด้านผู้ประกอบการต้องสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ ด้านภาครัฐควรให้การสนับสนุนผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น ภาษี หรือ Travel Bubble เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ทั้งจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
[ บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ]