ESG ดีจริงหรือ?

ESG ดีจริงหรือ?

กระแสความตื่นตัวในเรื่องของ ESG (Environment, Social, Governance) หรือ สิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล ในประเทศไทยนั้นมีมาหลายปีพอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่จดทะเบียน ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีการเผยแพร่ข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย สำหรับนักลงทุน โดยเผยแพร่ข้อมูล ESG Information ในเว็บ settrade.com ประกอบกับการลงทุนของกองทุนและนักลงทุนสถาบันในหุ้นที่มีผลการประเมินคะแนน ESG ที่ดี ก็เป็นกระแสที่เกิดขึ้นมานานแล้วทั่วโลก และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย

คำถามที่อาจจะอยู่ในใจของหลายๆ คนที่ไม่ได้คุ้นเคยกับเรื่องของ ESG มากนักก็คือ การที่บริษัทให้ความสนใจและสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาลนั้น จะทำให้บริษัทมีผลการดำเนินงานดีขึ้น และกำไรที่ดีขึ้น จริงหรือ?

ในทางวิชาการนั้น ได้มีการศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างผลประกอบการ กับการให้ความสำคัญในด้านความยั่งยืนมาอย่างยาวนาน มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกว่า 2 พันชิ้น และได้มีการนำงานทั้ง 2 พันชิ้นมาศึกษาและพบว่า 62% ของงานทั้ง 2 พันกว่าชิ้น ได้ค้นพบว่า ESG มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับผลการดำเนินงานด้านการเงินของบริษัท ขณะที่มีเพียง 10% ที่ปัจจัยทั้ง 2 ประการเป็นผลในเชิงลบต่อกัน โดยส่วนที่เหลือพบว่าไม่ส่งผลต่อกัน

ในมุมมองการบริหารจัดการนั้น ผู้บริหารในบริษัทที่ให้ความสนใจด้าน ESG จะมีความเชื่อว่า ESG ที่ดีจะส่งผลทำให้ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของบริษัทออกมาดี ทำให้สามารถดึงดูดและรักษาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถให้มาทำงานกับบริษัทได้ อีกทั้ง ESG ที่ดีจะเป็นตัวสะท้อนถึงการบริหารจัดการที่ดีภายในองค์กรด้วย

ล่าสุดมีบทความจาก McKinsey ที่พยายามกำหนดกรอบให้ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า ESG จะดีต่อบริษัทอย่างไร โดยระบุออกมาเป็น 5 แนวทางหลักๆ ได้แก่ 1) เพิ่มรายได้ เนื่องจาก ESG ส่งผลต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ ทำให้บริษัทมีโอกาสในการขยายเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งลูกค้าในยุคปัจจุบันก็จะสนใจต่อบริษัทที่ทำดีมากขึ้น 2) ลดต้นทุน โดยการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (ตัว E) ก็จะส่งผลโดยตรงกับต้นทุนการดำเนินงานของบริษัท

3) ลดความเสี่ยงในการทำผิดต่อกฎระเบียบของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยกำกับต่างๆ เนื่องจากบริษัทเน้นในเรื่องของบรรษัทภิบาล (ตัว G) 4) สามารถดึงดูด รักษาและทำให้พนักงานมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานมากขึ้น เนื่องจากบริษัทมี Purpose ที่ชัดเจนและเพื่อสังคม 5) ช่วยทำให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้น เนื่องจากจะมุ่งเน้นในการลงทุนในโอกาสและโครงการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืนและอนาคต ซึ่งถือเป็นโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ในปัจจุบัน

ในด้านการลงทุนนั้น หุ้นของบริษัทที่มี ESG ในระดับที่สูง ก็จะได้รับความสนใจจากทั้งบรรดากองทุนและนักลงทุนต่างๆ โดยสาเหตุสำคัญที่นักลงทุนให้ความสนใจกับหุ้น ESG มากขึ้น นอกเหนือจากความเชื่อว่า ESG ส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจตามผลการวิจัยต่างๆ ที่ออกมาแล้ว นักลงทุนบางส่วนยังมีความเชื่อว่าตนเองก็สามารถเป็นกำลังส่วนหนึ่งในการทำสิ่งดีๆ ให้กับโลก สังคม ชุมชน โดยการจัดสรรทุนไปลงทุนในบริษัทที่ทำดีต่อโลก สังคมและชุมชน

อย่างไรก็ดี เรื่องของ ESG ก็ยังมีความท้าทายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของนิยามและมาตรฐานที่ยังไม่ได้เป็นมาตรฐานสากลที่เป็นหนึ่งเดียว ทำให้ยังสามารถตีความ ESG ที่แตกต่างกันได้ เช่นในเนื้อหาข้างต้นจะระบุถึงบริษัทที่มี ESG ที่ดี แต่คำถามสำคัญคือจะทราบได้อย่างไร? ถึงแม้ปัจจุบันจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้คะแนน ESG เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จากนิยามและมาตรฐานที่หลากหลาย ทำให้ยังมีความแตกต่างระหว่างกันที่ชัดเจน ในวิธีการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ หรือ แม้กระทั่งการรายงานผล

อย่างไรก็ดี ESG เป็นสิ่งที่ดีและควรสนับสนุนให้ไม่เพียงแต่ผู้บริหารองค์กรที่จดทะเบียนและนักลงทุนเท่านั้นที่ตระหนักถึงความสำคัญ​ แต่ประชาชนทั่วไปและผู้บริโภคก็ควรจะตระหนักและรับรู้ถึงความสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน