หลัง COVID-19 ต้องแตกต่างอย่างโดดเด่น
เพื่อเตรียมพร้อมองค์กรให้เผชิญหน้ากับทุกวิกฤติและความท้าทายใหม่ เราสามารถทำได้ด้วยการตั้งคำถามตามเกณฑ์ Performance Excellence Framework
ผู้บริหารองค์กรต้องร่วมกันพิจารณา ตามหมวดต่างๆ ดังนี้
หมวด 1 : ภาวะผู้นำและการเปลี่ยนแปลง สร้างสมดุลใหม่ให้กับธุรกิจที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และก่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ผู้นำจะต้องกำหนดทิศทางและเป้าหมายขยายออกไปรอบทิศ พิจารณารอบด้านถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ตัวอย่างคำถาม (1) วิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมองค์กรต้องปรับไหม (2) ภาวะผู้นำแบบใหม่ที่จำเป็นคืออะไร (3) กลไกการสื่อสารและสร้างความผูกพันเพื่อให้บุคลากรเห็นความจำเป็นและร่วมมือกันปรับโฉมองค์กรจะทำกันอย่างไร (4) มีความเสี่ยงใหม่ๆที่ต้องเตรียมรับมืออะไรบ้าง
หมวด 2 : กลยุทธ์และรูปแบบธุรกิจ ควรมองไกลไปในอนาคต ประมวลทุกเหตุการณ์ที่อาจเป็นไปได้จากทั้งแนวโน้ม (Trend) และความไม่แน่นอน (Uncertainty) โดยสร้างภาพในอนาคตถึงทางเลือกทางรอดไว้ในหลายๆทางที่เรียกว่า ฉากทัศน์ (Scenario) เพื่อเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้า แต่สรุปให้ได้ว่าจะไปทางเลือกใดที่เหมาะสมและตรงกับวิสัยทัศน์มากที่สุด จากนั้นนำมากำหนดจุดมุ่งเน้นทางธุรกิจให้ชัด อาจไม่จำเป็นต้องทำมากหลากหลาย แต่ต้องเก่งเฉพาะด้าน เชี่ยวชาญเฉพาะอย่าง สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ลูกค้าได้จริง ตัวอย่างคำถาม (1) กลยุทธ์ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมีอะไรบ้าง (2) รูปแบบการทำธุรกิจในอนาคต (Business Model) ควรเป็นอย่างไร (3) ระบบงานและโครงสร้างองค์กรแบบใด ที่ตอบสนองและรองรับกับอนาคต (4) มีโอกาสเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญอะไรบ้าง (5) นวัตกรรมใหม่ๆที่น่าลงทุนมีอะไรบ้าง (6) แผนงานระยะสั้นและยาวที่จำเป็นคืออะไร (7) สมรรถนะหลักใหม่ที่ต้องเร่งสร้างคืออะไร (8) พันธมิตรกลุ่มใหม่ที่ต้องรีบจับไม้จับมือคือใคร
หมวด 3 : ลูกค้าและตลาด แบ่งหน่วยธุรกิจใหม่ เปลี่ยนจาก Function-based (ตามลักษณะงาน) ที่เป็นฝ่ายและแผนกในแนวดิ่ง (Silo) มาให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นกระบวนการแบบข้ามสายงานในแนวราบ (Cross-functional) และมุ่งเน้นที่ทักษะความสามารถ Knowledge-based บูรณาการความเชี่ยวชาญชำนาญของคนในองค์กร เพื่อผลักดันสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาด สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในแต่ละกลุ่มงาน ตัวอย่างคำถาม (1) ลูกค้าและตลาดกลุ่มใหม่คือใคร (2) ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าคืออะไร (3) อะไรคือนวัตกรรมที่ต้องทำให้เกิดขึ้น (4) รูปแบบการทำตลาดและสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร (5) จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆอะไรที่ทันสมัยมาช่วย
หมวด 4 : การวัดและวิเคราะห์ข้อมูล เพราะถ้าเราไม่วัด เราก็ไม่รู้(สถานะ) และเมื่อเราไม่รู้เราก็ไม่สามารถบริหารจัดการให้ดีขึ้นได้ ตัวอย่างคำถาม (1) ระบบวัดผลต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง (2) เราจะติดตามความคืบหน้าของการปรับโฉมองค์กรอย่างไร (3) ความรู้ใหม่อะไรบ้างที่จำเป็นเพื่อรองรับอนาคต (4) เทคโนโลยีสารสนเทศอะไรบ้างที่ต้องปรับปรุงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
หมวด 5 : บุคลากร จัดกระบวนทัพ ปรับโครงสร้างองค์กร ลดกำลังคนในหน่วยงานสนับสนุนให้เล็กแต่กระชับด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ และโยกย้ายกำลังคนบางส่วนไปเสริมทัพหน่วยธุรกิจใหม่ในการสร้างรายได้ ด้วยการยกระดับต่อยอดความสามารถเดิม (Up-skill) ให้สูงขึ้น และเสริมเติมขีดความสามารถใหม่ (Re-skill) ให้หน่วยงานด้านสนับสนุนที่โยกย้ายไป ตัวอย่างคำถาม (1) ความรู้ ความสามารถ และอัตรากำลังคนที่จำเป็นเพื่อรองรับอนาคตคืออะไร (2) โครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมควรเป็นแบบใด (3) รูปแบบการว่าจ้างและการบริหารจัดการบุคลากรต้องเปลี่ยนไหม (4) วัฒนธรรมองค์กรใหม่ควรเป็นอย่างไร (5) ระบบประเมินผลการปฏิบัติงานต้องปรับเปลี่ยนไหม (6) ต้องพัฒนาผู้นำและบุคลากรเพิ่มเติมอะไรบ้าง (7) เราจะจัดการการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรอย่างไร
หมวด 6 : กระบวนการ สร้างเครือข่ายและขยายพันธมิตรทางธุรกิจ ในด้านที่องค์กรไม่มีความชำนาญและประสบการณ์มาก่อน แต่เอื้อให้การผลิตสินค้าและบริการในยุคใหม่มีความแข็งแรง และครบวงจรมากขึ้น ทั้งนี้ไม่ควรดำเนินการตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังต้องพิจารณาสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ประเมินความเป็นไปได้ เลือกลงทุนในสิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่อย่างก้าวกระโดดควบคู่พร้อมกันไปด้วย ตัวอย่างคำถาม (1) กระบวนการทำงานต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง (2) จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆช่วยในการควบคุมกระบวนการอะไรได้บ้าง (3) จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้ทันกับการแข่งขันอย่างไร (4) จะบริหารพันธมิตรและผู้ส่งมอบกลุ่มใหม่ๆเพื่อสนับสนุนความสำเร็จและช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆอย่างไร (5) ภาวะฉุกเฉินรูปแบบใหม่ๆที่ต้องเผชิญคืออะไร จะรับมืออย่างไร
หมวด 7 : ผลลัพธ์ นอกจากต้องมีตัวชี้วัด (KPIs) ในระดับองค์กรแล้วจำเป็นต้องถ่ายทอดลงมายังหน่วยธุรกิจต่างๆ ในระดับกระบวนการ และถ้าเป็นไปได้ในองค์กรที่มีความพร้อมควรลงไปถึงระดับตำแหน่งงาน และอาจส่งเสริม Passion ให้ทุกคนผ่าน (OKRs – Objective and Key Results) ตัวอย่างคำถาม (1) ตัววัดสำคัญที่ต้องปรับเปลี่ยนคืออะไร (2) เป้าหมายคืออะไร (3) คู่เทียบใหม่คือใคร (4) จะติดตามผลลัพธ์กันอย่างไร